วันอังคาร, 7 มกราคม 2568

3 วิธีในการสร้างบ้านที่ส่งเสริมฮวงจุ้ยที่ดี

 

1.สร้างบ้านบนเนินฮวงจุ้ยเป็นเลิศ

หากเรามีที่ดินมากพอที่จะปรับระดับพื้นที่ดินให้มีลักษณะเป็นเนินเขาได้ ในทางฮวงจุ้ยจะบอกว่าบ้านนั้นจะมีฮวงจุ้ยเป็นเลิศ เพราะด้านบนเนินจะให้ความรู้สึกที่โดดเด่นเป็นสง่า เป็นจุดบัญชาการซึ่งเป็นลักษณะของผู้นำ ผู้มีบารมีสูง มองแล้วมีพลัง นอกจากนี้การที่บ้านสร้างอยู่บนพื้นที่สูง ย่อมให้ความหมายถึงความปลอดภัยมั่นคงอีกด้วย แต่มีข้อควรระวังอยู่ข้อหนึ่งก็คือ การปรับระดับของพื้นต้องไม่สูงจนเกินไป โดยพิจารณาจากระดับพื้นของที่ดินเป็นสําคัญ ระดับที่ปกติจะอยู่ประมาณ 80 cm ไม่เกิน 1 เมตร ระดับความสูงนี้จะผันแปรไปตามขนาดความกว้างของพื้นที่ด้วย ถ้ามีพื้นที่กว้างมากความสูงของเนินดินที่จะสร้างบ้านอาจสูงกว่ามาตรฐานนี้ก็ได้

 

ถ้าระดับความสูงของเนินดินมากเกินไป ก็จะทำให้ตัวบ้านสูงโดดเด่นจนเกินไป จะเข้าข่ายบ้านโดดเดี่ยว ตัวคนเดียว ไร้คนสนับสนุนพึ่งพิง พูดภาษาชาวบ้านก็จะบอกว่าทำตัวเด่นเกินชาวบ้านเขา ไม่มีใครชอบหน้าหรืออยากคบค้าสมาคมด้วย การเล่นระดับของเนินดินจะต้องปรับในลักษณะค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อย และเดินแล้วรู้สึกราบรื่น ไม่สะดุดหรือสูงชันเกินไป บ้านที่มีพื้นที่ไม่มาก จึงไม่ควรสร้างบ้านบนเนินเพราะการเล่นระดับของพื้นจะทำไม่ได้เลย และจะทำให้มีแต่ผลเสียมากกว่า

 

กรณีที่บ้านอยู่ในตำแหน่งที่มีถนนพุ่งเข้าชน ไม่ว่าจะเป็นถนนตรงหรือโค้ง การทำบ้านบนเนินถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย เพราะกระแสที่วิ่งมาปะทะบ้านเนินดินจะเป็นตัวป้องกันหรือเป็นกันชนเอาไว้ กรณีที่บ้านติดน้ำการสร้างบนเนินถือว่าควรทำอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันน้ำท่วมและน้ำเซาะตลิ่งหรือฐานของบ้านพัง ถ้ามองกันตามหลักความเป็นจริง บ้านที่สร้างบนเนินยังได้ประโยชน์ในอนาคตข้างหน้าด้วย เพราะอาจมีการยกถนนสูงขึ้นก็จะสามารถปรับพื้นที่ดินภายในบ้านได้ง่าย เพราะปัญหาเรื่องบ้านต่ำกว่าถนน จะเจออยู่บ่อยมากๆ โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ จะมีการปรับถนนหนีน้ำกันอยู่เสมอ

 

ถ้าบ้านไม่สร้างสูงเอาไว้ก่อน การจะมาปรับพื้นภายหลัง จะไม่สามารถทำได้เลยหรือทำได้ก็เป็นเรื่องยุ่งยากมาก ต้องมีการเปลี่ยนแบบบ้านใหม่หมด เพื่อยกพื้นให้สูงขึ้นมาในระดับเดียวกับถนน เพราะฉะนั้นถ้ามองการณ์ไกลสักหน่อยก็สร้างสูงเอาไว้ก่อนน่าจะเป็นเลือกที่ดีที่สุด

 

