1.อินคา ชนเผ่าผู้มีฝีมือแต่งหิน
ในสมัยโบราณ มีสิ่งก่อสร้างที่มหัศจรรย์จำนวนหลายสิบชิ้นที่ยังคงสภาพทีมปัจจุบัน ชวนให้คนรุ่นหลังสงสัยในที่มาที่ไปของมัน และกำแพงหินของชาวอินคาก็เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่ชวนให้นักสถาปัตยกรรมหลายคนสงสัยจนต้องค้นคว้าและทดลองตามสมมติฐานของตนเอง และผู้ที่ล้วงลึกไปในอดีตจนพบพบเหตุผลนั้นก็คือ นายชอง ปิแอร์โปรซอง (Jean-Pierre Protzen) อาจารย์ทางด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย
นายโปรซองศึกษาวิธีการทำงานของช่างหินชาวอินคา มาตั้งแต่ ปี ค. ศ. 1982 ด้วยการเข้าไปสำรวจเหมืองหินของชาวอินคาโบราณ ซึ่งอยู่ใกล้เมืองกุสโก บริเวณใจกลางเทือกเขาแอนดีส ทางตอนใต้ของประเทศเปรู เขาพบก้อนหินที่เป็นหินประเภทควอร์ตไซต์ซึ่งเป็นหินที่แข็งแกร่งมาก และได้นำมาลองใช้แต่งก้อนหินที่หลงเหลืออยู่ในบริเวณนั้น จนกระทั่งเขาสามารถสรุปได้ว่า ในสมัยก่อน พวกช่างหินชาวอินคาใช้ค้อนหิน 3 ขนาด คือขนาดใหญ่หนัก 8-9 กิโลกรัม ใช้สำหรับสกัดหินเบื้องแรก ขนาดกลางหนัก 2-5 กิโลกรัม ใช้ในการตกแต่งผิวให้เรียบ และขนาดเล็กหนักไม่ถึง 1 กิโลกรัมใช้สำหรับแต่งขอบให้คมเรียบ ซึ่งนับเป็นความชาญฉลาดของช่างหินชาวอินคาอย่างยิ่ง ที่สามารถเรียงก้อนหินขนาดใหญ่ให้ต่อกันเป็นกำแพงที่หนักแน่น และตั้งอยู่อย่างมั่นคงได้เป็นระยะเวลายาวนานหลายร้อยปี โดยไม่ต้องใช้ปูนประสานรอยต่อเลย ซึ่งหินบางก้อนนั้นหนักกว่า 100 ตันก็มี แต่ก็สามารถก่อขึ้นไปจนสูงได้โดยไม่พังทลายลงมา และที่สำคัญพวกเขาไม่ได้ใช้เครื่องมือโลหะในการแต่งหินเลย
รู้หรือไม่ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมคศ 1950 ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่เมืองกุสโก ประเทศเปรู แต่ปรากฏว่าฐานหินที่อยู่ใต้ตัวเมือง ซึ่งสร้างโดยชาวอินคายังคงอยู่ในสภาพปกติ จะมีก็เพียงหินบางก้อนเท่านั้นที่เคลื่อนออกจากกันเพียงเล็กน้อย
2.ความยิ่งใหญ่ของการประปายุคโรมัน
ในสมัยโบราณ จักรวรรดิโรมันแผ่พลานุภาพและมีอำนาจครอบคลุมไปทั่วยุโรป และมีเมืองอยู่ภายใต้การปกครองมากมาย กรุงโรมเจริญถึงขีดสุดเมื่อประมาณ 27 ปีก่อนคริสต์ศักราช และเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ
กรุงโรมในสมัยนั้นมีความยิ่งใหญ่ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมซึ่งชาวโรมันมีความเชี่ยวชาญมากจึงสามารถวางระบบส่งน้ำจากลำธารในภูเขารอบๆ เมืองหลวง ผ่านสะพานส่งน้ำขนาดใหญ่มาสู่กรุงโรม ซึ่งในยุคนั้นกรุงโรมใช้น้ำจืดประมาณวันละ 180 ล้านลิตร โดยแจกจ่ายไปยังที่ต่างๆ เช่น บ่อน้ำพุ ที่อาบน้ำสาธารณะ ห้องส้วมสาธารณะเป็นต้น นอกจากนี้บรรดาเศรษฐีและพวกขุนนางก็จะมีที่อาบน้ำส่วนบุคคลด้วย ในสมัยจักรวรรดิโรมันมีเมืองอย่างน้อย 40 เมืองที่มีระบบส่งน้ำที่คล้ายคลึงกับกรุงโรม ซึ่งปัจจุบันยังคงมีซากสะพานส่งน้ำให้เห็นอยู่ประมาณ 200 แห่ง ที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ สะพานส่งน้ำ 3 ชั้น ชื่อปงดูการ์ ซึ่งส่งน้ำให้เมืองนีม ประเทศฝรั่งเศส และสะพานส่งน้ำ 2 ชั้น ที่สูงถึง 36 เมตรที่เมืองเซโกเวีย ประเทศสเปน
สะพานส่งน้ำส่วนใหญ่จะก่อด้วยอิฐและหินที่ฉาบด้วยซีเมนต์กันน้ำซึมอยู่ด้านใน ซึ่งโดยเฉลี่ยจะกว้างประมาณ 3 ฟุต ลึก 6 ฟุต บางแห่งอาจฝังอยู่ใต้ดิน และมีปล่องระบายอากาศอยู่ทุกๆ ระยะ 73 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ท่ออุดตัน ส่วนด้านบนมีหินปิดทับกันไม่ให้สิ่งสกปรกลงไป ท่อส่งน้ำท่อแรกที่ใช้ในกรุงโรมสร้างขึ้นเมื่อ 312 ปีก่อนคริสต์ศักราช ยาว 16 กิโลเมตร ชื่ออะความ อัปปิอา (Aqua Appia) ใช้ส่งน้ำทางใต้ดินและท่อส่งน้ำที่สร้างขึ้นเมื่อ 144 ปีก่อนคริสต์ศักราช ยาวถึง 91 กิโลเมตร ชื่ออะควา มาร์ชิอา (Aqua Marcia) ใช้สำหรับส่งน้ำดื่มไปในกรุงโรม โดยฝังท่อไว้ใต้ดินและเมื่อใกล้ถึงกรุงโรมจึงวางท่อบนแนวของช่องโค้งในระยะ 11 กิโลเมตร ดังนั้นเมื่อถึงคริสต์ศักราช 350 กรุงโรมจึงมีสะพานส่งน้ำสายสำคัญมากกว่า 10 สาย และมีบ่อเก็บน้ำเกือบ 250 แห่ง กระจายอยู่ทั่วกรุง
รู้หรือไม่ ชาวโรมันมันเป็นชนชาติที่รักความสะอาดมาก ดังนั้นพวกเขาจึงชอบอาบน้ำชำระร่างกายและรักษาอนามัยตนเอง ในสมัยที่การประปาในกรุงโรมเจริญรุ่งเรือง เมื่อประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช พวกเขาสร้างโรงอาบน้ำสาธารณะขึ้น ปัจจุบันยังคงมีซากของโรงอาบน้ำสาธารณะที่สร้างไว้อย่างงดงามโอ่อ่าอยู่ 2 แห่ง เป็นของจักรพรรดิคาราคัลลา และจักรพรรดิไดโอคลีเชียน
3.ดินสอ เครื่องเขียนที่ไม่เคยล้าสมัย
ในสมัยโบราณ ชาวอียิปต์ กรีก และโรมัน เคยใช้แผ่นตะกั่วขีดบนแผ่นปาปิรุส ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้เขียนในยุคแรกๆ ต่อมาจึงมีการใช้พู่กันจุ่มหมึกเขียนลงบนกระดาษ จนเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1564 ได้มีการค้นพบแกรไฟต์บริสุทธิ์บริเวณตอนเหนือของอังกฤษ จึงมีการพัฒนาและผลิตดินสอขึ้น แกรไฟต์คือธาตุคาร์บอน ซึ่งเป็นแร่เนื้ออ่อนที่สุดชนิดหนึ่ง เมื่อกดแร่ชนิดนี้ลงบนกระดาษแกรไฟต์ชิ้นบางๆ จะหลุดร่อนและลอกติดกระดาษเกิดเป็นรอยสีดำขึ้น แกรไฟต์ที่ดำสนิทและร่วนๆ จะดีและเหมาะที่จะนำมาทำไส้ดินสอที่สุด ในการทำไส้ดินสอนั้นจะนำแกรไฟต์ผงซึ่งบดละเอียดแล้วมาผสมดินเหนียว (ดินขาวสำหรับทำถ้วยชาม) และน้ำจนได้ส่วนผสมเละๆ นำมายืดออกให้เป็นเส้นตรงแล้วตัดให้มีความยาวตามต้องการ แต่ปัจจุบันกรรมวิธีการผลิตดินสอพัฒนาขึ้นมาก ดังนั้นเมื่อได้ส่วนผสมของไส้ดินสองแล้ว เขาจะเอาส่วนผสมนี้ใส่ลงไปในกระบอก แล้วอัดให้ออกมาเป็นเส้นยาวๆทางรูเล็กๆ ที่ปลายอีกข้างหนึ่งก่อนนำไปตัด แล้วจึงนำเข้าเตาอบให้แห้งที่อุณหภูมิประมาณ 1,200 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงเคลือบผิวไส้ดินสอด้วยขี้ผึ้งเพื่อให้เขียนลื่น แล้วนำไส้ที่ได้มาใส่ลงในตัวดินสอที่ทำจากไม้ อาจจะเป็นไม้ซีดาร์แดงหรือไม้สนที่นำมาผ่าครึ่งและเซาะร่องเล็กๆ ตรงกลาง วางไส้ดินสอลงไปในร่อ งจากนั้นจึงนำเอาตัวดินสออีกซีกหนึ่งมาปิดทับและยึดติดกันด้วยกาว เสร็จแล้วจึงนำไปเข้าเครื่องตัดให้เป็นรูปแท่งดินสอ เช่น วงกลมหรือหน้าตัดหกเหลี่ยม แล้วทาทับด้วยสีแล็กเกอร์ชนิดปลอดสารพิษ
รู้หรือไม่ ดินสอชนิดที่นิยมใช้กันแพร่หลายที่สุด คือ ดินสอ HB (ย่อมาจาก Hardt and Black: แข็งและดำ) ส่วนดินสอเนื้ออ่อนและมีสีดำเข้มไล่ระดับ คือดินสอ B 2B 4B ฯลฯ (B ย่อมาจาก Black) และดินสอเนื้อแข็งคือ H ถึง 9H (H ย่อมาจาก Hard) ส่วนไส้ดินสอสีหรือดินสอเครยอง จะไม่มีแกรไฟต์ผสมอยู่เลย ทำขึ้นจากดินขาว ขี้ผึ้งผสม และสังกะสี
4.กระดาษมาจากไหน
ย้อนหลังไปก่อนปี ค.ศ. 105 ชนชาติต่างๆ เช่น จีน สุเมเรียน บาบิโลน อียิปต์ เป็นต้น จะบันทึกหรือเขียนข้อความต่างๆ ลงบนวัสดุ เช่น แผ่นดินเหนียว แผ่นหนังแกะ หนังแพะหรือหนังลูกวัว และถัดมา ชาวอียิปต์โบราณใช้แผ่นปาปิรุส ซึ่งทำมาจากต้นกกที่ทุบจนแบนแล้วนำมาเขียน ส่วนชาวจีนนำต้นกกมาสานเป็นแผ่นหรือนำไม้ไผ่มาตอกเป็นซีก แล้วเขียนข้อความลงไป ซึ่งวัสดุเหล่านี้ก็ไม่สามารถบรรจุความรู้ได้หมด จนเมื่อประมาณปี ค.ศ. 105 มีขุนนางจีนผู้หนึ่งชื่อไช่หลุน ค้นพบวิธีการทำกระดาษจากใยต้นหม่อน แหจับปลา เศษปอ เศษผ้า โดยเขาได้นำวัสดุเหล่านี้มาบดให้ละเอียด ใส่น้ำ ฟอกสี และเติมสารเคลือบเนื้อกระดาษเพื่อไม่ให้กระดาษดูดน้ำหมึกมากเกินไป เมื่อจะนำมาใช้ก็ต้องนำมารีดให้เป็นแผ่น ก่อนเมื่อปี ค.ศ. 1850 วัตถุดิบที่นิยมนำมาใช้ทำกระดาษก็คือเศษผ้าฝ้ายและผ้าลินิน แต่ต่อมาเมื่อกระดาษเป็นที่ต้องการมากขึ้นจึงต้องหาวัตถุดิบซึ่งมีมากในธรรมชาติมาผลิตแทน อันได้แก่ เยื่อไม้จากต้นไม้เนื้ออ่อน กระดาษในยุคหลังๆ จึงทำมาจากเซลลูโลสและเส้นใยจากพืชเป็นส่วนใหญ่
ไม้และพืชทุกชนิดประกอบด้วยเซลลูโลส ซึ่งเป็นเส้นใยที่ได้จากผนังเซลล์ของพืช ดังนั้นเมื่อตัดต้นไม้แล้ว จึงต้องสับไม้ให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปบดหรือต้มกับสารเคมี เช่น โซเดียมซัลเฟต จนเส้นใยแตกตัวออก และเปื่อยยุ่ยเป็นเยื่อกระดาษ จากนั้นเอาเยื่อกระดาษที่ได้ไปฟอกสีให้ขาว แล้วนำไปตีปนกับน้ำในเครื่องกวนขนาดใหญ่ และปล่อยให้ส่วนผสมนี้ไหลออกจากของทางช่องเล็กๆ ลงสู่ตะแกรงเลื่อน เพื่อให้เยื่ออยู่เส้นใยที่ได้สะเด็ดน้ำ จากนั้นจึงนำเส้นใยนี้มารีดน้ำออกจนเส้นใหญ่แห้ง ในกระบวนการผลิตกระดาษนี้ อาจจะเติมแป้ง ดินเหนียว ชอล์ก หรือไทเทเนียมไดออกไซด์ ฯลฯ เพื่อทำให้พื้นผิวกระดาษดีขึ้น เมื่อเสร็จจากขั้นตอนนี้ก็จะได้เยื่อกระดาษที่พร้อมสำหรับการนำไปเข้าเครื่องทำกระดาษ เยื่อกระดาษเหล่านี้จะถูกเครื่องดูดน้ำดูดเอาน้ำส่วนที่ไม่ต้องการออกไป และแผ่ออกเป็นแผ่นซึ่งยังเปียกอยู่ แผ่นเยื่อกระดาษจะถูกนำเข้าไปที่ลูกกลิ้งเพื่อรีดออกมาเป็นแผ่นกระดาษ ปัจจุบันเนื่องจากทรัพยากรป่าไม้ลดลงมาก ทำให้ต้องมีการใช้ไม้อย่างประหยัด จึงมีการนำกระดาษที่ใช้แล้วมาทำกระดาษใหม่ เพื่อช่วยลดปริมาณการตัดต้นไม้ลง เรียกว่ากระดาษรีไซเคิล
รู้หรือไม่ กระดาษฟุลสแก๊ป มีที่มาจากเมื่อราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีการผลิตกระดาษที่มีภาพลายน้ำรูปหมวกของตัวตลก (fool’s cap หรือ foolscap) อยู่บนกระดาษขนาด 13.5 x 17 นิ้ว ตั้งแต่นั้นมาชื่อกระดาษชนิดนี้ก็เป็นที่แพร่หลาย
ที่มาและการอ้างอิง
WHAT รู้รอบเรื่องน่าทึ่งของโลก โดย นิภาพัชร์ ปิ่นสุวรรณ