วันพฤหัสบดี, 28 พฤศจิกายน 2567

7 ข้อควรรู้ เรื่องสุขภาพของคุณแม่ที่ให้นมลูก

23 ก.พ. 2018
2412

แม่ที่ให้นมลูก ควรหมั่นดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ ดังนั้นคุณแม่ควรปล่อยมือจากงานบ้านหรือหาผู้ช่วยชั่วคราว ปล่อยวางความเครียดกินและดื่มน้ำรวมถึงเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ในกรณีที่ต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ที่มีความรู้เรื่องนมแม่ เพราะปัญหาที่พบบ่อยคือแพทย์ที่ไม่มีความรู้เรื่องนมแม่ มักแนะนำให้แม่หยุดให้นมในช่วงที่รับยา ทั้งที่ความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องงดการให้นม หรือบางครั้งแพทย์อาจไม่ให้การรักษาแม่อย่างเต็มที่ โดยอ้างว่าตัวยาจะมีปัญหากับน้ำนมทำให้อาการเจ็บป่วยของแม่ไม่ดีขึ้น ความจริงแล้วยาที่มีปัญหากับการให้นมแม่มีจำนวนน้อยมาก ทีนี้เรามาดู 7 ข้อควรรู้ เรื่องสุขภาพของคุณแม่ที่ให้นมลูก

 

 

1.ขนาดของเต้านม

แม่ที่มีหัวเต้าเล็ก อาจกังวลว่าจะมีน้ำนมน้อยไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เต้านมขนาดใหญ่มีไขมันมากกว่าเต้านมขนาดเล็ก แต่ไม่ได้หมายความว่ามีต่อมน้ำนมมากกว่าคนที่มีเต้านมใหญ่มาก อาจมีปัญหาเด็กดูดนมไม่ถนัด ซึ่งเรื่องนี้สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้

 

2.หัวนมสั้นหรือบอด

หัวนม เป็นเพียงตำแหน่งที่ให้รู้ว่าตรงนี้มีน้ำนมไหลออกมา แม่ที่มีหัวนมสั้นไม่ต้องกังวลใจ เพียงแต่คอยดูแลไม่ให้ลานนมแข็ง กรณีที่หัวนมบอดควรแก้ไขตั้งแต่ก่อนคลอด โดยการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งอาจได้รับคำแนะนำให้ใส่ปทุมแก้วไว้ใต้เสื้อชั้นในเป็นการบริหาร เพื่อกระตุ้นให้หัวนมยื่นออกมาในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนคลอด

 

3.การออกกำลังกาย

เมื่อสุขภาพดีร่างกายจึงกลับเข้าที่ดีขึ้น ทำให้อารมณ์ของแม่ดีขึ้นแน่นอน การออกกำลังด้วยการเดินเร็วโดยมีทารกอยู่ในเป้อุ้มครั้งละ 30 นาที 3 ถึง 4 ครั้งต่อสัปดาห์ เต้นแอโรบิค ยกน้ำหนัก ฝึกโยคะเสื่อ เต้นฟิตเนส แม่ลูกอ่อนสามารถทำได้และสารที่หลั่งออกมาเวลาที่แม่ออกกําลังกาย ไม่พบว่ามีปัญหากับน้ำนมแต่อย่างใด

 

4.การเปลี่ยนแปลงของเต้านม

เมื่อคลอดใหม่ๆเต้านมของแม่จะขยายใหญ่ขึ้น จนบางคนกลัวว่าจะไม่สามารถกลับมาเท่าเดิมได้ ความจริงคือเต้านมจะลดลงจนกลับมามีขนาดเท่าเดิมได้ในเวลาไม่นานเมื่อเลิกให้นม ดังนั้นไม่ควรกังวลกับขนาดแต่ควรกังวลกับเรื่องการหย่อนคล้อย อันเนื่องมาจากน้ำหนักของเต้านมมากกว่า เพื่อป้องกันปัญหานี้ควรเลือกเสื้อชั้นในที่พยุงรับน้ำหนักอย่างเหมาะสมตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ และควรเลือกชนิดที่มีฝาเปิดปิดได้ง่ายจากด้านหน้าโดยใช้มือเดียว

 

