แคปชั่น คำคม ภาษาอังกฤษ เพื่อน ความรัก คิดบวก ฮวงจุ้ยบ้าน

เรื่องจริง ฟ้องหย่าเพราะ “บ้าเน็ต”

โฟโม หรือ FOMO เป็นคำย่อของกลุ่มอาการ Fear of Missing Out หมายถึงกลุ่มอาการที่กลัวจะตกข่าว เป็นคนไม่สำคัญ กลัวไม่มีใครคิดถึง จึงต้องเข้ามาอัพเดทสถานะของคนรอบข้างในโซเซียลมีเดียวตลอดเวลา รวมถึงไม่สามารถยับยั้งใจได้ตัวเองไม่หยิบอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือแท็บแล็ตขึ้นมา เพื่อเช็คเรื่องราวใน social ได้

 

 

การค้นพบ FOMO เป็นผลมาจากการศึกษาวิจัยของ ดร.แอนดรูว์ ไพรซ์บิล์ส วิทยาการด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเอสเซ็กซ์ ประเทศอังกฤษ เขาพบว่าพวก FOMO มักจะรู้สึกแย่ต่อตนเอง เพราะเกิดความกังวลและกลัวที่จะรู้ว่า คนอื่นจะได้รู้อะไรหรือมีประสบการณ์พิเศษอะไรที่ตนเองไม่ได้รับรู้ หรือที่เราเรียกกันว่า “กลัวตกข่าว”

 

เขายังพบอีกว่า FOMO จะเกิดขึ้นอย่างมากในกลุ่มคนหนุ่มสาวและสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อาการโฟโม มักจะทำให้คนหันมาใช้โซเชียลมิเดียในขณะที่ควรจะมุ่งความสนใจในกิจกรรมอย่างอื่นที่กำลังทำอยู่ เช่น การขับรถ การทำงาน การฟังการบรรยายในห้องเรียน หรือแม้แต่ละเลยการสนทนากับคนอื่น ๆ ที่อยู่ตรงหน้า

 

ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ หรือ “คุณหมอวิทยา” จิตแพทย์คนดังได้เขียนไว้ใน “โลกและชีวิต” เกี่ยวกับโฟโมว่า ขณะนี้คนในสังคมยุคใหม่จำนวนมากกำลังมีอาการกลุ่มอาการนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่หมกมุ่นและ “ติด” การใช้เครื่องมือสือสารสมัยใหม่ทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เช่น การเล่น facebook twitter line ยิ่งเล่นก็ยิ่งติด ยิ่งติดก็ยิ่งเล่น

 

ที่เพราะเป็นเช่นนี้ เพราะพวกเขาสร้างโลกส่วนตัวของเขาเองว่าเขาสามารถมีเพื่อนได้มากในเวลาเพียงน้อยนิด เขามีความสามารถมีความสำคัญที่ในการแสดความคิดเห็นอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ที่สำคัญคือมีคนอ่านสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาเขียนลงไป และหากมีคนมาแสดงความคิดเห็น like และ share ให้ ก็ยิ่งเป็นการสร้างความรู้สึกภูมิใจขึ้นมาอีกเป็นเท่าตัว

 

 

คุณหมอวิทยาได้เล่าถึงสามีคนหนึ่งที่มาปรึกษากับท่านว่า

ภรรยาของเขา (อายุ 36 ปี) ติดการเล่นอินเทอร์เน็ตมาก โดยเฉพาะการใช้ social ต่าง ๆ เธอเล่นแทบจะตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืนเพราะเธอเป็นแม่บ้าน ไม่ได้ทำงานประจำ สามีอยากคุยด้วยเธอก็ไม่อยากพูด้วย บางครั้งที่เธอออกไปตามศูนย์การค้ากับสามี เธอจะเดินยิ้มคนเดียว หัวเราะคนเดียว เพราะคงกำลังคิดถึง comment ต่าง ๆ ที่ได้สื่อสารกับคนใน social เธอจะทักทายกับคนแปลกหน้าได้สบาย ๆ แต่แค่สั้น ๆ เช่น “สวัสดีค่ะ สบายดีไหมคะ” ซึ่งบางคนก็ทักตอบ บางคนก็ทำหน้าแปลก ๆ เวลาอยู่กับสามี เธอจะแยกตัวไปอยู่กับอินเทอร์เน็ตและมักจะมีอารมณ์ฉุนเฉียวไม่อยากพูดคุยกับใคร ๆ ซึ่งสามีกังวลว่าเธอจะเป็นบ้าหรือเปล่า แต่ทั้งนี้เธอก็ยังคุยกันคนอื่นได้รู้เรื่อง

