วันอังคาร, 7 มกราคม 2568

4 ข้อพิจารณาฮวงจุ้ยการวางผังบ้าน ต้องเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก

รูปทรงบ้านอีกลักษณะหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนแบบบ้านทั่วไป คนไทยจะคุ้นเคยกันดีก็คือ บ้านทรงไทย ความจริงแล้วบ้านทรงไทยในตำราฮวงจุ้ยไม่มีระบุเอาไว้ เพราะในเมืองจีนสมัยก่อนคงจะไม่มีบ้านแบบนี้ให้เห็นกัน แต่ในตำราระบุเอาไว้ว่าแบบบ้านในลักษณะที่มีใต้ถุนสูงถือว่าไม่ดี เพราะถือว่ารากฐานของบ้านไม่มั่นคง อยู่แล้วหาความเจริญยาก ตำราเขาว่าอย่างนั้น แต่ลักษณะนั้น คงเป็นลักษณะบ้านที่ไม่เหมาะกับเมืองจีนมากกว่าเมืองไทย เพราะบ้านทรงไทยที่มีใต้ถุนสูง นั้นถือว่าเหมาะกับเมืองไทยอย่างยิ่ง เหตุผลก็เพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน บ้านที่มีใต้ถุนสูงจะทำให้ลมไหลผ่านได้เป็นอย่างดี ทำให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อน เวลาน้ำท่วมตัวบ้านก็ไม่เสียหาย เมืองไทยเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมบ่อยจึงถือว่าเหมาะที่สุดสำหรับการทำเป็นบ้านอยู่อาศัย

 

 

หากนำบ้านทรงไทยไปไว้ในเมืองจีนมีหวังคนในบ้านเจ็บปวดกันตลอดปี เพราะอิทธิพลของลมหนาวที่พัดเข้าบ้านมากเกินไป คนจีนกลัวลมหนาวมากที่สุด ลมหนาวจะนำความแห้งแล้งและความเจ็บไข้ได้ป่วยมาให้ แบบบ้านของคนจีนสมัยก่อนจึงนิยมสร้างบ้านชั้นเดียวสี่เหลี่ยมเต็ม เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรง บ้านที่สูงและโปร่งจะรับลมได้ดี จึงไม่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศในเมืองจีน แต่สำหรับคนไทยแล้ว ต้องการบ้านที่รับลมเต็มที่ เพราะฉะนั้นการพิจารณาเรื่องของหลักฮวงจุ้ย จึงต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของแต่ละสถานที่ด้วยไม่ใช่ยึดตายตัวเสมอไป

 

บ้านทรงไทยเหมาะที่จะสร้างในพื้นที่ดินกว้าง เพราะแบบบ้านต้องการลมวิ่งผ่าน หากสร้างในพื้นที่แคบๆ หรือบริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง ก็จะทำให้บ้านอับลม ไม่เป็นผลดีกับบ้าน แบบนี้หากลองสังเกตดูบ้านทรงไทย จะไม่นิยมสร้างในเมืองหลวง เพราะมีสิ่งปลูกสร้างมาก ยกเว้นว่าจะมีที่ดินมากๆเท่านั้น การปลูกบ้านทรงไทยจึงมักจะเลือกวางตัวบ้านหันไปทางทิศใต้ เพื่อรับลมโดยตรงในฤดูร้อน บ้านทรงไทยจะใช้ไม้ในการสร้างบ้านเป็นหลัก ไม่ใช่บ้านปูน การรับแสงแดดบ้านไม้จะดีกว่าบ้านปูน เพราะบ้านปูนจะสะสมความร้อน ปัจจุบันแบบบ้านส่วนใหญ่จะนิยมสร้างในสไตล์ของบ้านฝรั่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมตะวันตก เพราะสร้างง่ายกว่าและราคาก่อสร้างไม่สูงมากเหมือนบ้านทรงไทย การสร้างบ้านทรงไทยจึงไม่ค่อยนิยมสร้างกันเนื่องจากราคาค่อนข้างสูง

