1.เชียงงาม: ตำนานบ้านเชียงแหล่งขุดพบอารยธรรมโบราณ
ในช่วงที่อาณาจักรขอมมีอำนาจรุ่งเรืองและแผ่ขยายอำนาจมาถึงเมืองหนองหาน ชาวลาวกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งรกรากใหม่ที่บ้านดงพร้อมครอบครัวหนึ่ง มีบุตรชายรูปงามจนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว ผู้ได้พบเห็นเป็นต้องรักใคร่เอ็นดู พ่อแม่จึงตั้งชื่อว่า “งาม” เมื่ออายุได้ 10 ปี พ่อแม่ส่งงามไปบวชเณร แม้อยู่ใต้ผ้าเหลืองคำร่ำลือเรื่องความงามของเณรงามก็ยังคงกระจายไปทั่ว ผู้หญิงทั่วทั้งนครต่างมาแอบดูเณรงาม โดยไม่ใส่ใจสามีหรือครอบครัว ผู้ชายจึงพากันไปร้องเรียนเจ้าเมือง และมีคำสั่งให้เณรสึก
ผู้ชายที่บวชเรียนและสีกออกมาจะถูกเรียกว่า เชียง (หรือคำว่า ทิด ในภาคกลาง) ผู้คนจึงเรียกเขาว่า เชียงงาม ยิ่งโตเชียงงามก็ยิ่งหน้าตาดีขึ้น ผู้หญิงในเมืองก็ยิ่งมาติดพันแต่เชียงงามรู้ผิดชอบชั่วดีจึงไม่ผิดลูกผิดเมียใคร ทว่าผู้ชายในเมืองก็ยังไม่พอใจ จึงไปฟ้องเจ้าเมืองอีกครั้งนี้เจ้าเมืองคิดว่า หากปล่อยให้ผู้หญิงหลงเสน่ห์เชียงงามไปเรื่อย ๆ อาจไม่เป็นการดี จึงตัดสินประหารเชียงงาม เพื่อระลึกถึงเชียงงาม จึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านเชียงและในปัจจุบันยังมีการค้นพบโบราณวัตถุสำคัญ และได้กลายเป็น “แหล่งอารยธรรมบ้านเชียง” นั่นเอง
2.เต่าคำ: เต่าคำเป็นวรรณคดีชาดกของภาคอีสาน เล่าถึงชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ที่เกิดเป็นเต่าไว้อย่างสนุกว่า
ณ หมู่บ้านในเมืองจำปา ยายจำสวน ชาวบ้านคนหนึ่งมีลูกสาวสวยชื่อนางกองแพง วันหนึ่งยายจำสวนอยากกินอาหารพื้นบ้าน นางกองแพงจึงถือสวิงไปหาปลาในทุ่งนา ขณะที่นางกองแพงกำลังช้อนหาปลา พระเวสสุวรรณเทวดาบนสวรรค์ก็แปลงร่างเป็นเต่ามาติดสวิง ตอนที่นางกองแพงกำลังจะจับเต่าใส่กระชัง เต่าขูดท้องหญิงสาวทำให้นางกองแพงตกใจเผลอทำเต่าหลุดมือตกน้ำไป เวลาผ่านไป นางกองแพงตั้งครรภ์ เมื่อครบกำหนดก็คลอดลูกออกมาเป็นเต่า หญิงสาวรู้สึกอับอายจึงตัดสินใจนำเต่าไปทิ้ง แต่เต่าน้อยอ้อนวอนแม่และยายไม่ให้ทิ้งตน และสัญญาว่าจะเลี้ยงดูตอบแทนแม่และยาย ทั้งคู่สงสารเต่าน้อยจึงเลี้ยงไว้
ต่อมา เต่าน้อยอ้อนวอนขอให้แม่และยายซื้อแคนให้ทั้งสองทนคำรบเร้าไม่ไหวก็ซื้อให้ เต่าน้อยเป่าแคนไพเราะเป็นที่เลื่องลือไปทั่วหมู่บ้าน เมื่ออายุได้ 13 ปี เต่าน้อยก็อ้อนวอนให้แม่และยายซื้อพร้าและขวาน เมื่อได้เครื่องมือมาเต่าน้อยก็ทำสวนผักให้แม่และยายเสร็จในวันเดียว ส่วนเต่าน้อยปลูกเพียงแตงต้นเดียวเท่านั้น ซึ่งแตงของเต่าน้อยออกลูกดก ยายจำสวนก็เก็บแตงลูกหนึ่งมาฟันดู แต่ฟันไม่เข้า พอแตงที่เหลือสุกแล้วจึงนำไปเก็บไว้ในยุ้ง ไม่นานก็มีแตงเต็มยุ้ง