 

คุณหมอได้คำปรึกษาไปว่า ถ้าปล่อยเธอไว้ก็อาจเป็นบ้าหรือป่วยทางจิตได้ เพราะเธอเริ่มแยกโลกส่วนตัวแล้ว และไม่อยากอยู่ในโลกของความเป็นจริง เธอรู้สึกว่าโลกส่วนตัวทำให้รู้สึกสนุก รู้สึกมีค่า และทันต่อเหตุการณ์ ทันสมัย ในขณะที่โลกแห่งความจริงเต็มไปด้วยความน่าเบื่อ และเธอไม่รู้สึกสนุก เธอกลัวว่าจะไม่มีความสำคัญ ไม่มีคนคิดถึง เธอจึงเล่นและติดอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพราะสามารถทำให้เธอรู้สึกได้ว่าเธออยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายที่พร้อมจะพูดคุยสั้น ๆ ด้วยกันได้ เพราะต่างก็มีอาการโฟโมด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ เธอจึงไม่สนใจที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนในโลกความเป็นจริง

 

ผลที่ตามมาคือพวกโฟโมมักจะมีสมาธิสั้น อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าไม่ได้เล่นอินเทอร์เน็ตมักจะหงุดหงิดง่าย หลายคนมีความวิตกกังวลกลัวการสูญเสียข่าวสารและการติดต่อกับผู้อื่น บางคนก็เป็นโรคซึมเศร้า โกรธง่าย และความความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงอีกหลาย ๆ คนมีผลเสียไปถึงที่ทำงาน ทำให้ทำงานไม่ได้ผลดี เข้ากับผู้คนรอบข้างไม่ได้เท่าที่ควร แต่กลับรอคอยที่จะติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์กับโลกส่วนตัวผ่านทาง social

 

สำนักข่าว “เจ้อเจียงไจ้เซี่ยน” รายงานข่าวจากเมืองหนิงป๋อประเทศจีนว่า หนุ่มวัย 29 ปี ยื่นฟ้องต่อศาลประชาชนกลางในเมืองป๋อ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเจ้อเจียง เพื่อขอหย่าขาดจากภรรยาวัย 26 ปี หลังจากที่เธอเอาแต่อยู่หน้าจอโทรศัพท์ไม่สนใจเขาเท่าที่ควร ขณะที่ทั้งคู่ยังแต่งงานกันได้ไม่ถึงปีด้วยซ้ำไป

 

หนุ่มวัย 29 ปี กล่าวว่า ชีวิตคู่ของพวกเขามีมือที่สามเข้ามาแทรกกลางความสัมพันธ์ และสิ่งนั้นไม่ใช่มนุษย์ แต่มันคือโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้เธอสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีสามีแต่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต เธอเอาแต่อยู่กับหน้าจอโทรศัพท์จนไม่ทำงางานบ้าน ไม่ทำอาหาร ตลอดจนงานอื่น ๆ ที่ภรรยาควรทำ

 

แต่อย่างไรก็ตาม ศาลไม่รับฟ้องคดีนี้ เนื่องจากหนุ่มวัย 29 ปี ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่มีความรักหลงเหลืออยู่ในความสัมพันธ์ของทั้งคู่แล้ว แม้ว่าหนุ่มวัย 29 ปี จะไม่พอใจการกระทำของศาล แต่ก็ยินยอมที่จะกลับไปปรับความเข้าใจกับภรรยาตามคำแนะนำของศาล และภรรยาของเขาเองก็สัญญาว่าเธอจะใช้เวลากับโทรศัพท์ให้น้อยลงและหันมาทำอาหารหรือทำความสะอาดบ้านบ้าง