 

คนโบราณสมัยก่อนจึงมักระบุเอาไว้ว่า บ้านทรงไทยจะเหมาะกับผู้เจ้าขุนมูลนาย หรือผู้ที่มีบารมีสูง จะไม่เหมาะกับชาวบ้านทั่วไป ในทางฮวงจุ้ยเองก็มองว่าบ้านทรงไทย มีลักษณะเป็นธาตุไฟ คือ มีจุดสามเหลี่ยมเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นรูปทรงที่แรงเหมือนโบสถ์ ศาลาวัด ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่จะอาศัยอยู่ในบ้านทรงไทยได้ จึงต้องเป็นผู้ที่มีบารมีหรือคุณธรรมสูง

 

เรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องหลักในการนำมาพิจารณา แต่เป็นการเปรียบเทียบของคนสมัยก่อน ที่มองคนที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ที่มักจะอยู่บ้านทรงไทยหลังใหญ่กันทั้งนั้น สมัยนี้คนมีเงินมีบารมีมักจะสร้างคฤหาสน์กันมากกว่าบ้านทรงไทย หากจะสร้างแบบทรงไทยจริง ๆ เจ้าของบ้านจะต้องชอบแบบทรงไทยเอามาก ๆ เพราะมีความโบราณคลาสสิค บางคนก็ไม่ชอบบอกว่าไม่ทันสมัย เรื่องนี้ก็แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลเช่นกัน

 

4 ข้อพิจารณาการวางผังบ้าน เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก

การวางผังบ้านหรือแปลนบ้านในทางฮวงจุ้ยเอง มีหลักให้พิจารณากันค่อนข้างจะหลากหลายรูปแบบ และรายละเอียดปลีกย่อยก็มีมากมาย ในส่วนนี้เราจะพูดถึงหลักใหญ่ๆเพื่อความไม่สับสน โดยจะดูว่าในตำราฮวงจุ้ยกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการวางผังบ้านเอาไว้อย่างไร

 

1.คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยภายในบ้าน

เพราะถือเป็นปัจจัยพื้นฐาน ที่จะต้องรู้ก่อนการออกแบบบ้าน ว่าบ้านหลังนี้จะมีกี่ห้อง ห้องอะไรบ้าง ตำราฮวงจุ้ยระบุเอาไว้ว่า การกำหนดห้องต่างๆภายในบ้านนั้น จะต้องใช้ให้ครบทุกห้อง อย่าปล่อยห้องว่างเอาไว้เฉยๆโดยไม่ได้ใช้ เพราะจะกอดสภาพ “อินชี่” ขึ้นภายใน “อินชี่” ก็คือสภาพที่นิ่งตายนั่นเอง ห้องที่ไม่ได้ประโยชน์ปล่อยวางเอาไว้เฉยๆ ผลเสียก็คือ ห้องจะอับชื้น เป็นที่สะสมของฝุ่นละอองและเชื้อโรค ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคนในบ้าน โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพและโรคภัย เพราะฉะนั้นการวางแผนในบ้านจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เจ้าของบ้านบางคนชอบมีห้องมากๆเอาไว้ก่อน ประเภทเผื่อเอาไว้รับแขกบ้าง เผื่อมีลูกบ้างซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่ไม่ควรเผื่อเอาไว้มากจนเกินไป เพียงห้อง 2 ห้องก็น่าจะพอ ไม่ใช่ปล่อยว่างกัน 3-4 ห้องซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินไป

 

2.ห้องนอนไม่ควรทำเผื่อไว้โดยไม่ได้ใช้

ห้องนอนไม่ควรเผื่อเอาไว้มากจนเกินไป บางบ้านปล่อยให้ห้องนอนว่างกัน 3-4 ห้อง ตำราฮวงจุ้ยบอกไว้ว่า ถ้าปล่อยห้องนอนว่างโดยไม่มีคนนอน ไม่ช้าไม่นานก็จะมีวิญญาณมาจับจองห้องนั้น เมื่อมีคนเข้าไปนอน ก็มักจะนอนไม่หลับหรือฝันร้ายเพราะถูกวิญญาณรบกวนนั่นเอง ตำราฮวงจุ้ยถึงบอกไว้ว่า ถ้าจำเป็นจะต้องปล่อยห้องว่าง ก็ไม่ควรปล่อยที่นอนเอาไว้ ต้องหาผ้าคลุม หรือไม่ก็ต้องใช้ที่นอนแบบพับเก็บได้ เมื่อมีแขกมานอนค่อยนำมาใช้จะดีที่สุด หรือไม่ก็คอยหมั่นเข้าไปปัดกวาดเช็ดถู เปิดประตูหน้าต่างห้อง ให้ลมพัดผ่าน ให้แสงแดดเข้าห้อง หากปิดตายห้องไว้โดยไม่เคยเปิดเข้าไปเลยอย่างนี้ ถือว่าเสียมากกว่าดีแน่ๆ ห้องอื่นก็เหมือนกัน ต้องถามตัวเองก่อนเสมอว่า ใช้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด จำเป็นต้องมีหรือไม่

 

3.ผังของห้องจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่

เรื่องของแบบและขนาดของบ้าน การกำหนดผังบ้านจะต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่ที่มีอยู่ บ้านที่มีพื้นที่ไม่มาก การกำหนดให้มีทุกห้องในบ้าน ก็อาจจะทำไม่ได้ เช่น ห้องรับแขก ห้องดูทีวี อาจจะต้องอยู่รวมกัน ไม่มีการแยกเป็นห้องพักผ่อนหรือห้อง Entertain ห้องครัวทานอาหารก็เช่นเดียวกัน ห้องทำงานอาจจะไปรวมกับห้องนอนก็ได้ แต่ถ้าเป็นบ้านหลังใหญ่พื้นที่มาก จะกำหนดอย่างไรก็ได้ ห้องรับแขกอาจมี 2-3 ห้องก็ไม่ผิดกติกา ถ้ามีความจำเป็นจะต้องใช้ เพราะฉะนั้นการกำหนดผังภายใน จะกำหนดตายตัวว่าจะมีห้องไหนมากหรือน้อยก็คงจะไม่ได้

 

4.วางตำแหน่งห้องให้ถูกต้อง สำคัญกว่าจำนวนห้อง

หลายคนกังวลกับข้อบัญญัติว่า ไม่ควรมีห้องส้วมมากกว่าคนในบ้าน แต่ถ้าบ้านนั้นมีแขกมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ การมีห้องส้วมมากก็ถือว่าได้ประโยชน์ในการให้ความสะดวกกับแขกที่มาเยือน อย่างในตำราเคยบอกไว้ว่า ถ้ามีห้องแล้วแต่ห้องนั้นถูกใช้สอยให้เกิดประโยชน์ไม่ปล่อยทิ้ง ก็ถือว่าไม่ได้ทำผิดฮวงจุ้ยแต่อย่างใด การมีกี่ห้องไม่สำคัญเท่ากับประโยชน์ใช้สอย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีห้องรับแขก ห้องทานอาหาร ห้องพักผ่อน ห้องทำงาน ห้องครัว ห้องส้วม ห้องพระห้อง ห้องนอน ห้องเก็บของ และห้องอื่นๆก็สามารถที่จะนำมากำหนดผังบ้านได้ แล้วแต่ว่าห้องต่างๆเหล่านี้จะต้องวางอยู่ตำแหน่งไหนกันบ้างส่วนนี้สำคัญมากกว่า

 

ที่มาและการอ้างอิง

ฮวงจุ้ยการสร้างบ้าน-ต่อเติมบ้าน โดย มาโนช ประภาษานนท์