ปัจจุบัน การล้างพิษถือว่าได้รับความนิยมในหมู่ผู้ที่รักสุขภาพพอสมควร ทั้งนี้เนื่องจากการล้างพิษจะช่วยทำความสะอาด และกำจัดพิษในลำไส้ที่สะสมมานานจากการรับประทานอาหารต่างๆ
ซึ่งการล้างพิษภายใน 7 วันนี้ จะเริ่มต้นด้วยการ “อดอาหาร 2 วัน” เป็นอันดับแรก กล่าวคือผู้ทำการล้างพิษจะต้องไม่รับประทานอาหารหนัก ๆ เหมือนที่เคยบริโภคในมื้ออาหารตามปกติ แต่จะรับประทานน้ำผักและผลไม้แทน
แต่หลังจากผ่านการอดอาหาร 2 วันแรกไปแล้ว ก็จะรับประทานแต่ผลไม้และผักเป็นอาหารหลักอีกเช่นกัน โดยการรับประทานทั้งที่ยังสด และผสมกับถั่วและเมล็ดธัญพืชต่างๆ รวมทั้งปลา ไข่ และน้ำมันคุณภาพดี เช่น น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ เป็นต้น
หลังจากผ่านการอดอาหาร 2 วันไปแล้ว จะไม่รู้สึกหิวมาก
เพราะปริมาณผลไม้ที่รับประทาน ยังมีจำนวนแคลอรี่ที่เพียงพอสำหรับร่างกาย แต่ในขณะที่อยู่ระหว่างทำการล้างพิษทั้ง 7 วัน ห้ามดื่มกาแฟ หรือแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด ทั้งนี้หลังการอดอาหาร 2 วัน ผ่านไปแล้วสามารถดื่มชาจีนอ่อน ๆ ใส่มะนาวบ้างก็ได้
นอกจากนี้ในการรับประทานสลัดผักผลไม้ต่างๆ นั้น น้ำสลัดที่ใช้ควรจะเป็นน้ำสลัดที่ทำเองโดยใช้น้ำมันมะกอกผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือ กระเทียม และสมุนไพรอื่น ๆ ตามชอบ เช่น พริกไทยดำ ผงยี่หร่า พาร์สลีย์ และอบเชยผง เป็นต้น
ในช่วง 2-3 วันแรกที่ทำการล้างพิษ จะพบว่ามีแก๊สในกระเพาะอาหาร
อาจมีอาการท้องอืด หรือมีอาการท้องเสียปะปนอยู่ด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอาหารทำให้ระบบการย่อยและการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่เมื่อทำการล้างพิษเสร็จสิ้นครบกระบวนการแล้ว ระบบทางเดินอาหารและการขับถ่ายก็จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง รวมทั้งทำให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ผิวพรรณสดใสขึ้นและน้ำหนักลดลงอีกด้วย
วันที่ 1
เช้า: น้ำองุ่นผสมกับน้ำแอปเปิ้ลปั่นอย่างละครึ่งแก้วใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ และผลองุ่นกับแอปเปิ้ลเล็กน้อย
สาย: น้ำองุ่นผสมน้ำมะนาว และผลองุ่นเล็กน้อย
กลางวัน: น้ำผักปั่นผสมมะนาว และสลัดผลไม้แห้งที่แช่น้ำไว้ค้างคืนและล้างจนสะอาดดีแล้ว เช่น แอพพลิคอต ลูกเกด พลัม
บ่าย: น้ำแอปเปิ้ล
เย็น: สลัดผักสด เช่น ผักกาดหอม คะน้า เซเลอรี กะหล่ำปลี และผักอื่นๆ ที่ชอบใส่น้ำสลัดที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
วันที่ 2
รับประทานเช่นเดียวกับวันแรกตลอดทุกมื้อ จนกระทั่งถึงมื้อเย็น ให้เปลี่ยนเป็นสลัดเซเลอรี หัวผักกาด มันฝรั่งอบ และถั่วแทนห้าม (ใส่น้ำตาลเด็ดขาด)