2.สร้างบ้านหลังเล็กหรือหลังใหญ่ขึ้นอยู่กับอะไร

การที่จะกำหนดขนาดของบ้าน ว่าควรจะสร้างหลังใหญ่แค่ไหน ความจริงเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง อย่างแรกก็คือ จำนวนคนที่จะไปอยู่ต้องเหมาะกับขนาดของบ้าน เพราะข้อบัญญัติในทางฮวงจุ้ยบอกไว้ว่า บ้านใหญ่คนน้อย บ้านเล็กคนมากล้น นำปัญหามาถึงบ้านด้วยกันทั้งนั้น บ้านหลังใหญ่มีคนอยู่น้อย จะตกสภาพความเป็น “หยิง” ที่มากเกินไป พูดง่ายๆก็คือบ้านนิ่งเกินไป มีสิ่งเคลื่อนไหวน้อย ความนิ่งในทางฮวงจุ้ยถือว่าไม่เจริญ มีแต่เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ เหมือนบ้านร้างที่ปล่อยทิ้งหรือสิ่งที่นิ่งตาย

 

บางคนปลูกบ้านหลังใหญ่มากสูงถึง 3 ชั้น แต่อยู่กันสองคน ชั้น 3 แทบไม่เคยเดินขึ้นไปเลย นอกจากฮวงจุ้ยจะไม่ดีแล้ว ยังเสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุ เราอาจสร้างบ้านแค่ 2 ชั้นก็พอ ส่วนบ้านหลังเล็กคนอยู่มาก จะก่อสภาพความเป็น “หยาง” มากเกินไป คือสิ่งที่เคลื่อนไหว เมื่อคนมากพื้นที่น้อย ก็จะก่อสภาพวุ่นวาย ทำให้คนในบ้านหงุดหงิด หรืออารมณ์เสียได้ง่าย ซึ่งจะนำไปสู่การกระทบกระทั่งมีปากเสียงกัน จนถึงขั้นทะเลาะวิวาทและแตกแยกกันในที่สุด เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า หลักฮวงจุ้ยจะพูดถึงหลักแห่งความสมดุล “หยินหยาง” จะต้องอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมกัน ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป บ้านหลังใหญ่ก็ควรที่จะมีคนอยู่มากพอกับพื้นที่ ส่วนบ้านหลังเล็ก ก็ไม่ควรมีคนมากจนเกินไป

 

ปัจจัยแรกคือเรื่องจำนวนคน คราวนี้มาดูปัจจัยเกี่ยวกับเรื่องประโยชน์ใช้สอย การจัดกำหนดบ้านให้มีขนาดใหญ่และแค่ไหนนั้นต้องถามตัวเองว่า จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่บ้านมากน้อยแค่ไหน ถ้าบ้านหลังใหญ่ถึงคนจะอยู่น้อยก็สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ ก็ถือว่าไม่ผิดหลักฮวงจุ้ยแต่อย่างใด ปัจจัยเรื่องประโยชน์ใช้สอยถือว่าสำคัญมาก บางคนปลูกสร้างบ้านหลังใหญ่ โดยการแยกส่วนใช้สอยออกไปรอบๆบ้าน เช่น มีสระว่ายน้ำ มีห้องออกกำลังกาย มีห้องรับแขก ถ้าเจ้าของบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้เฉยๆหรือนานๆใช้ที แบบนี้จะเข้าข่ายฮวงจุ้ยเสียได้

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ จำนวนของใช้ในบ้าน มีผลต่อการกำหนดขนาดของบ้านด้วย บ้านที่มีของมาก ย่อมทำให้พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านน้อยลงไปด้วย ซึ่งปัญหานี้ส่วนใหญ่จะเกิดหลังจากที่เข้ามาอยู่ในบ้านแล้ว จำนวนของก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยอยู่กันอย่างพอดีในตอนเข้ามาใหม่ๆ ก็จะเริ่มคับแคบทำให้บ้านหลังนั้นขาดความสมดุลไป ซึ่งเวลาจะสร้างบ้านเราอาจเผื่อพื้นที่สำหรับเก็บของใช้เอาไว้ด้วย เช่น ทำห้องเก็บของขึ้นมาโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นการจัดกำหนดขนาดของบ้านว่าควรจะสร้างใหญ่แค่ไหน ควรนำปัจจัยในเรื่องของจำนวนคน ประโยชน์ใช้สอย และจำนวนของภายในบ้านมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณา เราก็จะได้ขนาดบ้านตามความเหมาะสม ซึ่งจะก่อสภาพของ “หยินหยาง” ที่สมบูรณ์ ทำให้คนในบ้านอยู่กันอย่างมีความสุข