เมื่อเต่าน้อยเติบโตเป็นเต่าหนุ่มก็อยากแต่งงาน จึงอ้อนวอนให้ยายและแม่ไปสู่ขอนางไกษร พระธิดาของท้าวมันทาเจ้าเมืองจำปา สิ่งที่เต่าหนุ่มขอเป็นถึงลูกเจ้าเมือง ยายกับแม่จึงหวั่นใจ แต่ก็ทนความรบเร้าไม่ไหว หอบแตง 3 ลูกใส่ตะกร้าเข้าวังไป ท้าวมันทารู้สึกโกรธและไม่พอใจที่ยายจำสวนและนางกองแพงมาขอพระธิดาให้เต่า จึงไล่กลับไป ยายจำสวนมัวแต่ตกใจจึงลืมตระกร้าไว้ ชาววังนำมาผ่าออกดูพบเงินทองด้านในมากมาย และนำไปบอกท้าวมันทา ท้าวมันทาคิดว่าเต่าตัวนี้มีบุญญาธิการ จึงเรียกว่า เต่าคำ
เมื่อยายกับแม่กลับมาถึงบ้านและเล่าให้เต่าคำฟัง เต่าคำจึงขอให้ยายกับแม่นำแตง 5 ลูกและนำเต่าคำใส่ย่ามกลับไปขอพระธิดาอีกครั้ง แม้ยายกับแม่จะกลัวแต่ก็ยอม คราวนี้เมื่อทั้งสามไปถึงวัง ท้าวมันทาก็ต้อนรับเป็นอย่างดีและยกนางไกษรให้ด้วยความเต็มใจ เต่าคำจึงได้แต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ในวัง วันหนึ่งเต่าคำเกิดเบื่อจึงชวนนางไกษรไปอยู่กระท่อมกลางนา เต่าคำอยากทดสอบความซื่อสัตย์ภรรยา จึงแกล้งออกไปทำนาแล้วถอดรูปออกมาจากกระดองเป็นหนุ่มรูปงาม เต่าในคราบชายหนุ่มพูดจาเกี้ยวพาราสีนางไกษรหลายครั้ง แต่นางไกษรก็ยังซื่อสัตย์ต่อสามี ทำให้ เต่าคำพอใจ เมื่อเต่าคำทดสอบใจชายาครั้งสุดท้าย ทั้งคู่ทะเลาะกัน นางไกษรน้อยใจจึงหนีกลับวัง แต่ระหว่างทางนางคิดว่าควรอธิบายและปรับความเข้าใจกันจึงกลับมาที่กระท่อม นางไกษรกลับมาเจอกระดองว่างเปล่า จึงนำไปเผาทิ้ง เมื่อชายหนุ่มกลับมาพบนางไกษร จึงเล่าความจริงเรื่องที่ตนต้องปลอมเป็นเต่าให้ฟัง เสร็จแล้วก็เนรมิตบ้านเมืองขึ้นปกครองร่วมกับนางไกยษรอย่างมีความสุข
3.ท้าวสุรนารี: วีรสตรีไทยที่กล้าหาญและรักชาติไม่แพ้ชาย
ท้าวสุรนารีมีนามเดิมว่า “โม” เป็นคนโคราชโดยกำเนิด ท่านเป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลม ชำนาญในการขี่ช้างและม้า และเชี่ยวชาญการเล่นหมากรุก เมื่ออายุ 25 ปี ได้แต่งงานกับนายทองคำ ซึ่งต่อมาได้รับราชการมีตำแหน่งเป็นพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2369 เกิดเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงค์เมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านจึงเป็นเป้าหมายหนึ่งในการบุกยึด ในขณะนั้นพระยาปลัดไม่อยู่ที่เมือง ฝ่ายเจ้าอนุวงค์จึงบุกยึดเมืองได้โดยง่ายและกวาดต้อนชาวเมืองไปเป็นเชลยที่เวียงจันทน์
