วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

เทคนิคการออมเงินในแต่ละช่วงวัยจนถึงวัยเกษียณ ออมยังไงให้มีความสุข

03 ก.ค. 2017
2505

 

ตามตำราการวางแผนเพื่อวัยเกษียณหลายเล่ม แนะนำตรงกันว่าจำนวนเงินที่พอเหมาะสำหรับใช้จ่ายช่วงวัยเกษียณอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70 ของรายได้เฉลี่ยก่อนเกษียณ ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะทำให้ชีวิตหลังเกษียณไม่แตกต่างจากชีวิตก่อนเกษียณเท่าไรนัก แต่เมื่อนำตัวเลขดังกล่าวมาคูณจำนวนปีที่จะมีชีวิตอยู่ต่อหลังเกษียณก็จะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ ที่ต้องมีการเก็บออมกันตั้งแต่วัยเริ่มต้นทำงาน

 

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคนส่วนใหญ่ เริ่มนึกถึงการเก็บออมเพื่อชีวิตหลังเกษียณก็เมื่ออายุล่วงเลยเข้าสู่ช่วงใกล้เกษียณเต็มทีแล้ว

จึงทำให้เป้าหมายในการออมเงินก้อนใหญ่ไว้ใช้หลังเกษียณกลายเป็นเรื่องยาก เพราะจำนวนเงินที่ต้องเก็บไว้สำหรับการออม บางครั้งเป็นตัวเลขที่สูงยิ่งกว่ารายได้ในแต่ละเดือนด้วยซ้ำไป การออมที่ไม่เป็นระเบียบจะมาเบียดบังความสุขในชีวิตปัจจุบัน จึงทำให้ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้ตามกำหนด ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนเพื่อให้เงินทำงานแทนคุณ ซึ่งจะเป็นอีกแรงที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเงินออมให้งอกเงยได้

 

การออมเป็นสัดส่วนการลงทุนที่ไม่ทำให้การออมเป็นภาระหนักเกินไป จากนั้นให้มองหาแหล่งเงินทุนที่จะช่วยเพิ่มค่าเงินออมของคุณ โดยจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตและภาระการใช้จ่ายในปัจจุบันโดยจะแบ่งออกเป็น 5 ส่วนดังนี้

 

  1. ออมเงินในระบบการออมเพื่อวัยเกษียณซึ่งจะได้รับผลประโยชน์จากการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลและนายจ้าง เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่จะมีผลประโยชน์ให้นำเงินทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้
  1. ลงทุนในหุ้นซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย ดังนั้นหากคุณไม่มีความชำนาญพอ ควรเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมจะปลอดภัยกว่า
  1. ลงทุนในแหล่งเงินทุนที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยพิจารณาให้ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าตัวเลขเงินเฟ้อ หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมบางประเภท เช่นกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาวหรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นต้น
  1. ลงทุนในหลักทรัพย์ประกันต่างๆ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันรายได้ และประกันการว่างงาน เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ประกันเหล่านี้จะช่วยให้คุณไม่ต้องรบกวนเงินออม
  1. เก็บเงินไว้ในธนาคาร พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น และตราสารทางการเงินต่างๆ เพื่อสร้างสภาพคล่องเผื่อไว้ในกรณีเกิดเหตุจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉินขึ้นมา

 

รูปแบบการลงทุนที่เหมาะในแต่ละช่วงวัย

ให้พิจารณาถึงความสามารถในการหารายได้เป็นหลัก จากนั้นจึงนำเรื่องค่าใช้จ่ายปัจจุบัน ความถนัดในการลงทุน มาเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจ ซึ่งโดยหลักแล้ว รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่อายุน้อยก็จะสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนเพื่อแลกกับโอกาสรับผลตอบแทนสูงได้มากกว่าผู้ที่มีอายุมากแล้วเช่น

  • ช่วงอายุ 25 ถึง 35 ปี เป็นวัยเริ่มต้นทำงานจนถึงเริ่มต้นมีชีวิตคู่ ซึ่งยังไม่มีภาระอะไรมากนัก ทั้งความสามารถในการหารายได้สูงแบกรับความเสี่ยงได้มาก ควรลงทุนในหุ้น 75% ตราสารหนี้ 25% เพื่อให้เงินออมมีขีดความสามารถในการเพิ่มมูลค่าสูงสุด
  • ช่วงอายุ 36 ถึง 45 ปี ความสามารถในการหารายได้สูงสุด แต่แบกรับความเสี่ยงได้น้อย เพราะภาระการเลี้ยงดูบุตรและการสร้างครอบครัว ควรลงทุนในหุ้น 55% ตราสารหนี้ 45%
  • ช่วงอายุ 46 ถึง 55 ปี ภาระค่าใช้จ่ายเริ่มลดลง แต่ความสามารถในการหารายได้ก็ลดน้อยถอยลงตามไปด้วย ควรลงทุนในหุ้น 35% และตราสารหนี้ 65%
  • ช่วงอายุ 55 ปีขึ้นไป ความสามารถในการหารายได้ลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ จึงควรลงทุนในหุ้นน้อยลง เช่น ไม่เกิน 25% ส่วนที่เหลือก็ไปลงทุนในตราสารหนี้ 75%

 

แม้อยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่สามารถหารายได้ได้ด้วยตนเองเลย เพราะถึงแม้คุณจะไม่มีเรี่ยวแรงในการทำงานแต่เงินออมที่มีอยู่ยังสามารถทำงานแทนคุณได้ การแบ่งส่วนเงินออมไปลงทุนในแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง จะทำให้คุณยังคงมีรายได้อยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น เลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีเงินปันผลจ่ายทุกปี และกระจายการลงทุนไปในทุกภาคส่วนธุรกิจ