วันพฤหัสบดี, 28 พฤศจิกายน 2567

ซีลีเนียม มีส่วนสำคัญในการเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวอสุจิของเพศชาย Ep.72

ซีลีเนียม (Selenium) เสมือนหน่วยรักษาความปลอดภัยของร่างกาย เป็นเหมือนยามคอยระแวดระวังภัยของร่างกาย ทำหน้าที่เหมือนเป็นเครื่องดักจับสารพิษ และสิ่งแปลกปลอม เป็นเกลือแร่ที่ร่างกายใช้ในการดักจับสารพิษต่างๆ รวมไปถึงเป็นสารที่ป้องกันเซลล์จากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ อันเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งทุกรูปแบบ

 

 

ซีลีเนียม เป็นส่วนประกอบของ “เอนไซม์กลูตาไธโอน” เอนไซม์ชนิดนี้ทำงานร่วมกันกับวิตามินอี โดยที่ร่างกายจะใช้ซีลีเนียมเป็นปราการด่านหน้า ในการเข้าจับกับสารพิษและออกซิเจนอิสระ จะคอยถ่ายโอนอิเล็กตรอนให้กับอนุมูลอิสระ แทนที่จะไปดึงเอาจากเซลล์ สารพิษหรืออนุมูลอิสระชนิดใด ที่หลุดรอดไปจากการตรวจจับของซีลีเนียม ก็จะเป็นหน้าที่ของสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่นๆ ของร่างกายอีกทีหนึ่ง โดยเฉพาะวิตามินอีนั่นเอง เพราะซีลีเนียมจะจับตัวอยู่ที่ผนังเซลล์เช่นเดียวกันกับวิตามินอี ซีลีเนียม มีส่วนสำคัญในการเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวอสุจิของเพศชาย ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นหมันอันเนื่องมาจากความอ่อนแอของตัวอสุจิ  และซีลีเนียม มีความสำคัญอย่างมากต่อการคงตัวของภูมิคุ้มกันร่างกาย ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น ซีลีเนียมช่วยลดการจับตัวกันเป็นก้อนของไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว ช่วยให้ใบหน้าเรียบเนียน ลดการอุดตันของไขมันในรูขุมขน

 

ซีลีเนียมเป็นแร่ธาตุที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ อาหารที่เป็นแหล่งของซีลีเนียม ได้แก่ บราซิลนัท อาหารทะเล เครื่องในและเนื้อสัตว์ ธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม และไข่ ซีลีเนียมมีบทบาทสำคัญต่อการซ่อมแซม DNA ต่อมไร้ท่อ และภูมิคุ้มกัน ทั้งยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ตลอดจนช่วยลดอาการข้างเคียงจากการได้รับยามะเร็ง cisplatin อย่างไรก็ตามการได้รับซีลีเนียมในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น ลมหายใจมีกลิ่นกระเทียม มีรสโลหะในปาก ผมและเล็บเปราะ อาเจียน ท้องเสีย ผื่นผิวหนัง เป็นต้น ผู้ที่วางแผนจะเสริมซีลีเนียมจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

 

ซีลีเนียมเป็นแร่ธาตุที่สามารถพบได้ในรูปอนินทรีย์ (ซีลีเนทและซีลีไนท์) และ ซีลีเนียมอินทรีย์ (ซีลีโนเมไทโอนีนและซีลีโนซิสเตอีน) ซึ่งร่างกายสามารถนำซีลีเนียมทั้งในรูปแบบอินทรีย์และอนินทรีย์ไปใช้ได้ และการดูดซึมซีลีเนียมทั้ง 2 รูปแบบจะไม่เท่ากัน โดยร่างกายสามารถดูดซึม ซีลีโนไทโอนีนได้ถึงร้อยละ 90 ของปริมาณที่รับประทาน แต่ดูดซึมชีลีไนท์ได้เพียงร้อยละ 50 ของปริมาณที่รับประทาน ขนาดของซีลีเนียมที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันแตกต่างกันไปตามอายุและสภาวะของร่างกาย (เช่น ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร) โดยในผู้ใหญ่ควรได้รับซีลีเนียมวันละ 55 ไมโครกรัม ซีลีเนียมมีจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมในรูปของซีลีโนเมไทโอนีน และ เกลือโซเดียมของซีลีไนท์ หรือ ซิลิเนท

 

