วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

8 ข้อภาวะเด็กปัญญาอ่อนที่ควรทำความเข้าใจ

05 มี.ค. 2018
2706

เด็กปัญญาอ่อนอาจไม่ได้เป็นตลอดไป หากแต่เพียงแค่มีพัฒนาการช้ากว่าที่ควรจะเป็น  หรือที่เรียกว่า “อาการความบกพร่องทางสติปัญญา

 

 

ดังนั้นพ่อแม่ควรหมั่นสังเกตและคอยปรึกษาครูที่โรงเรียนอยู่เสมอ เพื่อหาทางออกร่วมกัน เขาอาจเพียงแค่ไม่สนใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่าใด แต่กลับมีความสามารถที่จะทำบางอย่างได้ดีมากกว่า แต่หากเด็กมีภาวะทางกายที่ไม่สมบูรณ์ร่วมด้วย ก็ต้องทำการรักษาโดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้การรักษาอย่างถูกต้อง

 

1.ภาวะปัญญาอ่อน เป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากสังคม

คำว่าเด็กปัญญาอ่อน เป็นคำพูดที่คล้ายการดูถูกดูหมิ่นหรือเหยียดหยาม มีความพยายามหาคำพูดที่ใช้เรียกคนที่มีสติปัญญาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เช่น พัฒนาการช้า หรือมีความด้อยด้านความคิด หรือคำอื่นๆ แต่การเปลี่ยนไปใช้คำอื่น อาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนด้านความเข้าใจในเนื้อหาที่ต้องการสื่อสาร จึงไม่จำเป็นต้องเลี่ยงไปใช้คำอื่น

 

เราควรเปลี่ยนวิธีคิดที่มีต่อเด็กกลุ่มนี้มากกว่า ว่าเป็นเพียงภาวะการอย่างหนึ่ง คล้ายกับปัญหาตาบอดหรือหูหนวกที่เด็กจะอยู่ได้ยากในสังคมหากปราศจากการช่วยเหลือจากผู้อื่น แต่หากได้รับความช่วยเหลือ เด็กกลุ่มนี้ก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพอื่นๆในตัวเอง มีความรักและได้รับความรัก และสามารถตอบแทนกลับต่อสังคมที่อาศัยอยู่ ดังนั้นภาวะปัญญาอ่อนจึงไม่ควรเป็นเรื่องที่น่าอับอาย

 

2.เด็กบางรายใช้เวลานานในพิจารณาภาวะปัญญาอ่อน

เด็กปกติจำนวนไม่น้อย มีความเป็นไปได้ที่จะมีพัฒนาการช้ากว่าเกณฑ์เฉลี่ย เช่น เดินช้า พูดช้า แต่นั่นไม่ได้หมายถึงความผิดปกติในอนาคต เพราะที่สุดแล้วเด็กเหล่านี้จะสามารถพัฒนาได้เหมือนเด็กคนอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยววชาญหรือครูฝึก แต่เด็กบางคนแม้เวลาผ่านไปก็ยังทำไม่ได้ ทำให้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นเด็กปัญญาอ่อน ซึ่งส่วนใหญ่บอกได้เมื่อเด็กอายุ 1-2 ขวบ แต่บางคนดูอาการยากต้องรอจนเข้าโรงเรียนจึงทราบ

 

3.สังเกตว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด 

นิยามของคำว่า “ปัญญาอ่อน”  มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งการจะบอกว่าปัญญาอ่อนหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ใช้ผลทดสอบ iq เป็นตัววัดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูความสามารถของเด็กในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การช่วยเหลือตัวเอง การกิน การแต่งตัว การสื่อสารกับผู้อื่น และการแสดงความคิด การเรียนหนังสือ การทำงานบ้าน

 

ในอดีตมีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ช้ากว่าปกติเล็กน้อย ช้ากว่าปกติปานกลาง และช้ากว่าอย่างมาก ปัจจุบันหลีกเลี่ยงการแบ่งดังกล่าว เพื่อป้องกันการเป็นตราบาปติดตัว หรือทำให้เด็กรู้สึกอับอาย แต่จะใช้วิธีประเมินว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด เช่น ต้องการเฉพาะเวลาที่ไปโรงเรียนหรือต้องการตลอดเวลา

 

4.สาเหตุของเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการช้า หากได้รับการกระตุ้นอาจดีขึ้นได้

ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจระบุสาเหตุได้ชัดเจน เช่น สมองพิการมาแต่กำเนิด โรคหัดเยอรมันในหญิงตั้งครรภ์ โรคโครโมโซมผิดปกติ แต่หากมีอาการรุนแรงน้อย จะระบุสาเหตุได้ยาก

 

เป็นที่ทราบดีว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อสมอง เช่น ได้รับสารตะกั่วหรือปรอท ขาดสารอาหารจำเป็น เช่น ไอโอดีน เหล็ก ได้รับแอลกอฮอล์หรือบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ แต่ส่วนใหญ่มักไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ขณะที่บางรายเกิดจากการขาดการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม เช่น การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง แต่เมื่อได้รับการกระตุ้นแล้วเด็กจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้

 

 

