วันพฤหัสบดี, 9 มกราคม 2568

8 เหตุผล ทำไมเราต้องกรวดน้ำ

การกรวดน้ำ” เป็นสิ่งที่เราปฏิบัติกันมาแต่อดีตกาล เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปยังอีกภพภูมิ แต่อีกหลาย ๆ คนก็กรวดน้ำเพื่อตัดกรรม หรือขอตัดกรรมด้วยเช่นกัน อีกนัยยะหนึ่งกล่าวว่า หากผู้ใดก็ตามได้ปฏิบัติธรรมจนมีจิตที่ละเอียดมากพอแล้ว เค้าผู้นั้นก็จะสามารถอุทิศบุญกุศลโดยการภาวนาได้เลย โดยไม่ต้องกรวดน้ำ ดังนั้นเรามาเรียนรู้กันเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น ว่าทำไมเราต้องกรวดน้ำ และผลที่ได้มีมากกว่าการอุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลมีอะไรบ้าง 8 เหตุผลนี้จะทำให้คุณเข้าใจการกรวดน้ำมากยิ่งขึ้น

 

 

1.จิตใจจะเป็นสมาธิจดจ่ออยู่กับสายน้ำ

การใช้น้ำในการเป็นสื่อกลางเพื่อส่งต่อบุญกุศลไปยังผู้ล่วงลับ อย่างที่เห็นกันนั้น แท้จริงแล้ว “น้ำ” เป็นเพียงกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ทำให้คนที่จะอุทิศบุญมีจิตใจที่สงบนิ่ง เพราะเวลาที่เทน้ำลงไปในภาชนะที่รองรับ สายน้ำที่ไหลไปไม่ขาดสายขณะที่กรวดน้ำนั้น ก็เพื่อให้ผู้กรวดน้ำมีสมาธิ มีการตั้งจิตให้ตรง ไม่วอกแวกหวั่นไหว ให้จิตจดจ่ออยู่กับสายน้ำที่เทลงไป เพราะการจะอุทิศบุญให้กับผู้ล่วงลับหรือสรรพสัตว์ทั้งหลายจำเป็นอย่างยิ่งว่า ต้องมีสมาธิ มีจิตตั้งมั่นในระดับหนึ่ง ซึ่งจะแสดงถึงเจตนาที่จะมอบให้หรือยกบุญนั้นให้กับผู้อื่น

 

2.ทำให้จิตมีความละเอียดในการส่งต่อบุญ

การที่จิตเป็นสมาธิ จะทำให้จิตนั้นมีความละเอียดขึ้นเพราะบุญนั้นเป็นของละเอียด เป็นของที่ไม่สามารถจับต้องได้ ฉะนั้นการจะยกบุญให้ดวงจิตในภพภูมิอื่น ก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกันว่า จิตใจนั้นจะต้องมีความละเอียดเช่นเดียวกับของที่มอบให้ด้วย จะเห็นได้ชัดเจนจากคนที่ปฏิบัติภาวนาอยู่เป็นประจำ มีความละเอียดของจิตมาก เวลาอุทิศบุญกุศลที่ได้จากการภาวนานั้น ก็จะสามารถแผ่ไปได้อย่างกว้างขวาง และไม่จำเป็นต้องใช้น้ำในการกรวดน้ำเพื่ออุทิศบุญ เพราะจิตใจมีความละเอียดมากอยู่แล้ว จึงเพียงน้อมจิตอุทิศบุญกุศลที่เกิดขึ้นไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น การใช้ “น้ำ” เป็นสื่อกลางในการกรวดน้ำนั้น ก็เป็นเพราะกุศโลบายเพื่อทำให้จิตใจเป็นสมาธิไม่หวั่นไหว

 

3.“น้ำ” เป็นสัญลักษณ์แห่ง “ความเมตตา”