วันที่ 3
เช้า: ต้องเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืน โดยตักข้าวโอ๊ตเกร็ด 2 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำทิ้งไว้ทั้งคืน รุ่งเช้าเติมมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ นมถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ หั่นกล้วยหอมลูกเล็กๆ ลงไปด้วย
สาย: น้ำผักสดปั่น
กลางวัน: สลัดปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล หรือซาร์ดีนกระป๋อง รับประทานกับกะหล่ำปลี แครอทหั่นฝอย พริกชี้ฟ้า หอมหัวใหญ่ใส่น้ำสลัดสูตรเดิมโรยหน้าด้วยพาร์สลีย์และงาดำ ส่วนผลไม้อาจเป็น องุ่น สตอเบอรี่ หรือ แอปเปิ้ล ก็ได้
บ่าย: น้ำองุ่น น้ำแอปเปิ้ล น้ำผักปั่น หรือ น้ำชา เช่น ชาตะไคร้ ชาสะระแหน่ เป็นต้น
เย็น: ซุปข้าวต้มข้าวกล้อง (โดยใช้ผักเซเลอรี แครอท กะหล่ำปลี หัวหอมใหญ่ นำไปผัดรวมกัน จากนั้นใส่หม้อต้มพร้อมกับข้าวต้มข้าวกล้อง ใส่พริกไทยดำ เกลือ โรยหน้าด้วยพาร์สลีย์
วันที่ 4
เช้า: องุ่น แอปเปิ้ล ไข่ต้ม หรือ ไข่คนที่ใส่เนยเพียงเล็กน้อย
สาย: น้ำผักผลไม้ปั่น (แครอท เซอลารี และแอปเปิ้ล ปั่นรวมกัน) หรือน้ำมะเขือเทศผสมมะนาวปั่น
กลางวัน: ซุปข้าวต้มข้าวกล้องแบบเมื่อวานตอนเย็นรับประทานกับขนมปังโฮลวีท และสลัดผักถ้วยเล็ก
เย็น: ปลาหรือไก่ อาจใช้วิธีย่างหรือต้มก็ได้นำมารับประทานกับสลัดผักต่างๆ เช่นกะหล่ำปลี ผักกาดหอม แตงกวา ฟักทองต้มสุก ถั่วลันเตา แครอท โดยผสมน้ำสลัดที่ทำจากเนยถั่วและน้ำมะนาวลงไป ส่วนของหวานสามารถใช้เป็นผลไม้ที่ชอบ หรือโยเกิร์ต 1 ถ้วยก็ได้
วันที่ 5
เช้า: รับประทานเช่นเดียวกับเมนูอาหารในวันที่ 3
สาย: น้ำผักปั่น (เช่น น้ำแครอท น้ำใบบัวบก น้ำกะหล่ำปลีผักรวม เป็นต้น)
กลางวัน: ราดหน้าผักสด เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ถั่วลันเตา
บ่าย: น้ำผักผลไม้ปั่น หรือน้ำชาอ่อนๆ เช่น ชาใบหม่อน ชาดอกเก๊กฮวย ชาดอกมะลิ ชากุหลาบ
เย็น: สลัดผักสดใส่งาคั่ว และเมล็ดทานตะวัน ไก่อบ โยเกิร์ตรสธรรมชาติผสมอบเชยป่น น้ำผึ้ง เมล็ดอัลมอนด์ต้มสุกหั่นบางๆ คนให้เข้ากัน
วันที่ 6
เช้า: สลัดผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล ส้ม องุ่น สตรอเบอร์รี่ใส่โยเกิร์ต และน้ำอุ่นใส่น้ำผึ้งเล็กน้อย
สาย: น้ำผักปั่น เช่น ผักกาดหอม แครอท เซเลอรี ที่ผสมน้ำผึ้งลงไปเล็กน้อย
กลางวัน: มันฝรั่งอบ ไข่เจียว สลัดผัก และผลไม้สด
เย็น: ข้าวกล้อง แกงจืดเห็ดหูหนูใส่สาหร่ายทะเล น้ำพริกหนุ่ม ผักสด และผลไม้สดที่ชอบ
วันที่ 7
เช้า: ข้าวต้มข้าวกล้อง 1 ถ้วยเล็ก รับประทานคู่กับลูกหนำเลี๊ยบ หรือผักปวยเล้ง