เมื่อกลุ่มเชลยชาวนครราชสีมาเดินทางถึงทุ่งสัมฤทธิ์ก็มีการพักแรมกัน คุณหญิงโมออกอุบายให้ชาวเมืองทำทีเป็นยอมแพ้ให้กับทหาร รวมทั้งพูดยกยอปอปั้นและนำสุรามาเลี้ยงดูจนทหารต่างเมามายไม่ได้สติ จากนั้นคุณหญิงโมและชาวเมืองก็แย่งอาวุธและสังหารทหารลาว พร้อมกับหนีกลับมา ในขณะเดียวกันกองทัพจากเมืองหลวงก็ยกมาช่วยพอดี เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงทราบ จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมขึ้นเป็นท้าวสุรนารี พร้อมพระราชทานเครื่องยศให้และในปี พ.ศ. 2524 รัฐบาลได้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีไว้ที่หน้าประตูชุมพลทางเข้าเมืองนครราชสีมา
4.ทุ่งกุลาร้องไห้: ทุ่งกุลาร้องไห้มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 6 จังหวัด
ที่มาของชื่อทุ่งขนาด 2 ล้านไร่แห่งนี้มีอยู่ว่า ในอดีต พ่อค้าชาวกุลา ชนกลุ่มน้อยจากประเทศพม่าเดินทางมาค้าขายในภาคอีสาน เมื่อขายของในหมู่บ้านหนึ่งเสร็จแล้วก็ตั้งใจจะเดินทางไปขายของที่หมู่บ้านถัดไป แต่หมู่บ้านถัดไปนั้นอยู่ไกลมาก ชาวบ้านจึงแนะนำให้เตรียมอาหารและน้ำไว้กินระหว่างทาง พ่อค้าคิดว่าตัวเองเดินทางข้ามเขามามากมาย ทุ่งกว้างที่ชาวบ้านพูดถึงนั้นจะใหญ่แค่ไหนเชียว ใช้เวลาวันเดียวก็เดินทางไปถึงอีกหมู่บ้านหนึ่งแน่นอน เขาจึงได้เตรียมเสบียงตามที่ชาวบ้านแนะนำและออกเดินทางต่อ
พ่อค้าเดินทางมาเรื่อย ๆ จนถึงทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาล แสงแดดแผดเผาร้อนแรงขึ้นทุกที เขาเดินทางต่อไปอย่างไม่เห็นจุดหมาย มองไปทางไหนก็เจอแต่ทุ่งแห้งแล้งสุดลูกหูลูกตา ร่างกายเริ่มอ่อนล้า น้ำที่มีอยู่ก็ร่อยหรอ นึกเจ็บใจตัวเองที่ไม่เชื่อคนแนะนำ สุดท้ายก็ทนเดินต่อไปไม่ไหว พ่อค้าจึงทิ้งตัวนั่งร้องไห้อยู่ตรงนั้น จนกระทั่งที่มีชาวบ้านผ่านมาพบเข้า ชาวบ้านที่มาช่วยพ่อค้าไว้ ได้จัดหาข้าวปลาให้กินก่อนสอบถามที่มาที่ไป พ่อค้าเล่าเหตุการณ์ให้ฟังจนถึงตอนที่ตัวเองนั่งกอดเข่าร้องไห้ ชาวบ้านเลยเรียกทุ่งแห่งนี้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
5.นางผมหอม: นิทานเล่าขานเรื่องของธิดาพญาช้างผู้มีผมหอม
แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่หนึ่งของอำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู คือถ้ำเอราวัณ ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงามวิจิตรพิสดาร ชาวบ้านเชื่อว่า ที่นี่เป็นต้นกำเนิดนิทานตำนานนางผมหอมโดยมีเรื่องเล่าว่า ราชาเมืองนครศรีมีพระธิดานามว่านางสีดา วันหนึ่งนางออกไปเที่ยวป่า ด้วยความกระหายและหาน้ำดื่มไม้ได้จึงดื่มน้ำในรอยตีนของพญาช้างและพญากระทิง เมื่อกลับเข้าวังก็ตั้งครรภ์และคลอดแฝดหญิงออกมา ลูกสาวคนโตตั้งชื่อว่า ผมหอม เนื่องจากมีผมที่หอม และแฝดน้องชื่อ ลุน
