ถ้ามีแผนที่จะสร้างบ้านหลายหลังในพื้นที่เดียวกัน การวางตัวบ้านถือว่าสำคัญมากเพราะในทางฮวงจุ้ยจะมีหลักให้พิจารณาอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน
1.กำหนดบ้านประธานขึ้นมาก่อน
หลักฮวงจุ้ยบอกว่า การปลูกสร้างบ้านหลายหลังอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะต้องกำหนดบ้านประธานขึ้นมาก่อน บ้านหลังอื่นๆก็จะเป็นบริวารไป ไม่ว่าจะมีอีกทีหลังก็ตาม
2.จัดองค์ประกอบของบ้านประธาน
ลักษณะของบ้านที่เป็นประธานเป็นอย่างไร การจัดองค์ประกอบของบ้านประธานจะขึ้นอยู่กับจำนวนบ้านทั้งหมดที่จะสร้างว่ามีกี่หลัง ถ้าบ้านมี 2 หลังประธานจะต้องใหญ่กว่า ถ้าบ้านมี 3 หลัง ประธานจะต้องอยู่ตรงกลาง หรือมากกว่า 3 หลัง บ้านประธานจะต้องอยู่ด้านหลังของพื้นที่บ้าน บริวารจะอยู่ด้านหน้า การกำหนดบ้านประธานถือว่าสำคัญมาก เพราะถ้าบ้านไม่มีประธานก็จะมีสภาพตัวใครตัวมัน ความสมัครสมานสามัคคีในครอบครัวก็จะลดน้อยลงไป เสมือนไม่มีหัวหน้าบ้าน ประธานจะเป็นจุดรวมกิจกรรมของบ้านแต่ละหลังที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
3.ตำแหน่งของบ้านประธานจะต้องอยู่ในชัยภูมิที่ดี
การวางตำแหน่งของบ้านประธานจะต้องอยู่ในชัยภูมิที่ดีและปลอดภัย ส่วนใหญ่บ้านประธานจะอยู่ตรงกลางหรือด้านในสุดของที่ดินมากกว่าจะสร้างด้านหน้า หลักฮวงจุ้ยตำแหน่งใหญ่สุดจะอยู่ด้านหลังเสมอ โดยมีตำแหน่งบริวารอยู่ด้านหน้าและด้านหลังด้านซ้ายและขวา
ห้ามวางบ้านประธานอยู่ในแนวปะทะกับประตูทางเข้า ยกเว้นจะมีสนามด้านหน้ากว้างมากๆ แล้วจัดทำเป็นวงเวียนหรือน้ำพุเอาไว้บริเวณหน้าบ้านประธาน
4.สร้างน้ำพุเอาไว้ตรงกลางถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก
การที่มีบ้านหลายหลังอยู่ในพื้นที่เดียวกัน การสร้างน้ำพุเอาไว้ตรงกลางถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะจะหมายถึงความกลมเกลียวกันระหว่างญาติพี่น้อง โดยใช้น้ำพุเป็นจุดศูนย์รวม เพราะลักษณะน้ำพุจะกระจายออกไปโดยรอบบ้าน และบ้านทุกหลังก็จะได้ใช้ประโยชน์จากน้ำเท่าๆกัน ไม่เหมือนกับน้ำตกหรือสัตว์น้ำทั่วไปซึ่งอาจจะได้ประโยชน์เพียงจุดเดียว
5.ห้ามสร้างบ้านในลักษณะซ้อนกัน
ห้ามสร้างบ้านซ้อนกัน เป็นอีกหนึ่งข้อห้ามที่ไม่ควรทำ เพราะบ้านที่ถูกซ้อนกันหน้าบ้านจะถูกปิดบังกระแสชี่ที่ดีได้จะทำให้ ”ชี่” ไหลเข้าบ้านไม่เต็มที่ ยกเว้นจะมีระยะห่างกันมากพอสมควร หลักฮวงจุ้ยจะพูดไว้เสมอว่าหน้าบ้านจะต้องโล่งไม่มีอะไรมาปิดบังหรือขวางกั้น ก็จะทำให้ลมและแสงแดดเข้าบ้านได้อย่างเต็มที่ส่งผลให้คนในบ้านมีสุขภาพดี
6.ห้ามสร้างบ้านให้ประจันหน้ากัน