สาย: น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งลงไปเล็กน้อย
กลางวัน: สลัดผักสดและผลไม้
บ่าย: ผลไม้ที่ชอบ ยกเว้นผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมันและน้ำตาลสูง เช่น ขนุน ละมุด ลำไยและทุเรียน เป็นต้น
เย็น: ข้าวกล้องหุงสุกร้อนๆ 1 ถ้วย ไก่ย่าง 1 ชิ้น แกงจืดตำลึง ผัดผักบุ้งใส่เต้าเจี้ยวถั่วเหลืองและผลไม้สด
ทั้งนี้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงรายการผลไม้ ให้เป็นผลไม้ที่หาซื้อง่ายตามฤดูกาลได้ เช่น แตงโม ฝรั่ง ส้มมะละกอ ชมพู่ สับปะรด ส้มโอ มังคุด แตงไทย มะม่วง แอปเปิล สาลี่ และสตอเบอรี่ เป็นต้น แต่ไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีแป้งหรือผลไม้ที่มีรสร้อน หรือหวานจนเกินไป เช่น ทุเรียน เงาะ ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติขณะล้างพิษ
การออกกำลังกายทุกวันจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงกระปรี้กระเปร่า และรู้สึกสบายและผ่อนคลายความเครียดไปด้วยในตัว ซึ่งในขณะที่ทำการล้างพิษ ก็ต้องออกกำลังกายเพื่อเรียกเหงื่อด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่าง เช่น เต้นแอโรบิค วิ่งจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรืออาจเป็นการเดินเล่นในสวนสาธารณะก็ได้เช่นกัน ขอให้ได้เหงื่อ และเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้ผู้ออกกำลังสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงผิวหนังเต่งตึงสดชื่นขึ้นแถมยังช่วยกำจัดสารพิษและของเสียในร่างกายได้อีกด้วย
ทั้งนี้เราควรเพิ่มระบบการหายใจที่ถูกวิธีด้วยคือ การหายใจยาวๆ เข้าและออกลึกๆ ด้วยการอาศัยปอดและท้องไม่ใช่การหายใจเร็วแรงๆ ในช่วงสั้นๆ อย่างที่คนส่วนใหญ่มักทำกัน ซึ่งเป็นการหายใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการหายใจโดยใช้กระบังลมและปอดเท่านั้น
อย่างที่เรามักได้ยินกันว่า “หายใจไม่ทั่วท้อง” นั่นเอง การหายใจเช่นนี้จะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนได้ไม่เต็มที่ จึงเกิดการสะสมของสารพิษในร่างกายได้ง่าย
วิธีการฝึกหายใจที่ถูกต้องด้วยการใช้ท้องนั้น สามารถทำได้โดยการนอนหงาย เอามือวางไว้ที่หน้าท้องเมื่อหายใจเข้า มือจะถูกยกขึ้นตามแรงหายใจ แต่พอเมื่อหายใจออก มือจะถูกผ่อนลงตามจังหวะ ทั้งนี้การหายใจที่ถูกต้องจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า และจิตใจสงบขึ้น การขจัดของเสียในร่างกายก็จะทำได้ดีขึ้น แถมสุขภาพแข็งแรงอีกต่างหาก
ที่มาและการอ้างอิง
รู้ทันโรคบริโภคสมุนไพร ผู้แต่ง อารีรัตน์