5.ค้นหาว่าเด็กพัฒนาการช้าว่าแท้จริงแล้วเค้าต้องการอะไร

ความรักและการยอมรับทำให้เด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง ต้องการโอกาสในการประสบความสำเร็จ เด็กที่ชอบทำตัวเกเรเพื่อเรียกร้องความสนใจ ต้องการคำแนะนำว่าทำอย่างไรจึงเป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น เด็กที่ไม่มีเพื่อน ต้องการคำแนะนำในการเป็นที่ยอมรับและเป็นคนที่น่าสนใจ เด็กที่ดูเป็นคนเกียจคร้าน ต้องการการกระตุ้นให้มีความกระตือรือร้นมากขึ้น

 

ในอดีตชื่อว่าโรงเรียนมีหน้าที่สอนให้เด็กอ่าน คิด เขียน และจดจำข้อมูลต่างๆในโลกใบนี้ แต่ที่จริงแล้วคนเราไม่ได้เรียนรู้จากสิ่งที่จำ แต่เราเรียนรู้จากสิ่งที่ให้ความหมายแก่ตัวเรา

 

6.ครูเป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่จะสร้างพัฒนาการที่ดีให้เด็กได้

ครูที่สอนตามตำราโดยให้เด็กอ่านจากหนังสือ ช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้บ้าง แต่จะทำให้เด็กหัวดีรู้สึกเบื่อและทำให้เด็กหัวช้าตามไม่ทัน ทำให้เด็กที่เกลียดการเรียนมีโอกาสวอกแวกหันไปทำอย่างอื่น เช่น แกล้งเพื่อนในชั้นเรียน

 

ครูผู้สอนต้องมีการประยุกต์สอนได้ในทุกวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น เด็กอาจสนใจหัวข้อชนเผ่าต่างๆในประเทศสหรัฐอเมริกา ยิ่งเด็กรู้จักหลายเผ่าจะทำให้อยากรู้จักมากยิ่งขึ้น โดยการค้นคว้าจากหนังสืออื่น ๆ ด้วยตนเอง จากหนังสือได้เรียน อาจจะเป็นในเรื่องของหน่วยเงินตราที่เผานั้น ๆ ใช้ ตำแหน่งที่ปรากฏบนแผนที่  หรือในวิชาวิทยาศาสตร์เด็กที่ไม่ชอบวิชาเรขาคณิตแต่เขาอยากเป็นนักบิน หากมีคนบอกว่าวิชานี้จะช่วยให้เขาเป็นนักบินที่เก่งได้อย่างไร ก็จะทำให้เขาเปลี่ยนใจมาสนใจวิชานี้อย่างจริงจังได้

 

7.สอนให้เด็กรู้จักการเชื่อมโยงสิ่งที่ได้จากโรงเรียนกับโลกแห่งความจริง

โรงเรียนต้องการให้เด็กประยุกต์สิ่งที่เรียนในห้องออกไปใช้ในชีวิตจริงได้ จึงมีการทัศนศึกษาพาไปดูโรงงานที่ใกล้ๆ เชิญบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพมาให้คำแนะนำ ภาคเรียนเรื่องการผลิตอาหารครูจะพาไปดูวิธีการปลูก เก็บเกี่ยว การขนส่ง และการตลาด หากเรียนเรื่องการเมืองอาจไปดูรัฐสภาเป็นต้น การทำโครงการต่างๆที่ได้รับมอบหมาย เด็กๆต้องรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม รู้ขั้นตอนที่จะทำงานให้สำเร็จลุล่วงรู้วัตถุประสงค์ของการทำงาน ว่าไม่ใช่เพื่อส่งครู แต่เพื่อนเรียนรู้อะไรบางอย่างจากการทำงานนั้น

 

8.เด็กที่มีความต้องการพิเศษต้องการโรงเรียนที่เข้าใจเขา

โรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนที่ดี จะตอบสนองความต้องการของเด็กแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม เช่น เด็กที่มีปัญหาการเรียน อ่าน เขียน ได้ช้ากว่าเพื่อน เพื่อนในชั้น อาจทำให้รู้สึกอับอายไม่อยากไปโรงเรียน เพราะรู้สึกว่าเพื่อนมองว่าตัวเองเป็นเด็กโง่ บางครั้งแกล้งทำตัวแย่ๆเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเพื่อน

 

เด็กไปโรงเรียนไม่ได้เพื่อเรียนอ่านเขียนเท่านั้น หากสามารถแสวงหาที่ที่จะยอมรับตัวตนของเขา ยอมรับให้เข้ากลุ่ม ดังนั้นครูที่ดีจะคุยกับพ่อแม่ว่า เด็กมีจุดดีจุดเด่นอะไรบ้าง เช่น อาจพบว่าศิลปะเป็นสิ่งที่เด็กทำได้ดี ครูจึงให้เด็กทำงานกลุ่มเกี่ยวกับศิลปะ ทำให้เด็กได้แสดงความสามารถ เมื่อเด็กอยากเรียนรู้ศิลปะที่ลึกซึ้งมากขึ้น เขาจะพยายามอ่านเรื่องที่เขาสนใจมากขึ้น ทั้งๆที่เดิมทีเขาเกลียดการอ่าน จนเพื่อนๆเริ่มขอความช่วยเหลือด้านศิลปะจากเขา ทำให้เขารู้สึกเป็นที่ยอมรับและมีเพื่อนเพิ่มขึ้นในที่สุด

 

ที่มาและการอ้างอิง : คำภีร์เลี้ยงลูก,ดร.สป๊อก-นายแพทย์เบนจามิน สป๊อก (เขียน).แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ (แปล)