ทารกถูกสัมผัสห่อหุ้มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หลังจากคลอดแล้ววัฒนธรรมการเลี้ยงลูกของหลายๆประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าหรือในสังคมทั่วไปแม่กับลูกอ่อนก็ไม่ค่อยถูกแยกออกจากกัน เราจะเห็นแม่กระเตงลูกด้วยการนำผ้าคาดติดกับตัว พร้อมๆ กับทำภารกิจต่างๆไปด้วย ไม่ว่าจะเตรียมอาหาร การทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวัน กระทั่งนอนด้วยกัน ลูกจะเคลื่อนไหวไปพร้อมๆ กับแม่ได้ยินเสียงแม่แห่กล่อมหรือการสั่นของเสียงที่เกิดขึ้น เนื่องจากอยู่ชิดกับตัวแม่ หากทารกหิวก็สามารถดูดนมแม่ได้ทันที เมื่อเขาโตขึ้นอีกหน่อยแม่ก็เอาเข้าเอวหรือส่งต่อให้พี่สาวอุ้มหรือแบกขึ้นรถขึ้นหลัง ในวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกแบบนี้พบว่าเด็กร้องไห้น้อยกว่ามีความเครียดและอารมณ์หงุดหงิดน้อย
ในขณะที่ความเชื่อในการเลี้ยงลูกของสังคมสมัยใหม่ กลับสร้างระยะห่างให้แก่ความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการแยกลูกที่พึ่งคลอดไปอยู่ในห้องเด็กอ่อน โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันการติดเชื้อ การให้พยาบาลมาดูแลโดยอ้างว่าเป็นมืออาชีพ แต่นั่นเป็นการตอกย้ำว่าแม่ไม่มีความสามารถเพียงพอ ทำให้แม่ขาดความมั่นใจ แล้วจึงให้นมขวดแกทารก โดยอ้างว่าแม่ยังมีน้ำนมไม่เพียงพอ นั่นก็ยิ่งทำให้ลูกขาดโอกาสสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดโดยการดูดนมจากอกแม่
การปล่อยให้เด็กนอนบนที่นอนแบบราบ ไม่ได้เคลื่อนไหวในห้องที่เงียบสงบ ยามเขาตื่นก็ได้แต่นั่งในที่เด็กนั่งที่มีสายรัดแน่นหนาติดอยู่กับที่ แทบจะเรียกว่าเด็กไม่มีโอกาสได้รับการสัมผัสเลยการทำเช่นนี้ถือว่าขัดต่อหลักการการเลี้ยงทารกที่ถูกต้องเช่นกัน ที่ว่าการเยียวยาที่ดีที่สุดเมื่อเจ็บปวดหดหู่หรือเวลาที่อ่อนแอคืออ้อมกอดของแม่ ฉะนั้นอยากจะเตือนบรรดาพ่อแม่ทั้งหลายที่ไม่มีเวลาสัมผัสใกล้ชิดลูกว่า สิ่งเหล่านี้อาจสร้างผลเสียให้ลูกได้ การสัมผัสช่วยให้สมองหลั่งฮอร์โมนหลายชนิด ช่วยให้เด็กคลายเครียดมีความสุขและลดความเจ็บปวด ยกตัวอย่างเด็กที่ถูกอุ้มสัมผัสเนื้อแนบเนื้อจากแม่ เวลาที่ต้องเจาะเลือดเด็กจะร้องไห้น้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้ถูกอุ้มอย่างเห็นได้ชัด หากเด็กคลอดก่อนกำหนดได้รับการสัมผัสใกล้ชิดทุกวันเด็กจะโตและแข็งแรงขึ้น
การสัมผัสทันทีหลังคลอด
ภาพที่แม่ได้เจอลูกครั้งแรกหลังคลอด ช่างเป็นภาพที่งดงามสายตาของแม่ที่มองลูกและค่อยๆ สัมผัส แขน ขา ลำตัว และใบหน้าของลูกด้วยนิ้วมือของแม่ สร้างความซาบซึ้งให้ผู้เป็นแม่มากเพียงใด ลูกก็สัมผัสกับความอบอุ่นนั้นได้เช่นกัน การที่แม่ได้สัมผัสลูกทันทีหลังคลอด จะสร้างความสัมพันธ์กับลูกได้ง่ายขึ้นและลูกจะตอบสนองกับแม่ได้ดีกว่าแม่ที่ไม่ได้สัมผัสกับลูกทันทีหลังคลอด ซึ่งเป็นการศึกษาของกุมารแพทย์ 2 ท่านคือนายแพทย์จอห์น เคนเนล และนายแพทย์มาแชล เคลาส์ ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ความผูกพัน ” ว่าเป็นสายโยงผูกพันระหว่างพ่อแม่ที่มีต่อลูก ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ การวิจัยของหมอทั้งคู่ทำให้โรงพยาบาลเกือบทุกแห่งหันมาสนับสนุนการให้แม่ลูกได้มีโอกาสอยู่ด้วยกันตลอดเวลาในห้องเดียวกันตั้งแต่หลังคลอด โรงพยาบาลบางแห่งยังเปิดโอกาสให้ทารกที่แข็งแรงได้อยู่บนหน้าอกแม่ หลายครั้งพบว่าทารกจะเริ่มต้นดูดนมแม่ได้เอง