กิริยาของการ “เทน้ำ” ก็เปรียบเสมือนกับการ “สละ” บุญกุศล ที่ตนได้ประกอบมาเพื่อมอบให้กับผู้ที่ตนต้องการจะมอบให้ “น้ำ” นั้นมีลักษณะของความเย็นสบาย และยืดหยุ่น เมื่อไปอยู่แห่งหนใดอยู่ในภาชนะใดก็สามารถอยู่ได้ จึงถือได้ว่า “น้ำ” เป็นสัญลักษณ์แห่ง “ความเมตตา” เห็นได้จากกรณีที่มีการสร้างหรือปลุกเสกวัตถุมงคลใดๆ ที่เน้นอานุภาพด้านเมตตา ก็จะมีการใช้ธาตุน้ำในการปลุกเสก นั่นก็เพราะความเย็น ที่สื่อให้เห็นถึงความใจเย็น การโอนอ่อนผ่อนตาม การยืดหยุ่น นำมาซึ่งความเมตตาปราณี การช่วยเหลือ การให้อภัย

 

ถ้าหากเป็นความร้อน ซึ่งเปรียบได้กับ “ไฟ” แล้วก็จะมีอนุภาคที่ตรงข้ามกับความเย็น คือ การมีโทสะ ความโกรธ การจองเวร ความอาฆาตพยาบาท ดังที่เปรียบเปรยกันถึงไฟนรกที่มีแต่ความร้อน ย่อมทำให้กระวนกระวายใจ ไม่เป็นสุข เพราะฉะนั้นความเย็นของน้ำจึงเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง การมีเมตตา และการอภัย ไม่ว่าจะเป็นการให้อภัย หรือการขออภัย จากคนที่จะอุทิศบุญไปให้ เช่น เราจะขออภัยหรือขออโหสิกรรมแก่เจ้ากรรมนายเวร ก็ต้องกรวดน้ำอุทิศบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวร เสมือนเป็นการใช้ความเย็น ความอ่อนโยน เป็นสิ่งที่สื่อไปถึง

 

4.”น้ำ” เป็นสัญลักษณ์ทั้งการ “ให้อภัย” และ “การขอให้อภัย”

ในเรื่องของการกราบขอขมาลาโทษต่อผู้ใหญ่ไปพร้อมๆ กับการขอพรจากผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือการอวยพรให้ผู้ใหญ่นั้น จะเห็นว่า มีการเทน้ำลงบนมือของผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นกิริยาที่แสดงให้เห็นถึง การขออภัย ขออโหสิกรรมกับสิ่งที่ล่วงมาพร้อมๆ ไปกับคําอวยพร หรือขอพรจากผู้ใหญ่ด้วย และการที่ผู้ใหญ่ให้พรนั้น ก็สื่อถึงความเมตตาด้วย การอุทิศบุญด้วยทำกิริยากรวดน้ำให้แก่เจ้ากรรมนายเวรนั้นก็เปรียบเสมือนว่า เราทำผิดต่อใคร แล้วขออภัยในการกระทำนั้นต่อเขาพร้อมๆ กับการซื้อของไปฝาก ย่อมทำให้ใจเขาเย็นขึ้น จากที่เคยโกรธมากก็จะโกรธน้อยลง จากที่โกรธน้อยลงก็จะให้อภัยในที่สุดโดยเฉพาะหากเราได้ขออภัยเขาบ่อยๆ

 

 

 

5.การกรวดน้ำการให้ โดยการสละออกของใจเราเอง

การอุทิศบุญโดยใช้กิริยาการกรวดน้ำเป็นสื่อนั้น นอกจากจะเป็นการให้บุญให้กุศลแก่เจ้ากรรมนายเวรพร้อมกับการขออโหสิกรรมแล้ว ยังเป็นการให้ โดยการสละออกของใจเราเอง คือ เป็นการลดความตระหนี่ในบุญ เพราะหลายคนที่เกรงว่าเมื่ออุทิศบุญไปแล้ว บุญที่ตนได้ทํานั้นจะหมดไปนั้น ส่วนนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะการให้บุญก็เท่ากับเป็นการให้ทาน เมื่อยิ่งให้ก็ยิ่งได้ เปรียบได้กับการต่อคบเพลิง ที่ต่อไปเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งสว่างไสวมากเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อตัวเราเองในแง่ของการสละ เพราะนอกจากจะลดความตระหนี่ถี่เหนียวในบุญแล้ว ยังถือว่าเป็นการสละซึ่งความกังวลใจต่างๆ ความทุกข์ต่างๆ ให้ออกไป ด้วยความเชื่อความศรัทธาว่าบุญกุศลที่ทำไปแล้ว ได้อุทิศให้แก่เจ้ากรรมนายเวร หรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย จะนำมาซึ่งความสุขจึงเป็นผลดีด้านจิตใจ ให้รู้จักคิดบวก เมื่อคิดบวก จิตใจก็สบาย จากที่เคยมีปัญหาในเรื่องต่างๆ ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้