ผมหอมและลุนถึงแม้จะเป็นฝาแฝดกันแต่นิสัยต่างกัน ผมหอมมีจิตใจโอบอ้อมอารี รักษาสัตย์ ส่วนลุนชอบโกหกและเอาแต่ใจตนเอง เมื่อธิดาทั้งสองเติบโตขึ้นเห็นเด็กคนอื่นมีพ่อและแม่พร้อมหน้าก็เกิดความสงสัยอยากรู้ว่าใครเป็นพ่อ จึงรบเร้าถามแม่ เมื่อถามหลายครั้งนางสีดาจึงเล่าความจริงให้ฟัง ผมหอมและลุนอยากรู้ว่าพ่อของตนหน้าตาเป็นอย่างไร เลยวางแผนหนีเข้าไปในป่าเพื่อตามหาพ่อ เมื่อเข้าป่าก็พบกับพญาช้าง พญาช้างสงสัยว่า ทำไมเด็กหญิง 2 คนจึงเข้ามาในป่าตามลำพัง นางผมหอมจึงเล่าความจริงให้ฟัง
พญาช้างคิดว่า 1 ใน 2 คนนี้ต้องเป็นลูกตนเอง จึงอธิษฐาน หากเป็นลูกขอให้ปีนขึ้นบนหลังได้ ปรากฏว่า นางผมหอมปีนขึ้นได้อย่างง่ายดาย แต่นางลุนกลับตกลงไปตาย จากนั้นพญาช้างจึงพานางเข้าป่าลึกและปลูกปราสาทให้อยู่ในถ้ำช้างหรือถ้ำเอราวัณ เมื่อนางผมหอมโตเป็นสาว เห็นสัตว์น้อยใหญ่มีคู่ จึงคิดอยากหาคู่ครองบ้าง วันหนึ่งเมื่อนางผมหอมไปอาบน้ำยังลำธารจึงตัดผมของตนใส่ในผอบ พร้อมอธิษฐานขอให้ผอบลอยไปหาชายที่เป็นคู่ครอง ผอบลอยตามน้ำไป กระทั่งท้าวขุนไท เจ้าเมืองเบ็งเก็บได้ เมื่อเปิดผอบออก ก็ได้กลิ่นหอม ท้าวขุนไทรู้สึกสะดุดใจอยากพบเจ้าของเส้นผมนี้จึงออกตามหา กระทั่งพบกับนางผมหอม จนเกิดเป็นความรัก ทั้งสองแอบอยู่กินกันในปราสาทจนมีลูก 2 คน
วันหนึ่งท้าวขุนไทชวนนางผมหอมหนีกลับบ้านเมืองเมื่อพญาช้างทราบก็ติดตาม กระทั่งหัวใจสลาย ก่อนสิ้นใจได้มอบงาเป็นอาวุธแก่ท้าวขุนไท ระหว่างที่ท้าวขุนไท นางผมหอมและลูกเดินทางกลับเมืองเบ็งก็พบนางผีโพง ทันทีที่นางผีโพงพบท้าวขุนไทก็หลงรักและต้องการเป็นชายา จึงหาทางกำจัดนางผมหอม เมื่อสบโอกาสก็ผลักนางผมหอมตกน้ำและแปลงกายเแป็นนางร่วมเดินทางมากับท้าวขุนไท วันเวลาผ่านไป ท้าวขุนไทรู้สึกว่า นางผมหอมมีกิริยาท่าทางแปลกไปจากเดิม เช่น ชอบแอบกินของดิบๆ และลูกก็ไม่ยอมเข้าใกล้ รวมถึงไม่ยอมดูดนมจากอกแม่ ทำให้ท้าวขุนไทรู้ว่านี่ไม่ใช่ชายาตัวจริง จึงได้กำจัดนางผีโพง และออกตามหานางผมหอมกระทั่งเจอ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
6.ปอบ: ผีไร้ตัวตน ต้องอาศัยร่างมนุษย์ชอบกินของสด
ปอบเป็นผีจำพวกหนึ่ง ซึ่งอยู่คู่กับความเชื่อพื้นบ้านของไทย โดยเฉพาะทางภาคอีสาน ปอบแตกต่างจากผีตนอื่นตรงที่ว่า ปอบไม่มีตัวตน ต้องเข้าสิงคน เมื่อปอบเข้าสิงใครก็จะกินตับไตไส้พุงของผู้ที่ถูกสิงจนตาย ซึ่งการตายนี้ก็เหมือนนอนหลับธรรมดา ไม่มีบาดแผล บางคนเชื่อว่า โรคใหลตายเกิดจากการถูกปอบสิง เชื่อกันว่า ปอบนั้นเดิมทีเป็นคนที่เล่นคาถาอาคมหรือคุณไสย