ผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีการคาดกันว่า หากนำผิวหนังทุกส่วนของร่างกายมาแผ่ออกจะได้พื้นที่มากกว่า 1,000 ตารางนิ้ว และมีน้ำหนักประมาณร้อยละ 16 ของน้ำหนักตัว
ผิวหนังทำหน้าที่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการห่อหุ้มและปกป้องอวัยวะภายในไม่ให้ได้รับอันตราย ช่วยรักษาอุณหูมิของร่างกายให้อยู่ที่ระดับเหมาะสม ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายหรือแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ช่วยขับถ่ายของเสีย ช่วยป้องกันรังสีอัลตร้าไวเลตไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย และเป็นด่านแรกในการรับแรงกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น แสงแดด ความร้อน ความเย็น เป็นต้น
เซลล์และเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ จะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา
เมื่อกาลเวลาผ่านไป เซลล์และเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ รวมไปถึงผิวหนังจะเกิดการเสื่อมสภาพ ผิวหนังจากที่เคยเต่งตึง เปล่งปลั่ง อ่อนเยาว์ กลายเป็นผิวที่หย่อนคล้อย มีริ้วรอย หมองคล้ำ ไม่น่ามอง มีปัญหาฝ้า กระ จุดด่างดำตามมามากมาย
กระบวนการการเสื่อมสภาพของผิวหนังดังกล่าว เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งตัวการสำคัญที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมดังกล่าวคือ อนุมูลอิสระ อันมีสาเหตุมาจากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่
1.ปัจจัยภายนอก: ได้แก่สิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมและความร่วงโรยแห่งวัย เช่น แสงแดด ความร้อน สารพิษ มลภาวะ แอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือแม้แต่การดูแลผิวที่ผิดวิธี
2.ปัจจัยภายใน: คือกระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ทำความรู้จัก “อนุมูลอิสระ”
คือสารประกอบใด ๆ ที่เมื่อรวมเข้ากับออกซิเจนแล้ว จะเกิดการสูญเสียอิเล็กตรอนภายในโมเลกุลไป ทำให้โมเลกุลดังกล่าวขาดความสมดุล ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวเรียกว่าปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) และเพื่อที่จะคงความสมดุลหรืออยู่ในภาวะเสถียร โมเลกุลนั้นจำเป็นต้องดึงอิเล็กตรอนจากโมเลกุลข้างเคียงมาไว้กับตัว ทำให้โมเลกุลข้างเคียงขาดความเสถียร จนต้องแย่งอิเล็กตรอนจากโมเลกุลอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของเซลล์มาอีก
ปฏิกิริยาดังกล่าวจะเกิดติดต่อกันเป็นลูกโซ่ไม่จบสิ้น เราเรียกโมเลกุลอิเลคตรอนที่หายไปนี้ว่า “อนุมูลอิสระ” (Free Radical) ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมโทรมและโรคร้ายต่าง ๆ
หากปฏิกิริยาดังกล่าวเกิดขึ้น ในขณะที่มีการแบ่งเซลล์และถอดแบบดีเอ็นเอ จากเซลล์แม่ไปยังเซลล์ลูก จะก่อให้เกิดความเสียหายกับดีเอ็นเอของเซลล์เกิดใหม่ จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด
2 วิธีชะลอความเสื่อมโทรมของผิว
แม้ว่าเราไม่อาจหลีกเลี่ยงกระบวนการเสื่อมโทรมของผิวพรรณได้ แต่เราสามารถชะลอกระบวนการดังกล่าวให้เกิดขึ้นช้าลงได้ ด้วยการเอาใจใส่กับใจทั้ง 2 อย่างเท่า ๆ กัน
1.ความเสื่อมโทรมที่มาจากปัจจัยภายนอก
ให้หลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดจัด ๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ไม่อยู่ในสถานที่ที่ร้อนจัดหรือหนาวจัดเป็นเวลานาน ๆ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และไม่สูบบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตลบอบอวลไปด้วยควันบุหรี่ และหมั่นดูแลผิวพรรณอย่างถูกวิธีและเหมาะสม เป็นต้น
2.ความเสื่อมโทรมที่เกิดจากปัจจัยภายใน
สามารถชะลอให้เกิดช้าลง ด้วยการกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ในสัดส่วนที่เหมาะสม เน้นอาหารที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักและผลไม้สด ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี รวมไปจนถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่าที่จำเป็น ดื่มน้ำสะอาดให้มาก พักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความตึงเครียดอย่างเหมาะสม เป็นต้น