ซีลีเนียมที่พบในคนและสัตว์อยู่ในรูปของซีลีโนเมไทโอนีน เนื่องจากเมไทโอนีนเป็นกรดอะมิโนซึ่งเป็นหน่วยย่อยของโปรตีน ซีลีเนียมจึงถูกสะสมในโปรตีนในร่างกาย โดยกล้ามเนื้อลายเป็นอวัยวะที่มีซีลีเมไทโอนีนสะสมในปริมาณที่สูงที่สุด อาหารที่เป็นแหล่งสำคัญของซีลีเนียม ได้แก่ บราซิลนัท อาหารทะเล (เช่น ปลาทูน่า ปลาตาเดียว ปลาซาร์ดีน กุ้ง หอย) เครื่องในสัตว์ (เช่น ตับ) เนื้อสัตว์ (เช่น เนื้อไก่ หมู วัว แฮม) ธัญพืช (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ) ผลิตภัณฑ์จากนม (ได้แก่ เนยแข็ง) และไข่

 

ซีลีเนียมมีบทบาทสำคัญต่อการซ่อมแซม DNA การตายของเซลล์ตามกำหนด ระบบต่อมไร้ท่อ และระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ซีลีเนียมยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงมีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันในร่างกาย ลดการอักเสบ และป้องกันการแข็งตัวของเกร็ดเลือด อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานวิจัยรับรองประสิทธิภาพของซีลีเนียมสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง โรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคเกี่ยวกับความจำหรือการรับรู้ เนื่องจากซีลีเนียมเป็นสารอาหารที่พบได้ในอาหารหลายชนิด การรับประทานอาหารตามปกติจะทำให้ร่างกายได้รับซีลีเนียมอย่างเพียงพอ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะขาดซีลีเนียม ได้แก่ ผู้ที่ฟอกไต ผู้ติดเชื้อเอชไอวี การขาดซีลีเนียมจะทำให้การทำงานของร่างกายเปลี่ยนแปลงซึ่งหากร่างกายอยู่ในภาวะเครียดจะทำให้เกิดโรคได้ เช่น การขาดซีลีเนียมร่วมกับการติดเชื้อไวรัส สามารถทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิด Keshan disease นอกจากนี้การขาดซีลีเนียมยังมีความสัมพันธ์กับภาวะเป็นหมันในเพศชาย และโรคกระดูกข้ออักเสบ (osteoarthritis) ชนิด Kashin-Beck disease การขาดซีลีเนียมในสตรีมีครรภ์จะทำให้ภาวะขาดไอโอดีนรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

 

การรับประทานซีลีเนียมทั้งในรูปอินทรีย์และอนินทรีย์จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากเกินขนาด (ขนาดสูงสุดของซีลีเนียมที่ไม่ทำให้เกิดพิษในผู้ที่มีอายุ 14 ปีขึ้นไปคือ 400 มิลลิกรัมต่อวัน) อย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดอาการ เช่น มีลมหายใจกลิ่นเหมือนกระเทียม มีรสโลหะในปาก ผมและเล็บร่วงเปราะ นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ เช่น มีรอยโรคที่ผิวหนังหรือระบบประสาท รู้สึกไวต่อการกระตุ้น ล้า อาเจียน ท้องเสีย ผื่นผิวหนังคันเป็นจุด ในกรณีที่รับประทานซีลีเนียมในปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลัน ได้แก่ อาการรุนแรงทางระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผมร่วง กล้ามเนื้อกดเจ็บ สั่น เวียนศีรษะ หัวใจล้มเหลว และอาจถึงแก่ชีวิตได้

 

ยา cisplatin สำหรับรักษามะเร็ง (เช่น มะเร็งรังไข่ กระเพาะปัสสาวะ ปอด) สามารถลดระดับซีลีเนียมในน้ำเลือดและผมได้ อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบว่าการลดระดับดังกล่าวก่อให้เกิดผลอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ซีลีเนียมยังอาจลดอาการข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งด้วยยา cisplatin

 

ข้อแนะนำ
ยังไม่มีงานวิจัยรองรับผลของซีลีเนียมต่อโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือความจำ อีกทั้งการรับประทานอาหารหลักครบ 5 หมู่ ทำให้ร่างกายได้รับซีลีเนียมเพียงพอ จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อเสริมซีลีเนียม ผู้ที่ต้องการรับประทานซีลีเนียมสำหรับเสริมอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง เนื่องจากการรับประทานซีลีเนียมเกินขนาดก่อให้เกิดพิษรุนแรงได้

 

ที่มาและการอ้างอิง

สุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพ วิตามิน A – Zinc รศ.สุกมล ณรงค์วิทยากุล
กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เส้นประสาท โดย : ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก HealthToday June 2015