แต่และมีข้อห้ามบางอย่าง จนควบคุมคาถาอาคมหรือผีที่เลี้ยงไว้ไม่ได้ ทำให้ของเหล่านั้นย้อนกับเข้าตัว ซึ่งก็คือดวงจิตหรือดวงวิญญาณนั่นเอง ปอบเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผู้ที่ถูกปอบเข้าสิงจะรู้สึกอยากกินของดิบ ๆ สด ๆ พวกตับไตไส้พุง กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม บางคนจะแสดงอาการดุร้าย โกรธเกรี้ยว แต่บางคนอาจนอนซึมไม่พูดจากับใคร สำหรับวิธีการขับไล่ปอบให้ออกจากร่างนั้นมีหลายวิธี แต่วิธีที่ินิยมที่สุดคือ การเฆี่ยน
7.ปาจิตต อรพิม: เรื่องราวความรักระหว่างท้าวปาจิตตกับนางอรพิมมีเรื่องเล่าว่า
เจ้าเมืองอินทปัตถามีพระโอรสชื่อท้าวปาจิตต เมื่อถึงวัยที่สมควรมีคู่ครองแล้ว ท้าวปาจิตตก็ไม่ถูกใจสาวงามที่พระบิดาหามาให้สักคน จึงทูลลาออกตามหาพระชายาเอง ท้าวปาจิตตเดินทางมาพบหญิงท้องแก่คนหนึ่งที่แม้แดดจะส่องแสงแรงแค่ไหน ก็จะมีกลดทิพย์คอยบังแดดให้จึงคิดว่าเด็กในท้องอาจเป็นผู้มีบุญญาธิการ ท้าวปาจิตตจึงทาบทามขอเด็กในท้องไว้เป็นชายา เมื่อเด็กครบก็กำหนดก็คลอดออกมาเป็นหญิงชื่อว่า อรพิม
ท้าวปาจิตตคอยช่วยเหลือดูแลครอบครัวนางอรพิม จนกระทั่งเด็กหญิงเติบโตเป็นสาวงาม ถึงวัยออกเรือนได้ ท้าวปาจิตตจึงขอกลับไปเตรียมยกขันหมากมาสู่ขอ วันหนึ่งนางอรพิมเล่นน้ำที่ท่าน้ำ แล้วเกิดนึกสนุกเอาเส้นผมใส่ผอบลอยน้ำ ต่อมาลอยไปติดที่ท่าน้ำเมืองพรหมทัต เมื่อพระเจ้าพรหมทัตได้กลิ่นผมหอมก็หลงใหล และสั่งให้ทหารจับตัวเจ้าของผมมา ระหว่างทางไปเมืองพรหมทัต นางอรพิมเอาแต่ร้องไห้คิดถึงท้าวปาจิตตไม่ยอมเดินทางต่อ บริเวณนั้นจึงเรียกว่า บ้านนางร้อง (ก่อนเพี้ยนมาเป็นนางรอง) ทหารจึงฉุดกระชากนางไปจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง นางอรพิมก็หาทางหลบหนีหมู่บ้านนั้นจึงเรียกว่า บ้านปะเต็ล (เป็นภาษาเขมรแปลว่ากระโดด)
นางอรพิมหนีไปอีกหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ทหารก็ไล่ตามไปปิดล้อมที่หมู่บ้านแห่งนั้น ทำให้หมู่บ้านนี้มีชื่อว่า บ้านไผ่ล้อม แต่ก็หานางอรพิมไม่พบ เพราะนางหนีขึ้นเขาไปซ่อนในถ้ำ ภูเขานั้นจึงได้ชื่อว่า เขาปลายบัด (เป็นภาษาเขมรแปลว่าหาย) แต่ถึงอย่างนั้นทหารก็ยังตามหานางจนเจอและพากลับเมืองพรหมทัต นางอรพิมถูกขังในปราสาท ท้าวปาจิตตเดินทางมาถึงบ้านนางอรพิม และรู้ข่าวว่านางถูกจับตัวไป ก็รู้สึกเสียใจจึงเทของหมั้นทิ้งน้ำและมุ่งหน้าไปยังเมืองพรหมทัต บริเวณที่เทของทิ้งเรียกว่า เสราะแบจาน (ก่อนเพี้ยนมาเป็น บ้านทุบจาน) ส่วนของที่ไหลไปตามน้ำเรียกว่า ลำปลายมาศ