 

6.ผลจากการกรวดน้ำจะทำให้จิตใจเราสบายปล่อยวางได้

การที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็เพราะการไม่รู้จักวางในความคิด เช่น คิดว่าปัญหานี้ใหญ่เกินไปไม่สามารถแก้ไขได้ เมื่อคิดซ้ำๆ ย่อมเกิดอกุศลกรรม คือความคิดด้านลบสม่ำเสมอ ทำให้ใจเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์แล้ว ก็จะไม่สามารถมองหาทางออกได้ ฉะนั้นเมื่อได้ประกอบบุญกุศลด้วยการกรวดน้ำ อุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวรหรืออุทิศให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตามความเชื่อความศรัทธาของตน ด้วยความเชื่อความศรัทธานั้น จะเป็นพลังงานด้านบวกที่ทำให้จิตใจของเราสบายได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

แม้ว่าผลแห่งการกระทำ หรือผลแห่งกรรม ที่จะต้องได้รับอยู่ ณ ปัจจุบัน จะไม่สามารถบรรเทาได้ทันท่วงทีก็ตาม แต่ถ้าเมื่อใดจิตใจสบาย ปราศจากความทุกข์ ความกังวลต่างๆ แล้ว ความเป็นกุศลจะเข้ามาแทนที่ความเป็นอกุศล และด้วยความเป็นกุศลนั้นเองที่จะสามารถบรรเทาวิบากกรรมต่างๆ ได้

 

7.”น้ำ” มีลักษณะของการหล่อเลี้ยงหรือชุบชีวิต

“ชีวิต” ในที่นี้รวมทั้งจิตวิญญาณด้วย เพราะ “ธาตุน้ำ” เป็นธาตุหลักในธาตุ 4 ที่ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่ง หากขาดน้ำแล้ว ความมีชีวิตก็ไม่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้า หรือแม้กระทั่งชีวิตคนก็ตาม อีกกรณีหนึ่งที่เหตุต้องใช้น้ำเป็นสื่อนั้น ก็ถือเอาพุทธประวัติเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าผจญกับพญามาร และพระองค์ได้กล่าวอ้างพระแม่ธรณีเป็นพยานในบารมีที่พระองค์ได้บำเพ็ญมา กระทั่งพระแม่ธรณีปรากฏกายแล้วบีบมวยผม แสดงให้เห็นถึงบารมีของพระพุทธองค์ จนน้ำพัดพาพญามารให้ปราชัย อีกกรณีหนึ่งก็คือ การถือตามประวัติของพระเจ้าพิมพิสาร ที่พระองค์ได้ทรงหลั่งทักษิโณทกให้แก่เหล่าอดีตญาติที่เกิดเป็นเปรต

 

อย่างไรก็ดีการใช้น้ำ หรือไม่ใช้น้ำเป็นสื่อก็สามารถอุทิศบุญกุศลไปให้ถึงแก่ผู้ล่วงลับหรือสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่า เจตนาของผู้ประกอบกุศลจะต้องการอุทิศให้หรือไม่ และอยู่ที่จิตมีความเป็นสมาธิมากน้อยเพียงใด เพราะถ้าจิตมีความเป็นสมาธิ กุศลนั้นย่อมแผ่ไปได้ไพศาลเพราะจิตมีความละเอียด ฉะนั้นการเจริญภาวนาแล้วอุทิศบุญกุศลไปให้แก่เจ้ากรรมนายเวรหรือสรรพสัตว์ทั้งหลายก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องใช้น้ำเป็นสื่อกลาง เพราะถือว่าการเจริญภาวนานั้นเป็นบุญที่ละเอียด กอปรกับจิตที่ละเอียดแล้ว กุศลย่อมแผ่ไปไม่มีประมาณ

 

ที่มาและการอ้างอิง

กรวดน้ำแก้กรรม โดย แก้วธารา