 

 

3.บ้านติดน้ำ หรือติดทะเลสาบ วางอย่างไรจึงจะเหมาะสม

คนที่มีพื้นที่ติดคลอง ติดแม่น้ำ ติดทะเลสาบ จะสร้างบ้านอย่างไร เพราะตามหลักฮวงจุ้ยบอกเอาไว้ว่า “บ้านนั้น ห้ามหลังบ้านเป็นน้ำ” 

 

ประเด็นนี้ ถ้ามีพื้นที่มากก็สามารถเลือกวางตัวบ้านได้ โดยให้ด้านซ้ายของตัวบ้านเป็นน้ำ เพราะด้านซ้ายของบ้านคือตำแหน่งมังกรเขียว ในทางฮวงจุ้ยถือว่าตำแหน่งมังกร เป็นตำแหน่งที่เคลื่อนไหว ถ้าเป็นน้ำซึ่งก็ถือว่าถูกหลัก แต่การพิจารณาแค่ตำแหน่งมังกรเพียงอย่างเดียว ก็ถือว่ายังไม่พอ ต้องเอาเรื่องของทิศทางเข้ามาพิจารณาด้วย ให้สังเกตว่าตำแหน่งที่เป็นน้ำนั้นเป็นทิศอะไร ถ้าเป็นทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่มีผลในเรื่องของแสงแดดโดยตรง การวางตัวบ้านลงในที่ดินที่ติดน้ำ จะต้องวางตัวบ้านให้ห่างจากน้ำพอสมควร ห้ามสร้างติดกับน้ำ เพราะจะได้รับผลกระทบจากแสงอาทิตย์ที่จะสะท้อนพื้นน้ำสาดเข้ามาในบ้าน เพราะคนในบ้านจะมีปัญหาเรื่องสายตาได้

 

ต้นน้ำก็เปรียบเสมือนกับกระจกเงาบานใหญ่ แสงที่สะท้อนจากน้ำจะรุนแรงมาก เพราะฉะนั้นจะต้องใส่ใจในเรื่องนี้ให้มาก ถ้าพื้นที่ดินไม่มีมากพอที่จะขยับตัวบ้านหลบแสงสะท้อนจากน้ำได้ ก็ให้ใช้วิธีปลูกต้นไม้ริมน้ำ เพื่อบดบังแสงสะท้อนแทน ถ้าตำแหน่งน้ำเป็นทิศใต้ ถือว่าเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุด เพราะเป็นทิศทางลม ในทางฮวงจุ้ยถือว่า ลมจะพัดพาน้ำ ซึ่งหมายถึงโชคลาภเข้าสู่บ้าน เพราะฉะนั้นการวางตัวบ้านจึงไม่ควรวางในลักษณะหลังบ้านเป็นน้ำ ควรจะวางบ้านให้ด้านข้างเป็นน้ำ แล้วทำระเบียงหรือเจาะช่องประตูรั้วบริเวณด้านข้างเพื่อเปิดรับลมเข้าสู่ตัวบ้านจะเกิดประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ ทิศใต้หรือทิศเหนือไม่มีผลกระทบในเรื่องแสงสะท้อนจากน้ำ เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องปลูกต้นไม้ใหญ่ริมน้ำ หากจะปลูกต้นไม้ ก็ควรใช้ต้นไม้ต้นเล็กๆ เพราะต้นไม้ใหญ่จะปิดบังลมที่พัดเข้าสู่บ้าน ทำให้บ้านเสียประโยชน์ในเรื่องของลมไป

 