อย่าสร้างตัวบ้านประจันหน้ากัน พยายามหลีกเลี่ยงที่จะวางบ้านในลักษณะที่ห่างตัวบ้านประจันหน้ากัน เพราะจะส่งผลเสียในเรื่องของการทะเลาะเบาะแว้ง ความสามัคคีของคนในบ้านทั้งสอง ในทางฮวงจุ้ยเรียกว่า “ชง” หรือ “ปะทะ” แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องวางจริงๆ ก็ให้เว้นที่เพื่อทำน้ำพุระหว่างบ้านทั้งสองหลังก็จะช่วยได้
7.รูปทรงของบ้านควรออกแบบให้มีสไตล์เดียวกัน
รูปทรงของบ้านแต่ละหลังควรจะมีรูปแบบหรือสไตล์เดียวกัน ไม่ควรสร้างบ้านหลากสไตล์ เช่น ทรงบ้านยุโรปบ้าง ไทยบ้าง ปะปนกันในพื้นที่เดียวกัน เพราะจะทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ เข้าค่ายต่างคนต่างอยู่ ความสมัครสมานสามัคคีก็ไม่เกิดในหมู่ญาติพี่น้อง แต่ถ้าบ้านมีรูปแบบเดียวกัน ในทางฮวงจุ้ยจะถือว่ากลุ่มบ้านนั้นจะมีกำลังมีศักยภาพเสมือนเป็นทีมเดียวกัน บ่งบอกถึงความมั่นคงแข็งแรงของสถาบันครอบครัว
ฮวงจุ้ยสร้างบ้านหันหน้าไปในทิศทางที่ดีที่สุด
ความเชื่อของคนจีนกับทิศทางหน้าบ้าน ตามหลักฮวงจุ้ยของจีน ฮวงคือ ลม จุ้ย คือ น้ำ การหันหน้าบ้านไปทางทิศใต้จะเป็นทิศที่ดีที่สุด เพราะเป็นทิศที่มีกระแสลมพัดผ่านได้เกือบตลอดทั้งปี โดยคนจีนที่นิยมประกอบอาชีพค้าขายมีความเชื่อว่าลมจะพัดพาเอาพลังงานที่ดีมาสู่ตัวบ้านทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้า
ทำไมต้องหันหน้าบ้านไปทิศใต้
ในช่วงหน้าหนาวอากาศในจีนจะหนาวมาก เลยไม่นิยมหันไปทางทิศเหนือ เพราะจะมีกระแสลมมาทางทิศนี้มากเป็นพิเศษ ถ้าหันหน้าบ้านไปทางทิศใต้ก็จะได้รับแสงแดดส่องเข้ามาช่วยให้ลดความหนาวเย็นลง
ความเชื่อของคนไทยกับทิศทางหน้าบ้าน
อากาศในเมืองไทยนั้นค่อนข้างร้อน จะหันหน้าบ้านไปทางทิศใต้แบบคนจีนก็จะทำให้เกิดความไม่สมดุลในบ้านได้ การเลือกหันไปทางทิศเหนือ หรือ ทิศตะวันออกจะทำให้ได้รับพลังงานที่ดีมากกว่า เพราะแสงอาทิตย์ช่วงเช้าทางทิศตะวันออกไม่ร้อนมาก และการทำอาชีพก็ไม่ได้เน้นค้าขายแบบคนจีน
ความจริงแล้วในการก่อสร้างบ้าน ในบางครั้งสภาพแวดล้อมในการก่อสร้างอาจจะทำให้ไม่สามารถหันหน้าบ้านไปตามทิศทางที่ดีตามหลักฮวงจุ้ยได้ ถ้าบ้านหลังไหนจำเป็นต้องหันหน้าบ้านไปทางทิศใต้หรือทิศตะวันตกก็ให้แก้ไขได้โดยปลูกต้นไม้เพื่อลดอุณหภูมิลงในช่วงหน้าร้อน โดยต้นไม้ไม่ควรบังหน้าบ้านจดปิดทางลมมากเกินไป ซึ่งจะเป็นการปิดรับพลังงานที่ดี
หากต้องการปรับสมดุลภายในบ้านให้เย็นสบายมากขึ้น ควรจะวางผังบ้านโดยทิศใต้ของบ้านเป็นห้องน้ำ ห้องครัว ราวตากผ้าเพราะทิศนี้จะโดนแสงแดดเยอะ เป็นต้น ส่วนห้องนอน ห้องนั่งเล่นควรอยู่ในทิศตะวันออกและทิศเหนือเพราะอุณหภูมิค่อนข้างเย็นเหมาะสำหรับมุมพักผ่อน
ที่มาและการอ้างอิง
ฮวงจุ้ยการสร้างบ้าน-ต่อเติมบ้าน โดย มาโนช ประภาษานนท์