5.อาหารของแม่ขณะให้นม

นี่อาจเป็นอีกเหตุผลที่แม่จะไม่มั่นใจที่จะให้นมลูก เพราะรู้สึกว่ายุ่งยากกับการต้องจัดหาเมนูอาหารของตัวเองใหม่หมด ความจริงก็คือแม่รับประทานอาหารได้ตามปกติแค่ระวังเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น ถ้าสังเกตพบว่าเวลาที่แม่รับประทานอาหารรสเผ็ด เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน ช็อกโกแลตหรือพวกนมวัว จะทำให้เด็กเป็นผื่นปวดท้องร้องโยเย หากพบว่าเด็กมีอาการแพ้ควรหลีกเลี่ยงหรือปรับเปลี่ยนเมนูของแม่ใหม่

 

ส่วนกรณีของแม่ที่รับยาบางอย่าง แม้จะมีสารปนเปื้อนออกมาทางน้ำนมก็จริง แต่ไม่มีผลต่อสุขภาพของเด็กแม้แต่น้อย ยกเว้นการสูบบุหรี่ที่ไม่ดีต่อสุขภาพแม่และลูก รวมถึงทั้งก่อนและหลังจะดื่มไวน์หรือเบียร์ถ้าแค่วันละ 1-2 แก้วเวลาออกงานสังคมไม่มีอันตรายต่อการให้นมลูก แต่ต้องระวังการเผลอดื่มในปริมาณมากและหากดื่มทุกวันอาจแสดงว่าแม่มีปัญหาหรือติดแอลกอฮอล์จึงควรหลีกเลี่ยง

 

คุณแม่ควรได้รับปริมาณแคลเซียมให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มากพอ เพราะจะกระหายน้ำมากขึ้น รับประทานผักผลไม้ธัญพืชเพื่อให้ได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นรวมถึงเส้นใยอาหารที่ดีต่อระบบลำไส้ของแม่ ส่วนการรับประทานยาบำรุงที่หมอให้ตั้งแต่ตั้งครรภ์นั้น สามารถรับประทานต่อได้ แต่ไม่ควรมากเกินไป เพราะอาจเป็นอันตรายได้ หากอาหารที่คุณแม่รับประทานครบ 5 หมู่แล้วการกินวิตามินเสริมหรือน้ำมันปลาไม่จำเป็นแต่อย่างใด

 

6.ความเหน็ดเหนื่อยจากการให้นม

แม่หลังคลอดไม่ว่าจะให้นมลูกเองหรือให้นมขวดก็ตาม ล้วนเกิดความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยได้ ยิ่งแม่ที่ให้นมลูกอาจต้องเสียพลังงานเพื่อการผลิตน้ำนม แม่จึงควรได้อาหารเพิ่มขึ้น การที่แม่ให้นมลูกอาจต้องเสียพลังงานเพื่อการผลิตน้ำนม แม่จึงควรได้อาหารเพิ่มขึ้น ถ้าแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขโดยปกติจะเจริญอาหารโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนแม่ผู้เหน็ดเหนื่อยไม่สบายใจหรือน้ำหนักลดลงมากผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

หากแม่เหนื่อยจากการให้นม จากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ จากการให้นมลูกในตอนกลางคืน สามีควรเข้ามาช่วยแบ่งเบา เช่น ป้อนนมแม่จากขวดตอนกลางคืน เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกเวลาฉี่ ดังนั้นคุณแม่อาจมีความเหนื่อยล้าตั้งแต่ลูกอายุ 4-6 เดือน หลังจากนั้นความเหน็ดเหนื่อยของแม่ก็จะบรรเทาลง

 

7.ประจำเดือนและการตั้งครรภ์ช่วงให้นม

แม่บางคนจะยังไม่มีประจำเดือนขณะให้นมจนกระทั่งอายุ 1 ขวบ – 1 ขวบครึ่ง ในบางคนกลับมามีประจำเดือนสม่ำเสมอ เวลาที่ไม่มีประจำเดือนอาจทำให้ทารกบางคนกินนมแม่น้อยลง ช่วง 6 เดือนแรกที่ทารกยังกินนมแม่เหมือนจะเป็นช่วงที่ร่างกายถูกคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ แต่หลัง 6 เดือนเมื่อเด็กเริ่มรับอาหารตามวัยเด็กจะกินนมแม่น้อยลง ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลง ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม

 

 

ที่มาและการอ้างอิง

คำภีร์เลี้ยงลูก ดร.สป๊อก-นายแพทย์เบนจามิน สป๊อก (เขียน).แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ (แปล)