มีคนจำนวนมากถึง 15% ของประชากรทั่วไป เคยประสบปัญหาเรื่องการแพ้แบบรุนแรง หรือที่เรียกว่า “ภาวะแพ้จนช็อกแบบอนาไฟแล็กซิส (Anaphylaxis)” ซึ่งเป็นภาวะที่อาจมีหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ ดังที่เราได้เห็นจากหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องการแพ้ยา แพ้พิษเหล็กในตัวต่อ ถูกผึ้งต่อย แพ้ยางลาเท๊กซ์ หรือแม้แต่อาหารพวกถั่วลิสง
นักวิจัยร่วมจากสองมหาวิทยาลัยคือแฟลนเดอร์และมหาวิทยาลัยเก้นท์ ได้ค้นพบกลไกการเกิดภาวะแพ้แบบรุนแรงนี้ และได้เสนอแนวทางใหม่ในการรักษาอนาไฟแล็กซิส (Anaphylaxis) แต่เดิมนั้น เราใช้วิธีรักษาโดยฉีดอะดรีนาลีน ซึ่งใช้กันมานาน และบ่อยครั้งที่อะดรีนาลีนไม่สามารถช่วยหัวใจที่ล้มเหลวจากอนาไฟแล็กติกช็อก (anaphylactic shock) ได้ ซึ่งเรารู้เพียงว่าเป็นกลไกจาก ปัจจัยกระตุ้นเกล็ดเลือด (Platelet Activating Factor) ร่วมกับปริมาณของไนตริกออกไซด์ (NO) ที่สูงมากในร่างกาย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเก้นท์ได้ทดลองในหนู เพื่อเข้าใจกลไกดังกล่าว ผลที่ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับทีมวิจัยมกเมื่อพบว่า ปัจจัยกระตุ้นเกล็ดเลือด (PAF) นั้นไม่ขึ้นกับปริมาณของไนตริกออกไซด์เลย หากไนตริกออกไซด์ถูกควบคุรมโดยอีนอส (eNOS) ผ่าน วิถีพีไอทรีเค (Pi3k pathway) ซึ่งเคยเชื่อกันมาตลอดว่าวิถีพีไอทรีเคนี้มีบทบาทในการควบคุมแต่ความดันโลหิตให้ปกติเท่านั้น ไม่ใช่บทบาทในภาวะช๊อก เมื่อทราบสาเหตุดังนี้แล้ว ก็พบว่าการยับยั้งที่อีนอส (eNOS) หรือ พีไอทรีเค (PI3K) ก็จะสามารถป้องกันการเกิดช็อกแบบอนาไฟแล็กซิสได้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนายาต้านการแพ้รุนแรงชนิดใหม่ๆ ขึ้นมา
โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ ภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการ โดยจะเกิดอาการเฉพาะในคนที่แพ้เท่านั้น ในคนปกติจะไม่เกิดอาการ
โรคภูมิแพ้เป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย อาการของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของโรคภูมิแพ้ที่เป็น ซึ่งพยาธิสภาพนั้น เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานมากเกินไป ทำให้เยื่อบุที่อวัยวะต่างๆ มีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากเกินไป ทำให้เกิดการตอบสนองที่มากผิดปกติของอวัยวะนั้นๆ เช่น
- ถ้าเป็นที่ตา เรียกว่า เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic conjunctivtis) ผู้ป่วยจะมีอาการคันและเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล หนังตาบวม แสบตา
- ถ้าเป็นที่จมูก เรียกว่า โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) หรือโรคแพ้อากาศ ผู้ป่วยจะมีอาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหลออกมาทางจมูก หรือไหลลงคอ คัดจมูก คันเพดานปากหรือคอ
- ถ้าเป็นที่หลอดลม เรียกว่า โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ โรคหอบหืด (asthma) ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด หายใจลำบาก หรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะตอนกลางคืน เช้ามืด หรือขณะออกกำลังกาย หรือขณะเป็นไข้หวัด
- ถ้าเป็นที่ผิวหนัง เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (atopic dermatitis) ผู้ป่วยจะมีอาการคัน มีผดผื่นตามตัว ผื่นมักแห้ง แดง มีสะเก็ดบางๆ หรือมีน้ำเหลืองแห้งกรังปกคลุมอยู่ ในเด็กเล็กมักเป็นที่แก้ม ก้น หัวเข่า และข้อศอก ในเด็กโตมักเป็นที่ข้อพับแขนและขา ในรายที่เป็นเรื้อรังผิวหนังบริเวณที่เป็นจะหนาตัวและมีสีคล้ำขึ้น นอกจากนั้น ผิวหนังอาจเกิดการอักเสบจากการสัมผัสกับสารบางชนิดที่แพ้ได้ เช่น ผงซักฟอก เครื่องสำอาง โดยอาจมีการอักเสบเป็นตุ่มนูนคัน หรือใหญ่เป็นปื้นนูนแดง และคันมากที่เรียกว่า ลมพิษ ซึ่งมักจะเกิดจากการแพ้อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล หรือแพ้แมลงกัดต่อย หรือแพ้ยา
