กล้วยไข่ เป็นผลไม้ที่มีพลังงานมากที่สุดคือ 140 กิโลแคลอรี่จากปริมาณ 100 กรัมของส่วนที่รับประทานได้ อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระทั้งยังมีสารเบต้าแคโรทีนสูงถึง 462 ไมโครกรัม สูงกว่ากล้วยหอม 5 เท่า ในกล้วยไข่ 1 ผลจะมีเส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำถึง 16 กรัม เมื่อรับประทานเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายขับถ่ายได้สะดวกและไม่เป็นโรคท้องผูกอีกด้วย นอกจากนี้ในผลกล้วยไข่ ยังมีธาตุโพแทสเซียมแมกนีเซียม ซึ่งเป็นแหล่งวิตามิน เอ บี 2 บี 6 และวิตามินซีอีกด้วย
กล้วยน้ำว้า เป็นผลไม้ที่มีอยู่ตลอดปี แถมยังให้พลังงานใกล้เคียงกับกล้วยไข่ ทั้งยังมีสารแทนนินช่วยในการรักษาโรคท้องผูกและท้องเสียได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสียอยู่เสมอสามารถรับประทาน “กล้วยน้ำว้าห่ามๆ” ครั้งละ 1 ผลหรือนำ “กล้วยน้ำว้าดิบ” มาฝานเป็นแว่นบางๆ ตากให้แห้ง บดเป็นผงแล้วนำมาชงน้ำร้อนดื่ม จะช่วยรักษาอาการท้องเสียได้อย่างดี ในขณะที่กล้วยน้ำว้าสุก จะให้ผลในทางตรงกันข้าม คือ มีฤทธิ์เป็นยาระบาย เนื่องจากสารเพกตินมีคุณสมบัติเป็นเมือกลื่น ช่วยให้การขับถ่ายเป็นไปอย่างสะดวก ด้วยการรับประทานกล้วยน้ําว้าสุกทั้งผล หรือจะแช่ในน้ำผึ้ง รับประทานก่อนนอนก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถใช้กล้วยน้ําว้าสุกเพื่อเสริมความงาม ด้วยการนำมาพอกหน้าให้ความชุ่มชื่น และถนอมผิวสำหรับผู้ที่มีผิวเเห้งได้อีกด้วย
“กล้วย” จัดเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง มีสังกะสี เหล็ก กรดโฟลิกแคลเซียมและสารอาหารอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ในผลกล้วยมีสารเพกตินซึ่งช่วยให้ร่างกายขับถ่ายของเสียออกมาได้สะดวก และยังช่วยเพิ่มปริมาณกากใยอาหารได้เช่นเดียวกับแอปเปิ้ล ทำให้ขับถ่ายได้ดีขึ้น และไม่ใช่เพียงแค่ “กล้วยไข่” หรือ “กล้วยน้ำว้า” เท่านั้นที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ แต่ในผลกล้วยทุกชนิดล้วนแต่มีคุณค่าทางอาหารและสรรพคุณทางยาแทบจะเหมือนกันทั้งสิ้น เว้นแต่มากน้อยแตกต่างกันไปเท่านั้น
กล้วย บรรเทาอาการท้องอืด สามารถนำมาใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง จุกเสียด โดยใช้กล้วยน้ำว้าดิบ (หรือกล้วยหักมุก) ฝานบางๆ เป็นแว่นๆ นำไปตากแดดให้แห้งกรอบประมาณ 2 วัน จากนั้นนำมาบดให้เป็นผงละเอียด นำมารับประทานให้ผสมกับน้ำข้าว น้ำผึ้ง หรือน้ำต้มสุกธรรมดาก็ได้ ชงดื่มเวลามีอาการท้องร่วง ท้องเสียครั้งละ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ รับประทานก่อนอาหารและก่อนนอนครึ่งชั่วโมง
กล้วย รักษาโรคริดสีดวงทวาร เป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคได้แทบทุกส่วนของต้น ซึ่งนอกจากจะจัดเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วนแล้ว ซึ่งถือเป็นผลไม้ครอบจักรวาล ที่เทียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติทางยาสมุนไพรอีกด้วย โดยเฉพาะวิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารอันแสนง่าย ที่ใครก็สามารถทำเองได้โดยไม่ยุ่งยาก นั่นก็คือการรับประทานกล้วยวันละ 2 ลูก ก่อนการรับประทานอาหารเช้า นอกจากจะช่วยให้ถ่ายง่าย ถ่ายคล่องแล้วยังช่วยลดการอักเสบและเจ็บปวดเนื่องจากแผลริดสีดวงได้อีกด้วย