เมื่อเดินทางมาถึงเมืองพรหมทัต ซึ่งตรงกับวันแต่งงานของนางอรพิมกับท้าวพรหมทัตพอดี ท้าวปาจิตตจึงปลอมตัวแล้วอ้างว่าเป็นพี่ชายของนางอรพิม ทหารจึงให้เข้าไป นางอรพิมเห็นท้าวปาจิตตก็ดีใจจึงแอบเรียกท้าวปาจิตตว่า พี่มาแล้ว คำว่า “พี่มา” จึงเพี้ยนมาเป็น “พิมาน” กลายเป็น ชื่อปราสาทในเมืองแห่งนี้
ท้าวปาจิตตกับนางอรพิมแอบวางยา ท้าวพรหมทัตกับทหาร องครักษ์ หลังจากลอบปลงพระชนม์ท้าวพรหมทัตแล้วหลบหนีออกมา ท้าวปาจิตตและนางอรพิมร่วมฟันฟ่าอุปสรรค กระทั่งมาถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง ก็มีอันต้องพลัดพรากจากกัน เนื่องจากตาเถร เจ้าของเรือที่พาข้ามฟากชอบนางอรพิม จึงออกอุบายพานางอรพิมหนีไป นางอรพิมออกอุบายหนีจากตาเถรมาได้จึงรีบพายเรือกลับมา แต่ก็ไม่พบท้าวปาจิตตแล้ว พระอินทร์สงสารจึงมอบแหวนวิเศษที่ทำให้สามารถแปลงกายเป็นชายได้แก่นางอรพิม นางอรพิมในร่างผู้ชายจึงติดตามหาท้าวปาจิตตต่อไป กระทั่งนางอรพิมเดินทางมาถึงเมืองจัมปากนครและได้ช่วยชีวิตพระธิดาเจ้าเมืองไว้ เจ้าเมืองจึงยกพระธิดาให้ แต่นางอรพิมปฏิเสธและขอออกบวชแทน หลังจากบวชแล้ว นางอรพิมสร้างโบสถ์และเขียนภาพเรื่องราวระหว่างตนกับท้าวปาจิตตที่ผนังโบสถ์ กระทั่งวันหนึ่งท้าวปาจิตตมาเดินทางมาถึงเมืองแห่งนี้แล้วพบภาพในโบสถ์ ทำให้ทั้งคู่ได้พบกันอีกครั้งและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
8.พระธาตุนางเพ็ญ: ตำนานของหญิงสาวที่ยอมสละชีวิตเพื่อยับยั้งสงครามและการนองเลือด
พระธาตุนางเพ็ญอยู่ที่อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี พระธาตุแห่งนี้เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งสละชีวิตตนเองยับยั้งสงคราม ตำนานเล่าว่าท้าวศรีสุทโธ เจ้าเมืองเพ็ง มีธิดาองค์หนึ่งชื่อนางเพ็ญ ความงามของนางเพ็ญเป็นที่โจษจันไปทั่ว กษัตริย์และเจ้าชายจากเมืองต่างๆ พากันยกไพร่พลพร้อมขบวนขันหมากเพื่อมาสู่ขอนางเพ็ญแทบจะพร้อมกัน ท้าวศรีสุทโธเกรงว่า หากยกนางเพ็ญให้ใครไป อาจทำให้คนอื่นๆ ไม่พอใจ และเปิดศึกตีเมืองหรืออาจฆ่าฟันกัน นางเพ็ญไม่อยากให้ใครต้องมาเสียชีวิตเพราะตัวเองจึงตัดสินใจกระโดดน้ำตายในบ่อท้ายวัง
บางตำนานเล่าว่า นางเพ็ญขังตัวเองในโพรงพระธาตุเพื่อรอให้ทุกคนกลับไป เวลาผ่านไป แต่ทุกคนก็ยังรออยู่ นางเพ็ญจึงให้ก่ออิฐปิดพระธาตุ ก่อนสิ้นใจนางเพ็ญอธิษฐานขอให้เมืองเพ็งพบแต่สันติสุข อย่าให้มีคนภายนอกมาคิดร้าย
9.พระธาตุพนม: หนึ่งในพระธาตุสำคัญที่บรรจุพระอุรังคธาตุ
พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นพระธาตุสำคัญของภาคอีสาน มีอายุเก่าแก่และงดงามกว่าพระธาตุองค์อื่น ๆ พระธาตุพนมเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยอิฐ กว้าง 12.33 เมตร สูง 53.6 เมตร ตั้งอยู่บนภูกำพร้า ในตำนานพระธาตุเล่าว่า เมื่อนานมาแล้วพระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังบริเวณนี้และได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า หากพระองค์ปรินิพพานแล้ว ให้นำพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) มาประดิษฐานที่นี่ เมื่อพระองค์ดับขันธปรินิพพาน พระมหากัสสปะจึงได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุมายังที่นี่ และให้เจ้าเมืองทั้งห้าช่วยกันสร้างพระธาตุ โดยครั้งแรกใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยมแล้วเผา กว้างด้านละ 2 วา ข้างในเป็นโพรง มีประตูเปิด 4 ด้าน
เชื่อกันว่า พระธาตุซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงค่าจะต้องมีเทวดามาคอยอารักขา พระอุรังคธาตุก็เช่นกัน พระอินทร์ได้บัญชาให้เทวดาจำนวน 4,006 องค์ และผีเมืองอีก 3 ตนคอยปกปักรักษาพระธาตุ ต่อมามีเรื่องเล่าว่า เทวดาที่อารักขาประพฤติตนไม่เหมาะสม พระอินทร์จึงบัญชาให้สุทโธนาคแห่งลุ่มแม่น้ำโขงและเหล่าบริวารเป็นผู้อารักขาพระธาตุแทน
10.พระธาตุเชิงชุม: สถานที่ที่ชุมนุมรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า 4 องค์
พระพุทธเจ้ากับพระอานนท์เสด็จออกจากวัดเชตวันมหาวิหารไปทางทิศตะวันออกเพื่อโปรดสัตว์ พระองค์ได้ประทับรอยพระบาทไว้ที่พระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทโพนเพล และพระพุทธบาทเวินปลาเพื่อให้ชาวเมืองสักการะ พระองค์และพระอานนท์พักฉันภัตตาหารที่ภูกำพร้าเสร็จแล้วจึงเสด็จเดินทางต่อไปยังภูน้ำลอดเชิงชุมเพื่อโปรดพระเจ้าสุวรรณภิงคาระ เมื่อพระเจ้าสุวรรณภิงคาระรู้ก็ออกมาต้อนรับ
พระเจ้าสุวรรณภิงคาระและพระมเหสีได้ฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว พระพุทธเจ้าอยากให้พระเจ้าสุวรรณภิงคาระเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น พระองค์จึงแสดงปาฏิหาริย์ให้มีดวงแก้วพวยพุ่งจากโอษฐ์พร้อมกันถึง 3 ดวง เมื่อพระเจ้าสุวรรณภิงคาระเห็นก็เกิดความศรัทธา พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาทและตรัสรู้ว่าสถานที่แห่งนี้มีรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าถึง 4 องค์ คือรอยพระบาทของพระองค์ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และพระกัสสปพุทธเจ้า พระเจ้าสุวรรณภิงคาระรู้สึกปีติยินดีจึงถอดมงกุฏครอบรอยพระบาทแล้วสั่งให้สร้างเจดีย์ครอบไว้และตั้งชื่อว่า พระธาตุเชิงชุม ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดสกลนคร