วันพฤหัสบดี, 28 พฤศจิกายน 2567

กรรมของพรานล่าเต่า

ตาแก้ว คือ ผู้เฒ่าผู้แก่คนหนึ่งที่ข้าพเจ้าชอบแวะเวียนไปพูดคุยกับแกบ่อยๆ ตาแก้วมีอายุ 70 กว่าแล้ว ความจริงแล้วแกไม่ได้เป็นคนถิ่นเดิมของหมู่บ้านเรา แกพึ่งอพยพมาจากหมู่บ้านอื่น ซึ่งมีสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างจะแตกต่างกับหมู่บ้านเรา ด้วยเหตุนี้ เรื่องราวที่ตาแก้วเคยประสบจึงเป็นเรื่องที่แตกต่างไปจากเรื่องที่ผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นบุกเบิกหมู่บ้านเราได้ประสบ เรื่องเล่าต่อไปนี้จึงเป็นประโยชน์กับข้าพเจ้ามากมาย ตาแก้วเล่าให้ฟังว่า

 

 

หมู่บ้านเดิมที่แกเคยอยู่ และถือเป็นถิ่นกำเนิดของแกมีสภาพภูมิประเทศแตกต่างกับหมู่บ้านเราอย่างสิ้นเชิง คือ หมู่บ้านเราส่วนใหญ่มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูงสลับกับเนินเขา หรือที่คนในท้องถิ่นนั้น (ภาคใต้) เรียกกันว่า ควน แต่หมู่บ้านที่ตาแก้วเคยอยู่มีสภาพส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มน้ำขังเกือบทั้งปี พื้นดินส่วนใหญ่ชื้นแฉะ พืชพันธุ์ที่มีส่วนใหญ่จึงเป็นพืชที่งอกได้ดีในที่ราบลุ่มน้ำขัง เป็นต้นว่า ต้นกระจูด ต้นเสม็ด ต้นปรือ และพืชน้ำต่างๆ สัตว์ที่มีมากก็จะเป็นสัตว์น้ำ พวกกุ้ง หอย ปู ปลา เต่า ตะพาบ ซึ่งต่างกับหมู่บ้านของเรา พืชพันธุ์ที่มีส่วนใหญ่เป็นพืชที่ขึ้นได้ดีอยู่ในที่ราบสูง พวกไม้ผลยืนต้นต่างๆ สัตว์ที่มีก็จะเป็นสัตว์ป่า ด้วยความแตกต่างอย่างนี้เอง ทำให้ข้าพเจ้าได้รับทราบประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไปอีกเรื่องหนึ่ง

 

คนในหมู่บ้านที่แกเคยอยู่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมงน้ำจืด หาปลา ล่าสัตว์มาขาย เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขังเกือบทั้งปี แกเล่าให้ฟังถึงวิถีวิธีหาปลา ล่าสัตว์น้ำต่างๆ สมัยแกเป็นเด็กๆ มีอาชีพหาเต่าไปขาย การหาเต่าทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและชนิดของเต่า คือ ถ้าหากเป็นฤดูน้ำ ก็หาเต่าน้ำไปขาย ล่าโดยวิธีดักไซเป็นต้น และถ้าหากเป็นฤดูแล้ง ซึ่งมีสั้นมากสำหรับพื้นที่ในบริเวณนั้น น้ำแห้งเพียงไม่กี่เดือนก็เจิ่งนองอีก การล่าเต่าในฤดูแล้งนี่เองที่ข้าพเจ้าสนใจ

 

ครั้นถึงฤดูแล้ง บริเวณที่ราบลุ่มซึ่งน้ำเคยขังก็จะแห้ง เหือด ต้นปรือ ต้นกระจูด ที่เคยงอกงามเขียวชอุ่ม ก็จะเหี่ยวแห้งเหลืองกรอบ พวกเต่านานิยมอาศัยอยู่ในบริเวณป่ากระจูด ป่าต้นปรือเหล่านั้น แต่เนื่องจากบริเวณป่าปรือ ป่ากระจูด กว้างไกลและรกเรื้อมาก ยากแก่การตามหา ชาวบ้านจึงใช้วิธีเผาป่าปรือ หรือป่ากระจูด ก่อนจะเผาก็จะขุดหลุมไว้ห่างๆ กันไป พอเผาป่าปรือ ป่ากระจูด พวกเต่าก็จะหนีลงไปหลบอยู่ในหลุมที่เขาขุดวางไว้ ส่วนตัวที่หนีไม่ทันก็ถูกไฟคลอกตายคาที่ในหลุมที่ขุดพรางไว้ บางหลุมจะมีเต่าลงไปนอนซ้อนกันอยู่ถึง 3 – 4 ตัว เต่าที่จับได้ก็มีทั้งตายคาหลุมและถูกไฟคลอกปางตาย การจับเต่าด้วยวิธีนี้ง่ายมาก เพราะเพียงแต่ไปเก็บเต่าที่ถูกไฟคลอกตาย หรือไม่ก็ที่นอนยัดกันอยู่ในหลุม เมื่อได้แล้วก็จัดการเจาะกระดองเอาเชือกร้อย ทำเป็นคู่พวงๆ หาบกลับบ้าน ตาแก้วเล่าว่า พวกเขาหาเต่ากันได้วันละเป็นหาบๆ นั้นหมายถึงว่า วันหนึ่งๆ เต่าต้องตายเพราะถูกไฟคลอกนับเป็นจำนวนหลายๆ หาบ นึกถึงการตายของเต่า ข้าพเจ้าให้รู้สึกใจหาย ลองนึกดูสิว่าพอพวกมันถูกไฟไล่แล้ววิ่งหนีด้วยกำลังของเต่า เมื่อไม่ทันก็ถูกไฟคลอก กว่าจะตายต้องทรมานไม่น้อย สมัยนั้น ตาแก้วได้ชื่อว่า เป็นพรานล่าเต่ามือฉมังคนหนึ่ง วันหนึ่งแกล่าเต่าได้มากเป็นหาบๆ

 

มื่อเติบโตสมควรที่จะมีครอบครัวได้ ตาแก้วแต่งงานและสร้างครอบครัวใหม่อยู่ที่บ้านนั้น แกหาเลี้ยงครอบครัวด้วยประกอบอาชีพท้องถิ่นนั้นนิยมกัน นั่นก็คือ การหาปลา ล่าสัตว์น้ำขาย ถึงฤดูแล้งก็หาเต่าด้วยวิธีเผาป่าปรือ ป่ากระจูด

 

แกทำอาชีพนั้นเลี้ยงครอบครัวจนลูกๆ เติบใหญ่เป็นหนุ่มเป็นสาวและได้แต่งงานแยกครอบครัวออกไป ลูกของแกคนหนึ่ง คือ พี่ยาว ซึ่งเป็นลูกชายคนที่ 2 ของตาแก้ว ได้มาแต่งงานกับหญิงในหมู่บ้านข้าพเจ้า พี่ยาวจึงย้ายมาตั้งครอบครัวใหม่ที่บ้านของเมีย คือ หมู่บ้านที่ข้าพเจ้าอยู่นั่นเอง

 

เมื่ออายุมากเข้า และลูกๆ ต่างแต่งงานมีครอบครัวออกไป ตาแก้วจึงอยู่กับเมียคู่ทุกข์คู่ยากของแก ต่อมา เมื่อเมียของแกเสียชีวิต แกก็อยู่คนเดียว พี่ยาวเห็นว่าแกอายุมากแล้ว ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้แล้ว จึงได้ไปรับตาแก้วมาอยู่ด้วย เพราะเหตุนี้แหละที่ทําให้ตาแก้วกับข้าพเจ้าได้มีโอกาสรู้จักกัน

 

ตาแก้วมาอยู่กับลูกชาย คือ พี่ยาว ที่หมู่บ้านของเรา บ้านพี่ยาวตั้งอยู่ริมทุ่งนา แต่ด้านหลังติดกับสวนยางพารา สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นอย่างนั้นคือ เป็นสวนยางพาราสลับทุ่งนา ไม่ได้เป็นสวนยางพรืดเป็นร้อยๆ พันๆ ไร่ หรือเป็นทุ่งนาโล่งกว้างสุดลูกหูลูกตาเหมือนกับแถวภาคกลางและภาคอีสาน ที่พิน เมียพี่ยาวได้รับมรดกจากพ่อแม่คือสวนยางพารา 3-4 ไร่ ซึ่งติดกับนายอีก 4-5 ไร่ แกจึงตั้งบ้านอยู่ระหว่างนากับสวน ในสวนยางพาราของแกมีลำห้วยใหญ่ไหลผ่าน ในห้วยนั้นมีปลาอาศัยอยู่มากมาย ทุกฤดูแล้ง เมื่อน้ำในห้วยแห้งพอสมควรแล้ว พี่ยาวจะจัดการวิดปลา จับปลาในห้วยนั้นขาย ทำรายได้ให้กับครอบครัวพอสมควร แกจะวิดปลาตั้งแต่ตอนเย็น และกะว่า ให้น้ำแห้งพอจับได้เอาตอนกลางคืน เพราะเป็นที่นิยมกันในท้องถิ่นว่า ถ้าหากบ้านไหนวิดปลา คนบ้านใกล้เรือนเคียงสามารถมาจับปลาไปได้คนละ 1 มื้อแกง แต่ผู้วิดปลาส่วนใหญ่พยายามหาเวลาที่คนขอจับปลาน้อย จึงนิยมจับตอนกลางคืน อีกทั้งกันไม่ให้เด็กลงไปมั่วในห้วยด้วย

 

หมู่บ้านเรา ชาวบ้านนิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างกัน ไม่ได้ตั้งอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หรือตั้งอยู่ติดๆ กัน เหมือนกับหมู่บ้านแถวภาคกลางหรือภาคอีสาน เพราะว่า คนหมู่บ้านนั้นส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ทำกินของตัวเอง ที่ทำกินของบางครอบครัวแผ่อาณาเขตออกไปเป็นหลายสิบไร่ นั่นหมายถึงว่า บ้านนั้นจะต้องตั้งบ้านเรือนห่างจากบ้านคนอื่นไปเป็นสิบๆ  ไร่

 

คนท้องถิ่นเราทำนาได้เพียงปีละครั้ง และหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะเผาซัง เพราะการเผาซังนี้เองทำให้เกิดโศกนาฏกรรมน้อยๆ ขึ้นในหมู่บ้านบ่อยๆ เพราะบางครั้งคนเผาซังในนา ซึ่งนาอยู่ใกล้สวน ไฟไหม้ลุกลามไปเผาสวนด้วย บางทีก็ลามไปเผาบ้านเรือนด้วย ฉิบหายมากเข้าไปอีก

 

ข้าพเจ้าไปเยี่ยมตาแก้วล่าสุดเมื่อตอนที่แกอายุเลย 80 ปีแล้ว ครั้งสุดท้ายที่เจอกัน แกอยู่ในสภาพที่งอมเต็มที่ เดินเหินก็แทบจะไม่ได้ ลูกหลานต้องคอยล้างอุจจาระ ล้างปัสสาวะให้แล้ว พี่ยาวลูกชายของแกสร้างที่อยู่ให้แกโดยเฉพาะ โดยสร้างต่อไปจากโรงห้องครัว

 

ปีนั้น เสร็จงานเก็บเกี่ยวในนาแล้ว น้ำในห้วยกลางสวนยางก็แห้งขอด ได้จังหวะวิดแล้ว พี่ยาวกับเพื่อนบ้านจึงช่วยกันวิดน้ำแต่เย็น ด้วยหวังจะให้แห้งจับปลาได้ตอนกลางคืน ลูกเมียของแกมานั่งดูกันที่ตลิ่ง ที่บ้านจึงเหลือแต่ตาแก้วคนเดียว และตอนนั้น ตาแก้วชราภาพมาก ขนาดเดินเหินไปไหนไม่ได้แล้ว ได้แต่ถดไปมาอยู่แต่ในบ้าน

 

คืนนั้น กว่าน้ำจะแห้งพอที่จะจับปลาได้ก็ดึกมากแล้ว แต่เมียและลูกๆ พี่ยาวก็ยังอุตส่าห์ทนง่วงนั่งเฝ้าคอยที่จะจับปลา ปีนั้น ปลาในห้วยมีมากจริงๆ ทุกคนในครอบครัวพี่ยาว จึงช่วยจับปลาอย่างมันมือปลาตัวแล้วตัวเล่าถูกจับยัดลงในตะข้อง

ขณะที่พี่ยาวและลูกเมียกำลังมันอยู่กับการจับปลา เขียว เด็กบ้านติดกันวิ่งกระหืดกระหอบมาบอกว่า

“น้ายาว น้ายาว แย่แล้ว แย่แล้ว”  เขียวบอกแล้วหยุดหอบ

“มีเรื่องอะไรหรือ เขียว”  พี่ยาวตะโกนถามมาจากในห้วย

“บ้านน้าถูกไฟไหม้”

ข่าวนั้นทำให้ทุกคนในที่นั้นตกตะลึงตาค้างพี่ยาวทิ้งจากห้องไป แล้วรีบวิ่งขึ้นมาบนตลิ่ง ปากก็ถามว่า

“มันไหม้ได้ยังไง”

“ไฟมันลามทุ่งนา คงจะมีใครเผาซัง”

“ฉิบหายแล้วกู”  พี่ยาวว่า แล้วรีบปีนขึ้นจากห้วยทั้งในสภาพมอมแมม ลูกเมียของแกวิ่งตามกันขึ้นมาติดๆ

 

พี่ยาววิ่งฝ่าความมืดไปบ้าน แกสามารถคลำทางไปถึงบ้านได้โดยไม่ต้องอาศัยแสงไฟนำทาง แต่อาศัยความเคยชิน เพราะแกเดินผ่านทางนั้นเป็นประจำทุกวัน

ไปถึงบ้าน พี่ยาวใจหายวาบ เมื่อเห็นแสงไฟลุกท่วมบ้าน สายไปเสียแล้ว บ้านถูกไฟไหม้หมดทั้งหลัง

“พ่อ”   พี่ยาวร้องออกไปดังๆ เมื่อนึกได้ว่า ตาแก้ว พ่อของแกติดอยู่ในบ้าน

“พ่อ พ่อ พ่อ อยู่ไหน พ่อ พ่อ”

พี่ยาวร้องตะโกนสุดเสียง แต่ก็ไม่มีเสียงตอบจากกองไฟ คงมีแต่เสียงปะทุของวัตถุตันที่ดังอยู่ระยะๆ

“พ่อ พ่อ พ่อ โธ่ ฮือ ฮือ ๆ ๆ ๆ”  พี่ยาวร้องไห้โฮออกมาเมื่อเห็นสภาพในกองไฟ

เมียและลูกๆ ของแก รวมทั้งคนที่ได้รับทราบข่าวรายนั้น วิ่งตามมาถึง ก็พบแต่กองเพลิงลุกท่วมบ้าน พี่ยาวยืนร้องไห้อยู่ข้างๆ

 

ทุกคนรู้ว่า เหตุการณ์มันเลยไปสายเกินแก้แล้ว จึงไม่มีใครคิดที่จะหาน้ำหรือหาอะไรมาดับไฟ เพราะถัดจากนั้นเพียงครู่เดียว เปลวไฟก็ค่อยๆ ลดลง นั่นหมายถึง ไม่มีเชื้อเพลิงให้มันเผาไหม้อีกแล้ว ทุกอย่างกลายเป็นเถ้าถ่านไปแล้ว รวมทั้งร่างของตาแก้ว พรานล่าเต่ามือฉมังคนนั้นด้วย

 

ตาแก้วจบชีวิตลงอย่างน่าเวทนา ขณะที่ถูกไฟคลอกแกคงจะทรมานมาก พอรู้ข่าวว่าตาแก้วตาย ข้าพเจ้าใจหายวาบ และเมื่อรู้ว่าแกตายในกองเพลิง สิ่งแรกที่ข้าพเจ้านึกถึง คือ คำบอกเล่าเกี่ยวกับวิธีล่าเต่าในฤดูแล้งที่ใช้วิธีเผาต้นกระจูด ต้นปรือ เพื่อให้ไฟคลอกเต่าตาย หรือให้เต่าหนีไฟลงไปตายอยู่ในหลุมที่พรานขุดวางไว้

นั่นมันคงเป็นกฎแห่งกรรมที่ตาแก้วจะต้องชดใช้ให้กับปาณาติบาตที่แกได้ประกอบมาหลายสิบปี

 

ที่มาและการอ้างอิง

กรรมอุทาหรณ์ ชุด 3   ฉลอง เจยาคม