ทว่ายังมีคนหลายคนเข้าใจไม่ถูกต้องนักกับคำว่าความผูกพัน ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลมากมาย ทั้งพ่อแม่หรือแม้แต่หมอ บางท่านที่คิดว่าความผูกพันจะเกิดขึ้นในช่วง 24 หรือ 48 ชั่วโมงแรกเท่านั้น ซึ่งไม่จริงเลย ความผูกพันต้องใช้เวลาและไม่มีเส้นตายแน่ชัด พ่อแม่บุญธรรมเกิดความผูกพันกับลูกที่รับมาเลี้ยงได้ทุกช่วงอายุ ความผูกพันเป็นเรื่องของความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างมั่นคงซึ่งกันและกัน ความผูกพันธ์เกิดขึ้นได้แม้บุคคลทั้งสองฝ่ายจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน อย่างเด็กคลอดก่อนกำหนดที่ต้องนอนอยู่ในตู้อบนานเป็นเดือน แต่พ่อแม่ก็ยังสร้างความผูกพันผ่านตู้อบได้
พ่อแม่ยุคใหม่ที่ต้องการเรียนแบบวิธีการเลี้ยงดูทารกแบบธรรมชาติเพื่อสร้างความผูกพันแน่นแฟ้นมีข้อแนะนำดังนี้
- เลือกโรงพยาบาลที่สนับสนุนการคลอดเองและการให้ลูกได้อยู่กับแม่ตลอดเวลาในห้องเดียวกัน
- การนำลูกมาอยู่กับแม่ตลอดเวลาอาจทำได้ยาก พ่อแม่ควรได้อุ้มลูกทันทีและมีเวลาอยู่ด้วยกันสัก 1 ชั่วโมง
- หมอพยาบาลและครอบครัวควรสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- หลีกเลี่ยงการให้ขวดนม ยกเว้นมีความจำเป็นจริงๆ
- ใช้ผ้าคาดเอวหรือเป้สะพายเด็กขณะที่ต้องทำงานอื่นไปด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้านดีกว่าวางลูกไว้ในที่นั่งสำหรับทารก
ความผูกพันและการที่แม่กลับไปทำงานเร็วเกินไป
การให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกหลังคลอด ทำให้หลายประเทศกำหนดไว้ในกฎหมายแรงงานให้แม่สามารถลาคลอดได้สั้นบ้างยาวบ้าง แต่แม่ที่ให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานและความก้าวหน้าทางอาชีพอาจทำให้พวกเธอเลือกที่จะรอแค่ช่วงสั้นๆ ความกังวลที่ตามมาคือจะหาผู้ช่วยที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย การตัดสินใจกลับไปทำงานคือการละทิ้งโอกาสทองที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกหรือเปล่ามันจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกหรือไม่
การหาพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลลูก ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลดน้อยลง การดูแลเอาใจใส่ให้ความรักที่ทำหน้าที่นี้ ในตอนเช้า กลางวัน หรือ กลางคืน วันหยุดสุดสัปดาห์นั้น มากเพียงพอแน่นอน แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือ แม่บางคนเลือกระยะห่างกับลูกเพราะกลัวไปล่วงหน้าว่า เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับไปทำงานจะทนรับความรู้สึกเสียใจที่ต้องแยกจากลูกไม่ได้ การทำเช่นนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกได้ ขณะที่พ่ออาจจะมีความรู้สึกเครียดจากการแยกจากลูกน้อยกว่า
คำแนะนำคือ หากรู้สึกเครียดที่ต้องกลับไปทำงาน ขอให้คุณได้ฟังเสียงหัวใจของตัวเอง เช่น รู้สึกยังไม่พร้อมหากยืดเวลาการลาคลอดเพิ่มขึ้น แม้ต้องแลกกับการสูญเสียรายได้และความก้าวหน้าของหน้าที่การงาน แต่มีความสุขที่ได้อยู่กับลูกมากขึ้นก็ควรทำ ซึ่งการลาคลอดเป็นระยะเวลา 4 เดือนนั้น ส่วนใหญ่แล้วแม่มักพร้อมที่จะกลับไปทำงาน เพราะการดูแลลูกเริ่มง่ายขึ้นและแม่เองจะเริ่มคิดถึงชีวิตการทำงานอยากกลับไปทำงานอย่างที่เคยเป็น
ที่มาและการอ้างอิง
ดร.สป๊อก-นายแพทย์เบนจามิน สป๊อก (เขียน).แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ (แปล).คำภีร์เลี้ยงลูก (30-32).กรุงเทพ.อมรินทร์สุขภาพ.2552.