ข้อสังเกตที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ขนาดของน้ำ ถ้าน้ำมีขนาดใหญ่ เช่น บ้านอยู่ติดทะเลสาบ หรือแม่น้ำ ผลกระทบก็ย่อมมากกว่าน้ำที่มีขนาดเล็ก เช่น คลองขนาดเล็ก ผลกระทบอาจไม่มีเลย อาจเปรียบเทียบง่ายๆกับขนาดของตัวบ้านก็ได้ ถ้าน้ำเป็นแหล่งใหญ่กว่าตัวบ้าน ถือว่าเข้าข่ายที่อาจเกิดผลกระทบจากน้ำได้แต่ถ้าเล็กกว่าตัวบ้าน โอกาสที่เกิดผลกระทบก็จะมีน้อยหรือไม่มีเลยก็ได้ สิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้เด็ดขาด เกี่ยวกับการสร้างบ้านติดน้ำก็คือ คุณภาพน้ำ น้ำที่ดีจะต้องสะอาดและมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา น้ำที่นิ่งเกินไปจะทำให้เน่าเสียได้ ลองสังเกตดูว่าน้ำมีการไหลเวียนหรือไม่ ้น้ำที่ดีตามหลักฮวงจุ้ย จะต้องไหลเรื่อยๆช้าๆ ห้ามน้ำนิ่งเพราะถือว่าน้ำตายจะส่งผลเสียมาสู่บ้านได้

 

ส่วนกรณีที่บ้านจำเป็นจะต้องมีที่วางในลักษณะตำแหน่งน้ำอยู่หลังบ้าน ก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลว่าจะเกิดผลร้ายกับบ้านเสมอไป ปกติบ้านที่อยู่ใกล้น้ำในทางฮวงจุ้ยถือว่าดีอยู่แล้วเพราะน้ำถือเป็นโชคลาภ แต่ที่มีข้อบัญญัติในเรื่องห้ามหลังบ้านเป็นน้ำนั้น ก็คงมาจากสาเหตุที่ว่า กระแสน้ำจะทำลายตลิ่งกัดเซาะพื้นที่ดินด้านหลัง ซึ่งจะทำให้ฐานรากของบ้านถูกทำลายได้ ด้านหลังบ้านในทางฮวงจุ้ย จะหมายถึงความมั่นคง หลังบ้านจึงถูกกำหนดให้ต้องแน่นหนาเป็นที่พักพิงที่มั่นคง

 

ถ้าเราเข้าใจว่าข้อเสียของการที่หลังบ้านเป็นน้ำมาจากเรื่องอะไร เราก็สามารถที่จะป้องกันและแก้ไขได้เช่น การสร้างเขื่อนริมตลิ่งเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำที่ไหลหรือปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อยึดตลิ่งเอาไว้ก็ได้ เมื่อเรารู้ปัญหาว่ามาจากเรื่องอะไร ก็สามารถแก้ไขหรือป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด และไม่ต้องไปกังวลกับข้อห้ามมากนัก ในตำราฮวงจุ้ยเดิมไม่ได้อธิบายเอาไว้แบบนี้ บอกแต่เพียงว่า “ห้าม และ ไม่ดี” และควรหลีกเลี่ยงไม่ได้อธิบายว่าทำไมถึงห้ามสาเหตุมาจากอะไร เพราะสมัยที่ข้อบัญญัตินี้เกิดขึ้น จะอิงกับธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีสิ่งปรุงแต่งอย่างเช่นปัจจุบัน คือไม่มีปูนซีเมนต์ที่จะมาทำเป็นเขื่อนกั้นตลิ่งพังเหมือนกับสมัยนี้ และสมัยก่อนการสัญจรไปมามักเดินทางทางน้ำอยู่แล้ว บ้านส่วนใหญ่จึงสร้างให้หันหน้าบ้าน หันไปที่น้ำเพื่อความสะดวกในการใช้สอย

 

ปัจจุบัน ถนนคือเส้นทางหลัก บ้านจึงเลือกที่จะหันหน้าสู่ถนน การมีน้ำอยู่หลังบ้านจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของบ้าน จะมีก็แต่ผลเสียที่กล่าวไปแล้วเท่านั้น แต่ไม่ได้ฝืนกฎของหลักฮวงจุ้ย เพราะหลักฮวงจุ้ยสอนให้เราปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม ให้ได้รู้จักใช้สภาพแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด การยึดหลักตายตัวมากจนเกินไป บางครั้งกลับทำให้เราเสียประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย

 

ที่มาและการอ้างอิง

ฮวงจุ้ยการสร้างบ้าน-ต่อเติมบ้าน โดย มาโนช ประภาษานนท์