กล้วย ควบคุมระดับความดันโลหิต อาหารที่มีเส้นใยอาหารนั้นสามารถช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกล้วย นอกจากนี้ก็ยังเชื่อว่าสารโพแทสเซียมที่พบในกล้วยจะช่วยให้ร่างกายขับโซเดียมออกมาทางปัสสาวะได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อระดับความดันโลหิตที่ลดลงตามไปด้วย ประโยชน์ของกล้วยในด้านนี้ มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องเผยว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างอาสาสมัครที่รับประทานอาหารเสริมโพแทสเซียมเพิ่มในมื้ออาหาร 36 มิลลิโมล ซึ่งเทียบเท่ากับการรับประทานกล้วย 2.5 ลูก กับอีกกลุ่มที่ได้รับโพแทสเซียม 6 มิลลิโมล พบว่ากลุ่มที่ได้โพแทสเซียมสูงกว่ามีระดับความดันโลหิตที่ลดต่ำลงมากกว่า
อย่างไรก็ตาม แม้งานวิจัยดังกล่าวจะพบผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการลดระดับความดันโลหิต แต่ด้วยการศึกษาด้านนี้ยังมีไม่มากพอ จึงยากที่จะสรุปได้ว่ามีประสิทธิภาพจริง นอกจากนี้ยังไม่สามารถยืนยันว่าจะได้ผลเช่นเดียวกันเมื่อรับประทานกล้วย 2.5 ลูก แทนอาหารเสริมโพแทสเซียม คงต้องรอผลการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของกล้วยต่อการลดระดับความดันโลหิตโดยตรงกันต่อไป
กล้วย ช่วยลดอาการท้องเสีย เชื่อกันว่ากล้วยเป็นผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพท้อง เพราะคาร์โบไฮเดรตจากกล้วยที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้นั้นเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเหล่าจุลินทรีย์โปรไบโอติกซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีที่พบในลำไส้ ช่วยให้จุลินทรีย์ชนิดนี้เพิ่มจำนวนขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่กล่าวว่าจุลินทรีย์โปรไบโอติกสามารถช่วยลดอาการท้องเสียอันเป็นผลข้างเคียง ที่เกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะบางชนิดด้วย
งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาถึงประโยชน์ต่อการรักษาอาการท้องเสียของกล้วย โดยให้เด็กชาย 57 คนที่มีอาการท้องเสียอย่างต่อเนื่องนาน 14 วันขึ้นไป รับประทานข้าวเป็นอาหารหลักกับกล้วยดิบที่ผ่านการปรุงให้สุก ข้าวกับสารสกัดจากเปลือกกล้วยอย่างเพคติน (Pectin) หรือข้าวปกติเพียงอย่างเดียว ผลการศึกษาชี้ว่ากล้วยดิบปรุงสุกและเพคตินต่างมีประสิทธิภาพต้านอาการท้องเสียด้วยการช่วยให้ภาวะลำไส้เล็กรั่วดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำกล้วยมารักษาอาการท้องเสียยังไม่เป็นที่ยอมรับเช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ โรค
ที่มาและการอ้างอิง
https://www.pobpad.com/
รู้ทันโรคบริโภคสมุนไพร ผู้แต่ง อารีรัตน์