- ถ้าเป็นที่ระบบทางเดินอาหาร เรียกว่า โรคแพ้อาหาร (food allergy) ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย ปากบวม ปวดท้อง ท้องอืด อาจมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ (เช่น หอบหืด แพ้อากาศ) และ ผิวหนัง (เช่น ผื่น คัน ลมพิษ) ร่วมด้วย อาหารที่เป็นสาเหตุได้บ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่ว อาหารทะเล ผักและผลไม้บางชนิด ผงชูรส สารกันบูด สารแต่งกลิ่นและสี
การรักษาโรคภูมิแพ้ มี 4 ขั้นตอน คือ
1.การดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงการกำจัดสิ่งที่แพ้ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการรักษาและป้องกันที่สาเหตุ อาจใช้วิธีสังเกตว่าสัมผัสกับอะไร อยู่ในสิ่งแวดล้อมใด หรือรับประทานอาหารอะไรแล้วมีอาการ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น นอกจากนั้นควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยลง
2.การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาต้านฮีสทามีน ซึ่งมีความจำเป็นในระยะแรก เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองต่างๆได้ 100% อย่างไรก็ตาม อย่าเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ เมื่อสามารถดูแลตนเอง และควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ
3.การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เป็นการรักษาโดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเข้าไปในร่างกายทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวน เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย
4.การรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งให้การรักษาด้วยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษาด้วยยา
เมื่อเกิดปฏิกิริยาการอักเสบจากภูมิแพ้ สารเคมีสำคัญที่หลั่งออกมา คือ ฮิสทามีน (histamine) ซึ่งจะกระตุ้นทำให้เกิดอาการต่างๆ ของโรคภูมิแพ้ ยาต้านฮีสทามีน จะไปป้องกันไม่ให้ฮีสทามีนจับตัวรับฮีสทามีนที่อวัยวะต่างๆ จึงบรรเทาอาการต่างๆ ของโรคภูมิแพ้ดังกล่าวข้างต้นได้
ยาต้านฮีสตามีน แบ่งเป็น
1.ยาต้านฮีสทามีนชนิดเฉพาะที่ (topical H1-antihistamine) ยาต้านฮีสตามีนชนิดพ่นจมูก มีประสิทธิภาพดีในการบรรเทาอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล และผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้มักจะทนต่อยาได้ดี ยาต้านฮีสทามีนชนิดหยอดตา มีประสิทธิภาพดีเช่นกันในการบรรเทาอาการ คัน เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล แต่ยาต้านฮีสทามีนชนิดพ่นจมูก ดูเหมือนว่าจะไม่ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ทางตาเท่าใดนัก เมื่อเปรียบเทียบกับยาต้านฮีสทามีนชนิดกิน ข้อดีของยาต้านฮีสทามีนชนิดเฉพาะที่คือ สามารถออกฤทธิ์บรรเทาอาการทางจมูกและตาได้เร็ว (ภายใน 30 นาที) ปัจจุบันยาต้านฮีสทามีนชนิดพ่นจมูกไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย
2.ยาต้านฮีสทามีนผสมกับยาหดหลอดเลือด (H1-antihistamine + decongestant) จุดประสงค์ของการผสมยาทั้งสองชนิดเข้าด้วยกัน คือ ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งยาต้านฮีสทามีนมีฤทธิ์ดังกล่าวน้อย นอกจากนั้น ถ้ายาต้านฮีสทามีนชนิดที่ผสมกัน เป็นชนิดที่ทำให้ง่วง ยาหดหลอดเลือดอาจช่วยลดผลข้างเคียงดังกล่าวได้ ยาผสมชนิดนี้สามารถให้ได้ถ้าผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอาการคัน น้ำมูกไหล จาม ร่วมกับอาการคัดจมูก และมีรายงานว่าสามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้ดี ข้อดีคือไม่ต้องสั่งยาทั้ง 2 ชนิด (คือ ยาต้านฮีสทามีนและยาหดหลอดเลือด) ให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งจะเพิ่มความร่วมมือของผู้ป่วยในการกินยา