ด้วยวิธีการดูแลผิวที่ถูกต้องและสม่ำเสมอ ผิวพรรณของเราก็จะคงความสวยงามและความอ่อนเยาว์ได้ยาวนานขึ้น
การดูแลผิวพรรณในแต่ละวัย
ผิวพรรณของคนเราย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เนื่องมาจากปัจจัยหลายๆอย่างด้วยกัน ทั้งปัจจัยในเรื่องของสภาพแวดล้อม สุขภาพ โภชนาการ รวมไปถึงอายุขัยของแต่ละคน ดังนั้น เราควรที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของผิว รวมทั้งการดูแลผิวพรรณในแต่ละวัย
1.วัย 20 ถึง 30 ปี
วัยนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงอายุที่ยังมีผิวหน้าเปล่งปลั่งสดใส บางคนอาจดูมีเลือดฝาดอย่างเห็นได้ชัด ริ้วรอยต่าง ๆ ยังไม่ปรากฏ ดังนั้นควรเน้นแค่เพียงทำความสะอาดใบหน้าก็พอ
ก่อนล้างหน้า ควรใช้ครีมทำความสะอาดเครื่องสำอางก่อนการล้างหน้าทุกครั้ง หากเป็นคนที่มีผิวมัน ผิวธรรมดา หรือผิวผสม ควรใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่เป็นเนื้อเจลหรือโฟม ซึ่งมีประสิทธิภาพในการขจัดความมันบนใบหน้าได้เป็นอย่างดี
ส่วนผิวแห้งควรใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อครีม ซึ่งสามารถให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหน้า จากนั้นใช้โทนเนอร์เช็ดทำความสะอาดคราบที่หลงเหลืออีกครั้ง
ส่วนการบำรุงผิวสามารถใช้ครีมบำรุงผิวธรรมดา หากเป็นช่วงกลางวันควรใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของสารกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป เวลากลางคืนก็กลับ มาใช้ moisturizer ปกติ
2.วัย 30 ถึง 40 ปี
วัยนี้ผิวพรรณจะมีความยืดหยุ่นลดน้อยลง รวมถึงริ้วรอยต่าง ๆเริ่มปรากฏ มีจุดด่างดำ ใบหน้าหมองคล้ำ ดังนั้น นอกจากการล้างหน้าเพื่อทำความสะอาดเครื่องสำอางแล้ว ควรใช้สครับและมาร์คผิวหน้าอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
ส่วนผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ใช้ ควรมีส่วนผสมของกรดผลไม้หรือที่เรียกว่า AHA เพื่อจะช่วยกระตุ้นให้มีการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวใหม่และควรใช้ควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์ประเภท Whitening เพื่อเพิ่มความขาวสดใสให้กับผิวหน้า
ที่สำคัญควรใช้ครีมบำรุงผิวรอบดวงตาและริมฝีปากด้วย หากมีริ้วรอยใต้ตา ควรใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อครีม ถ้ามีรอยบวมและรอยคล้ำใต้ตาควรใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทเจล
3.วัย 40 ถึง 50 ปี
จะพบว่าในช่วงวัยนี้ผิวจะแห้งลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดริ้วรอยต่าง ๆได้ง่าย รูขุมขนก็จะปรากฏอย่างชัดเจน เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปและมีความเครียดเพิ่มขึ้น สิ่งต่าง ๆ เริ่มเสื่อมสภาพลง
ดังนั้นจึงต้องดูแลผิวพรรณเป็นพิเศษ เวลาทำความสะอาดผิวหน้า ควรทำความสะอาดเครื่องสำอางให้หมดจด ขัดผิวสัปดาห์ละครั้งและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารแอนตี้ออกซิเด้นท์ ซึ่งช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ผิวให้ช้าลง และช่วยฟื้นฟูสภาพผิวที่มีริ้วรอยเหี่ยวย่นได้ยิ่งดี
4.วัย 50 ปีขึ้นไป
เป็นวัยที่มีผิวพรรณที่มีความสูญเสียความชุ่มชื้น และความยืดหยุ่นอย่างชัดเจน ใบหน้าจะเริ่มมีตกกระ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเป็นกระบวนการของเม็ดสีผิวทำงานไม่สมบูรณ์ รวมถึงผิวจะผลิตคอลลาเจนน้อยลง จึงทำให้เห็นริ้วรอยที่เหี่ยวย่น โดยเฉพาะบริเวณหางตา มุมปาก คาง และจมูก
ดังนั้นควรเอาใจใส่จุดเหล่านี้เป็นพิเศษ นอกเหนือจากการทำความสะอาดแล้ว ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีความเข้มข้นสูง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และผลิตภัณฑ์ที่ควรเน้นเป็นพิเศษคือ ผลิตภัณฑ์ประเภทเซรั่ม ซึ่งจะช่วยทำหน้าที่เร่งการทำงานของมอยส์เจอร์ไรเซอร์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ผิวไม่แห้งและริ้วรอยต่าง ๆ ก็จะจางลงทำให้ผิวหน้าแลดูอ่อนกว่าวัย
ที่มาและการอ้างอิง
นิตยสารขวัญเรือน 941
ศาสตร์แห่งการประทินผิว โดย พิมลพรรณ อนันต์กิจไพศาล