วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

วิธีทำความสะอาดหูฟังง่ายๆ ด้วยอุปกรณ์ใกล้ตัว

10 ก.ย. 2018
2914

สิ่งของทุกชิ้นที่เราซื้อมา ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ ยานพาหนะ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า การดูแลรักษาเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องให้ความสำคัญ เพราะจะทำให้เฟอร์นิเจอร์ของเราอยู่กับเราไปได้นานยิ่งขึ้นสมกับที่เราตั้งใจเก็บเงินซื้อมา

 

 

บทความนี้เราจะมาพูดถึงวิธีทำความสะอาดหูฟัง ที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะมันเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่างๆ ไว้เยอะแยะไปหมด ไม่ว่าจะเป็น แบคทีเรีย, เหงื่อ, รังแค, ผิวหนังที่ลอก, น้ำมันจากผิว, น้ำมันจากเครื่องสำอาง, ฝุ่น, และขี้หู เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถ้าสะสมไปมากๆ ก็ไม่เป็นผลดีต่อร่างกายของเรา แม้ว่าคุณจะใช้หูฟังเพียงแค่ชั่วระยะเวลาสั้นใน 1 วันก็ตาม

 

หูฟังทำมาจากวัสดุที่หลากหลาย ดังนั้นในการทำความสะอาดก็ต้องเลือกอุปกรณ์ในการทำความสะอาดที่เหมาะสมกันด้วย เพื่อเป็นการถนอมรักษาหูฟังของคุณให้ใหม่อยู่เสมอ วัสดุที่คุณควรต้องเตรียม เช่น แอลกอฮอล์, น้ำกลั่น, สบู่เด็ก, ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์, ผ้าทำความสะอาดหรือผ้าไมโครไฟเบอร์, แปรงสีฟัน เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวนี้สามารถนำไปทำความสะอาดสายชาร์ทแบตเหลืองได้ด้วยเช่นกัน

 

วิธีการทำความสะอาดหูฟังแบบพลาสติกหรือซิลิโคน

หูฟังส่วนใหญ่ทำมาจากพลาสติก เช่น ปลอกหุ้ม, โครงของหูฟัง และซิลิโคน เช่น สายเคเบิ้ล, ส่วนของหูฟัง, สายรัดศีรษะ เป็นต้น ดังนั้นในการทำความสะอาดที่ดีที่สุดคือ การใช้แอลกอฮอล์เจือจางเล็กน้อยกับน้ำกลั่น แล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้ทั่ว แต่ต้องไม่ลืมที่จะถอดหัวซิลิโคนออกก่อน เพื่อที่จะทำความสะอาดด้านในได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยความที่แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคและสิ่งสกปรกอยู่แล้ว สามารถระเหยได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงไม่มีสารและกลิ่นตกค้าง รวมถึงไม่มีปฏิกิริยากับพลาสติกและซิลิโคน จึงเหมาะที่จะนำมาทำความสะอาดหูฟัง ต่างกับสารฟอกขาวอื่นๆ ที่อาจจะทำให้หูฟังของคุณมีการหลุดลอกได้จากฤทธิ์ของสารดังกล่าว

 

วิธีการทำความสะอาดหูฟังแบบโลหะและไม้

หูฟังแบบโลหะมักจะมีราคาสูงสักนิด เพราะด้วยวัสดุที่นำมาใช้จะทำให้หูฟังมีความทนทาน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น เช่น อลูมิเนียม, ไทเทเนียม, ไม้ เป็นต้น เพราะวัสดุดังกล่าวนี้จะส่งผลในเรื่องของเสียงที่ทำได้ดีกว่าแบบพลาสติก หากเป็นแบบที่คาดศีรษะการปรับความยาวสั้นก็จะทำได้สะดวกกว่า ในส่วนของการทำความสะอาดหูฟังก็ให้ใช้แอลกอฮอล์ผสมน้ำกลั่น แล้วใช้ผ้าที่เตรียมไว้ชุปพอหมาดๆ แล้วเช็ดได้เลย วิธีการเช่นนี้จะเป็นการเพิ่มความเงางามให้กับหูฟังราคาสูงของเราด้วย ในส่วนที่เป็นไม้ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดไม้โดยตรงจะดีที่สุด เพราะจะเป็นการรักษาเนื้อไม้ให้มีความสวยงามเหมือนเดิม แต่หากไม่มีก็ให้ใช้น้ำอุ่นผสมกับสบู่เด็กอ่อนๆ เช็ดแทนได้

 

วิธีการทำความสะอาดช่องหูฟังและไมโครโฟน

ในส่วนของช่องหูฟังและไมโครโฟน จะเป็นส่วนที่เล็กมากและสกปรกมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความสะอาดเป็นประจำสม่ำเสมอ ในการเลือกซื้อหากสามารถเลือกชนิดที่ถอดออกมาเพื่อใช้แปรงสีฟันความสะอาดได้อย่างง่ายจะเป็นการดีที่สุด ซึ่งหูฟังชนิดนี้อาจมีราคาแพงสักนิด แต่จะเป็นการคุ้มค่ามากกว่า หากเราซื้อหูฟังในราคาสูงกว่าปกติแต่ก็สามารถใช้งานได้นานหลายปี

ในการทำความสะอาดให้สังเกตคราบสกปรกที่เกาะอยู่ หากมีการสะสมมากให้ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สำหรับล้างหู แตะเบาๆเพียงเล็กน้อยที่หูฟัง ก็จะทำให้การสะสมของขี้หูที่ติดอยู่ที่ช่องหูฟังค่อยๆละลายตัว โดยใช้เวลา 1-2 นาทีเท่านั้น จากนั้นให้ใช้แปรงสีฟันค่อยๆแปรงเศษคราบออกมาอีกครั้ง อย่าใช้ไม้จิ้มฟันเขี่ยออก เพราะอาจจะเป็นการดันเศษขี้หูให้กลับเข้าไปในช่องหูฟังได้ หากคุณมีเครื่องดูดฝุ่นเล็กๆ ก็สามารถนำมาดูเศษฝุ่นได้รวมถึงไมโครโฟนด้วย จากนั้นก็ทำความสะอาดชิ้นส่วนโดยรอบด้วยแอลกอฮอล์ผสมน้ำกลั่นอีกครั้ง

 

5 เคล็ดลับในการบำรุงรักษาหูฟัง

1.เก็บหูฟังไว้ในกล่องเสมอหากไม่ได้ใช้งาน

2.ภายในกล่องควรมีซิลิก้าเจลเพื่อดูดซับความชื้นเพื่อเป็นการป้องกันเชื้อรา

3.ใช้ผ้าที่นุ่มและสะอาดเสมอในการเช็ดทั้งก่อนและหลังการใช้งานเพื่อป้องกันการสะสมเชื้อโรค

4.พยายามไม่ใช้หูฟังร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันเชื้อโรค

5.หลังจากทำความสะอาดแล้ว ต้องมั่นใจว่าหูฟังแห้งสนิทแล้วจริงๆจึงเก็บเข้ากล่อง มิเช่นนั้นอาจทิ้งสารตกค้างที่หูฟังได้