 

 

ในบ้านเราเองก็มีให้เห็นอยู่มาก ซึ่งไม่เพียงมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาเท่านั้น แต่มีผลต่อสมาชิกคนอื่นในครอบครัวตลอดจนคนรอบข้างด้วย โดยเฉพาะ “ลูก” เช่น ครอบครัวนักธุรกิจครอบครัวหนึ่งที่ “ผศ.ดร.จันทร์วิภา” รู้จักชอบพอกันมาช้านาน พ่อแม่โทรมาปรึกษาและขอความช่วยเหลือว่า ลูก ๆ วัยรุ่นหญิงทั้งสองคนค่อนข้างห่างเหินกับพ่อแม่ พ่อแม่รู้สึกว่าลูก ๆ ไม่ใกล้ชิดตนเหมือนที่ผ่านมา ไม่ค่อยพูดคุย ถามคำตอบคำ “ผศ.ดร.จันทร์วิภา” จึงได้รับเชิญไปรับประทานอาหารค่ำกับครอบครัวนี้เพื่อหาสาเหตุ

 

ระหว่างที่นั่งรถไปด้วยกันนั้น “ผศ.ดร.จันทร์วิภา” สังเกตว่าไม่มีใครพูดคุยกันเลย คุณพ่อตั้งใจขับรถอย่างนิ่งเงียบ ส่วนคุณแม่และลูกสาวทั้งสองเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตากดโทรศัพท์มือถือของตนเอง โดยไม่มีใครใส่ใจหรือสนใจใครเลย จึงได้คำตอบว่าครอบครัวนี้กำลังเข้าสู่ภาวะโฟโมโดยไม่รู้ตัว เพราะต่างก็สนใจคนอื่นนอกครอบครัวมากกว่าคนใกล้ตัว ทั้ง ๆ ที่ควรจะใช้เวลาที่มีร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด การที่ครอบครัวได้นั่งรถไปด้วยกัน ได้พูดคุยกันไป เป็นเวลาที่แสนจะมีคุณค่าได้อย่างดีเยี่ยม ต่อให้อาศัยอยู่ในบ้านใต้หลังคาเดียวกันแต่ไม่มีการสื่อสารกัน ก็เหมือนอยู่คนละโลกนั่นแหละ และหากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ความสัมพันธ์ของครอบครัวก็จะเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ ทั้งความสัมพันธ์ของสามีภรรยา พ่อแม่กับลูก หรือพี่กับน้องก็ตาม

 

นอกจากจะทำให้ทุกอย่างในครอบครัวเลวร้ายลงแล้ว การติดสมาร์ทโฟนจนเข้าขั้นโฟโมอาจจะทำให้เกิดเรื่องสลดใจที่คาดไม่ถึงขึ้นได้ เช่นเหตุการณ์ที่เกิดกับเด็กทารกชาวจีนวัย 14 เดือน ซึ่งได้จมน้ำในถังน้ำที่มีน้ำอยู่แค่นิดเดียวจนเสียชีวิต ในขณะที่แม่ของเด็กมัวแต่เมามันเอาแต่เล่นสมาร์ทโฟนไม่สนใจโลกอยู่

 

ทั้งหมดนี้ เราคงต้องมาสังเกตตัวเองกันหน่อยว่าเราเข้าไปเป็นครอบครัวโฟโมหรือยัง หลายคนอาจเข้าขั้นต้องได้รับการบำบัดรักษาแล้วก็ได้ เราต้องรู้เท่าทันตัวเองถึงความจำเป็น ในโลกความเป็นจริง และโลกสมมติ พยายามให้ทุกอย่างอยู่ตรงกลางและความพอเหมาะพอดีให้จงได้ เทคโนโลยีใช้ให้เป็นมันคือประโยชน์ ใช้ไม่เป็นมันก็ลงโทษเราด้วยเหมือนกัน

ที่มา : คู่สร้างคู่สม ปีที่ 35 ฉบับที่ 870 ศ. 10 ต.ค. 57

Exit mobile version