ยาต้านฮีสทามีนชนิดกิน (oral H1-antihistamine) มี 3 รุ่น
1.ยาต้านฮีสทามีนรุ่นแรก เช่น ยา chlorpheniramine, diphenhydramine, cyproheptadine, hydroxyzine ยากลุ่มนี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม จึงไม่ควรใช้ในผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกลหรือขับขี่รถยนต์ เรือ เครื่องบิน และไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยากดประสาทชนิดอื่นๆ เช่น ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ ยาคลายเครียด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์) นอกจากนั้นยาชนิดนี้ จะมีฤทธิ์ต้านระบบประสาทชนิดโคลเนอร์จิก (anticholinergic) ด้วย ทำให้เกิดอาการปากแห้ง คอแห้ง เสมหะและน้ำมูกเหนียวข้น ท้องผูก ปัสสาวะขัดในผู้ชาย ควรหลีกเลี่ยงในผู้ป่วยโรคหืดโดยเฉพาะขณะหอบ โรคต้อหิน และโรคต่อมลูกหมากโต
2.ยาต้านฮีสทามีนรุ่นที่ 2 เป็นการพัฒนายาต้านฮีสตามีนรุ่นแรก เช่น terfenadine, astemizole, loratadine และ cetirizine ยา terfenadine และ astemizole มีปัญหาต่อระบบหัวใจจึงได้ถอนทะเบียนออกไป ยากลุ่มนี้มีข้อดีกว่ายาต้านฮีสทามีนรุ่นแรก คือ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้และออกฤทธิ์ได้นาน เพราะจับตัวรับฮีสทามีนได้แน่นและนานขึ้น และไม่มีผลข้างเคียงเหมือนยาต้านฮีสทามีนรุ่นแรก
3.ยาต้านฮีสทามีนรุ่นที่ 3 เป็นยาต้านฮีสทามีนรุ่นใหม่ ซึ่งพัฒนามาจากยาต้านฮีสทามีนรุ่นที่ 2 เช่น fexofenadine, desloratadine และ levocetirizine ยากลุ่มนี้มีข้อดีกว่ายาต้านฮีสทามีนกลุ่มอื่นๆ คือ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดี ตัวยาเป็นตัวที่สามารถออกฤทธิ์ได้เลย ดังนั้นจึงไม่รบกวนการทำงานของตับ ยาออกฤทธิ์ได้นาน เพราะจับตัวรับฮีสทามีนได้แน่นและนานขึ้น จึงใช่เพียงวันละครั้ง และเจาะจงเฉพาะกับตัวรับฮีสทามีนชนิด H1 (histamine H1-receptor) เท่านั้น จึงใช้ปริมาณยาน้อยลง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ใช้ยาต้านฮีสทามีนรุ่นที่ 2 หรือ 3 มากกว่ายาต้านฮีสทามีนรุ่นแรก สำหรับผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ยาต้านฮีสทามีนได้ผลดีในการบรรเทาอาการที่เกิดจากฮิสทามีน เช่น คัน จาม น้ำมูกไหล คันเคืองตา แต่ได้ผลน้อยกับอาการคัดจมูก นอกจากนั้น ยาต้านฮีสทามีนยังช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ดีขึ้นด้วย การใช้ยาต้านฮีสทามีนในการรักษาโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในเด็กนั้น ได้ผลดีและปลอดภัย
เรื่องภูมิแพ้นั้นเป็นเหมือนโรคประจำตัวของผู้คนเมืองใหญ่ไปแล้ว เป็นโรคที่ทำให้หลายคนรำคาญและหงุดหงิดเพราะไม่หายขาดเสียที แต่ที่จริงแล้วหัวใจของการรักษาหรือยาวิเศษอยู่ที่ตัวท่านเอง นั่นคือ “การออกกำลังกาย” หากท่านได้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถทำให้ร่างกายไม่ไวต่อสารกระตุ้นภูมิแพ้มาก และระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น อาการแพ้จากที่เคยรุนแรงมาก็จะน้อยลงและจนห่างขึ้น จนในที่สุดก็จะไม่มารบกวนชีวิตเราอีกเลย
ที่มาและการอ้างอิง :
กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เส้นประสาท HealthToday June 2015 รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจมูกและภูมิแพ้
ถอดรหัสความชรา ตอน 120 วิธี อายุยืน 120 ปี เล่ม1 เรียบเรียงโดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช