ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีดั่งเดิมของชาวล้านนา ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล โดยจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น “กิ๋นก๋วยสลาก” “ตานข้าวสลาก” “กิ๋นข้าวสลาก” หรือ “กิ๋นสลาก” หากเป็นในภาคกลางจะเรียกว่า “สลากภัต“ โดยรายละเอียดปลีกย่อยจะแตกต่างกันไป รวมถึงในภาคเหนือด้วย
ติดตามคลิปอื่น ๆ ได้ที่ :
https://www.facebook.com/siamzonezaa/
https://www.youtube.com/channel/UChxBSTe149URnepvTBndtkQ
“ตานก๋วยสลาก” เป็นประเพณีเนื่องในพุทธศาสนา จัดในช่วงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ (ราวเดือนกันยายน) จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือนเกี๋ยงหรือวันเกี๋ยงดับ (ราวเดือนตุลาคม) ซึ่งเป็นช่วงเวลากลางพรรษา พระสงฆ์จำพรรษาอยู่อย่างพรักพร้อม และเป็นเวลาที่ชาวบ้านมีเวลาพักผ่อนช่วงสั้นๆ หลังจากปักดำเสร็จและรอข้าวเจริญเติบโต ทั้งยังเป็นช่วงที่ผลไม้กำลังสุก จึงถือเป็นโอกาสทำบุญแด่พระสงฆ์และสงเคราะห์คนยากจน
ประเพณีตานก๋วยสลากปรากฏในพระธรรมบทขุททกนิกายว่า “พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระสาวกอรหันต์ของพระองค์คือ พระโกณฑธานเถระ ซึ่งเป็นผู้มีโชคดีในการจับสลากได้ที่หนึ่งทุกครั้ง แม้พระพุทธเจ้าก็สู้ท่านไม่ได้ พระสาวกทั้งหลายมีความมสงสัยว่า ทำไมท่านจึงโชคดีเช่นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสรับบอกแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งมวลว่า โกณฑธานปรารถนาว่าถ้าเลือกอะไร แข่งขันอะไร ขอให้ได้ที่หนึ่งเสมอ ดั้งนั้นในชาตินี้โกณฑธานจึงเป็นคนโชคดี”
“สลาก” หมายถึงวัตถุที่ใช้ในการเสี่ยงโชค รวมกับคำว่า “ภัต” หมายถึง อาหาร ข้าว สลากภัต จึงหมายถึง อาหารที่ถวายพระโดยการจับสลากหรือเสี่ยงโชค ส่วนที่ล้านนาเรียกว่า“ตานก๋วยสลาก“ ก็เพราะว่าคนล้านนาใช้ “ก๋วย” ที่เป็นภาชนะสานจากไม้ไผ่ คล้ายชะลอมของภาคกลาง ใส่อาหารถวายพระสงฆ์ นั่นเอง
ในอดีตประเพณีตานก๋วยสลากถือเป็นประเพณีใหญ่และสำคัญของเกือบทุกวัดทางล้านนา มักจัดสลับปีกับประเพณีตั้งธรรมหลวง หากปีใดจัดตั้งธรรมหลวงแล้ว ปีนั้นจะไม่จัดตานก๋วยสลาก หรือหากปีใดจัดตานก๋วยสลาก ปีนั้นก็จะไม่จัดตั้งธรรมหลวง ในอดีตการจัดงานตานก๋วยสลาก ต้องให้วัดสำคัญของเมืองจัดก่อน วัดเล็กจึงค่อยจัดขึ้นตามในภายหลัง โดยในเชียงใหม่ต้องให้วัดเชียงมั่นจัดก่อน ลำพูนต้องให้วัดพระธาตุหริภุญไชยจัดก่อน ลำปางให้วัดปงยางคกจัดก่อน แต่ปัจจุบันบางจังหวัดก็จัดไปตามความสะดวกของแต่ละวัด แต่ทางลำพูนยังคงยึดถือคตินี้อยู่
สำหรับ “วัดทรายเหนือ” จัดขึ้นในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2561 ซึ่งมีทั้งศรัทธาของหมู่บ้านโดยตรง และหมู่บ้านอื่น ๆ มาร่วมงานบุญกันอย่างคับคั่ง อีกทั้งยังอยู่ในช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์จำพรรษาอยู่วัด โดยมีความเชื่อว่า พญายมจะปล่อยวิญญาณทั้งหลายมาสู่โลกมนุษย์ ชาวบ้านจึงต้องจัดเตรียมสิ่งของที่จะนำมาทำบุญอุทิศให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
ก่อนถึงวันตานก๋วยสลาก ที่เรียกว่าวันดาหรือวันสุกดิบ ทุกบ้านจะจัดเตรียมข้าวของและอุปกรณ์เครื่องใช้เพื่อนำมาแต่งใส่ก๋วยสลาก จึงเป็นวันรวมญาติที่ต้องมาเตรียมก๋วยสลากด้วย ผู้ชายจะมีหน้าที่สานก๋วย เพื่อบรรจุอาหาร ของกินของใช้ อาทิ ข้าวสาร เนื้อแห้ง ปลาแห้ง หัวหอม กระเทียม หมากเมี่ยง บุหรี่ แหนมห่อใบตอง น้ำอ้อย พริกแห้ง เกลือ เป็นต้น ปัจจุบันอาจมีของสำเร็จรูปรวมไปด้วย เช่น ปลากระป๋อง โดยก๋วยจะรองด้วยใบตอง เรียกว่า “ตองจี๋กุ๊ก” เมื่อรวบปากก๋วยแล้วมัดเรียบร้อยแล้ว จะใส่ไม้ไผ่เหล่าเป็นก้านเล็กๆ สำหรับเสียบธนบัตร กล่องไม้ขีดไฟ บุหรี่ จำนวนมากบ้างน้อยบ้างตามแต่กำลัง เพื่อทำเป็นยอดก๋วยสลาก ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้หรือใบไม้ที่หาได้ง่ายตามท้องถิ่น อย่างไรดีลักษณะของก๋วยสลากจะสะท้อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ทำทานสลากนั้นด้วย อาจแบ่งก๋วยสลากได้ 3 ลักษณะได้แก่
1.ก๋วยน้อย :
เป็นก๋วยสลากขนาดเล็ก สำหรับถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องอาจจะเป็นมิตรสหาย เจ้ากรรมนายเวร เจ้าแม่ธรณี พ่อแถนแม่แถน หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่นับถือ แม้แต่สัตว์เลี้ยงแสนรักหรือสัตว์ใช้งานที่เคยผูกพันหรือมีบุญคุณต่อกัน เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้าก็ได้
2.ก๋วยใหญ่ :
เป็นก๋วยที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษ สามารถจุของได้มากกว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่มีฐานะดี เพราะต้องจัดเตรียมสิ่งของใส่ลงไปจำนวนมากกว่าก๋วยเล็ก แต่เป็นการทำบุญอุทิศบุญกุศลไปให้กับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือทานเอาไว้ภายหน้าได้เช่นกัน
3.สลากโชค :
ลักษณะเป็นต้นสลากใหญ่เล็กตามแต่ความสร้างสรรค์ของผู้เป็นเจ้าของ สามารถนำเอาข้าวของเครื่องใช้ปักหรือมัดกับต้นสลาก เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้งต่างๆ รวมไปจนถึงธนบัตร ต้นสลากจะได้รับการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม บางรายอาจใส่ของมีค่าเช่น สร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือ เข็มขัดเงินหรือนาค และมักทำขึ้นเพื่ออุทิศแด่บิดามารดาหรือญาติผู้ใหญ่ผู้ล่วงลับ บางครอบครัวถวายเรือนเล็กๆ พร้อมของใช้เรียกว่า “เฮือนตาน”
ในส่วนของ “เส้นสลาก” จะขาดไปไม่ได้เลยสำหรับงานนี้ เพราะจะต้องนำแจกให้แก่พระสงฆ์ที่มาร่วมงานบุญ เพื่อหา “ก๋วยสลาก” ตามรายชื่อใน “เส้นสลาก” ต่อไป ในอดีตนิยมนำใบลาน มาตัดเป็นเส้นยาวประมาณ 1 เมตร กว้าง 1 นิ้ว แล้วเขียนรายละเอียดลงไป แต่ในปัจจุบันเพื่อความสะดวกและเป็นไปตามยุคสมัย จึงเปลี่ยนมาเป็นกระดาษแข็งแทน โดยคำตานก๋วยสลากมีรายละเอียดคือ ชื่อของผู้ที่ถวายทาน ชื่อญาติที่ล่วงลับ บ้านเลขที่ของตน เป็นต้น จำนวนเส้นสลากจะต้องเท่ากับจำนวนก๋วยสลากที่เตรียมไว้ ห้ามขาดหรือเกิน เนื่องจากว่าจะมีผลต่อการตามหาเจ้าของสลากของพระภิกษุสงฆ์ กันเหตุการณ์ที่บางพระสงฆ์บางรูปได้เส้นสลากแต่ตามหาเจ้าของพบแล้วกลับไม่มีก๋วยสลากถวาย
ในวันงาน ชาวบ้านจะนำก๋วยสลากและเส้นสลากมาที่วัดกันตั้งแต่เช้า เพื่อจับจองที่นั่งและจัดวางก๋วยสลากเพื่อพร้อมสำหรับพิธีกรรมทางศาสนา และนำเส้นสลากที่เตรียมไว้ ไปกองรวมกันที่หน้าพระประธานในวิหาร รวมถึงนำเลขที่บ้านมาแขวนเรียงรายไว้ เพื่อให้พระสงฆ์ตามหาก๋วยสลากให้พบได้ง่าย สัญลักษณ์อีกหนึ่งอย่างที่นิยมใช้กันคือ นำผ้าสีสันต่าง ๆ มาติดไว้ที่ปลายเส้นสลาก เพื่อทำให้การเดินหาสลากของพระสงฆ์ง่ายขึ้น เพราะเมื่อพระสงฆ์เดินมาแต่ไกล และยกเส้นสลากขึ้นมา ศรัทธาชาวบ้านก็จะมองเห็นสัญลักษณ์ของตนเอง ทำให้การเดินหาก๋วยสลากน้อยใหญ่มีความง่ายขึ้น
ก่อนที่จะถึงพิธีกรรมในช่วงบ่าย คณะศรัทธาชาวบ้านรวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียง ได้นำผ้าป่าน้อยใหญ่มาร่วมในงานบุญกันอย่างคับคั่ง โดยชาวบ้านจะนำผ้าป่าเวียนรอบวิหารรวม 3 รอบ ในระหว่างนี้ชาวบ้านจะร่วมสนุกด้วยการฟ้อนรำไปตามจังหวะเพลงที่เร้าอารมณ์กันอย่างสนุกสนาน บรรยากาศเป็นไปด้วยความครึกครื้น ผู้ที่ไม่ได้ร่วมฟ้อนรำก็จะเพลิดเพลินไปกับคณะผ้าป่าด้วย
ศรัทธาชาวบ้านนักบุญยังมีอีกส่วนหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือ “โรงทาน” บริเวณรอบ ๆ วัดจะขนัดแน่นไปด้วยผู้คนที่รายล้อมโรงทานทั้งน้อยใหญ่ ผู้ที่ตั้งโรงทาน จะมีทั้งการรวมเงินกันก้อนใหญ่ เพื่อจัดหาอาหารมาแจกจ่ายผู้ที่มาร่วมงาน รวมถึงครอบครัวใดมีศรัทธาที่จะทำเอง ก็จะนำมาตั้งโรงทานแจกเองด้วยเช่นกัน จัดได้ว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลแก่ตนเองและครอบครัวอีกทางหนึ่ง
อีกมุมหนึ่งที่ชาวบ้านให้ความสนใจไม่น้อย ก็คือการร่วมสนุกใน “การจับสลากมัจฉา” ซึ่งของรางวัลที่เตรียมไว้ มีทั้งรางวัลเล็กใหญ่ปะปนกันไป แต่ที่แน่ ๆ คือทุก ๆ สลากมัจฉาที่จับมาได้นั้น จะมีรางวัลทุกชิ้นให้กับชาวบ้าน นอกจากนั้นยังมีร้านค้าเล็ก ๆ มาตั้งขายสินค้าด้วย จะมีทั้งของกิน ของใช้ อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องเล่นสนุกสนานต่างๆ มากมาย
เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีทางศาสนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการวัดจะนับจำนวนเส้นสลาก และประกาศให้กับคณะศรัทธารับทราบ จากนั้นจะทำการแบ่งเส้นเป็นมัดๆ เพื่อแบ่งสันปันส่วนให้กับพระสงฆ์และสามเณรที่มารูปละ 10-20 เส้น พระสงฆ์จะได้จำนวนเส้นมากกว่าสามเณร โดยพระสงฆ์และสามเณรจะนิมนต์มาจากวัดอื่นๆ ใกล้เคียงที่เป็นเครือข่ายกัน ชาวบ้านเรียกว่า “หัววัดเติงกัน” เส้นสลากส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่จัดงานซึ่งเป็นวัดเจ้าภาพเรียกว่า “เส้นพระเจ้า”
จากนั้นพระสงฆ์สามเณร จะนำเส้นสลากออกตามหาก๋วยน้อยใหญ่ตามรายชื่อ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานปนความโกลาหล ด้วยความที่พื้นที่มีจำกัด และบ้าน 1 หลัง มีก๋วยสลากนับ 10 ก๋วย บรรดาผู้ติดตามพระสงฆ์ก็จะตะโกนถามหารายชื่อหรือเลขที่บ้าน ศรัทธาชาวบ้านก็ตะโกนตอบกลับด้วยความแข็งขัน เพราะต้องการให้พบก๋วยของตนด้วยเช่นกัน ไม่เพียงแต่รอดูรอฟังของตนเท่านั้น ก็ยังช่วยกันดูของเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ กันด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวบ้าน
หากพระสงฆ์ได้รับ “ก๋วยเล็ก” โดยส่วนใหญ่จะไม่มีการให้ศีลให้พร ผู้ติดตามสามารถยกก๋วยเล็กไปได้เลย แต่หากได้รับเป็น “ก๋วยใหญ่” พระสงฆ์จะอาราธนาธรรมพร้อมทั้งกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับตามรายชื่อในเส้นสลากนั้น หากเส้นสลากของศรัทธาบ้านหลังใดเป็นของ “เส้นพระเจ้า” ซึ่งจะเป็นก๋วยใหญ่ ก็จะมีการนำไปประเคนถวายรวมกันที่วิหาร เพื่อรอการอาราธนาธรรมพร้อม ๆ กันอีกครั้ง โดยจัดไว้ลำดับท้ายสุด เนื่องจากพระสงฆ์จะต้องจัดการกับก๋วยอื่น ๆ จนแล้วเสร็จก่อน จึงเป็นอันเสร็จพิธีกรรมของงาน “กิ๋นข้าวสลาก“
10 ข้อดีของการ “กิ๋นข้าวสลาก” และการสร้างกรรมดี
1.ส่งเสริมและสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่สืบไป
2.จัดเป็น “อามิสทาน” เป็นการสละทรัพย์ของตนแก่คนทั้งหลาย
3.เป็นการแสดงความระลึกถึงต่อบุพการีผู้มีพระคุณและญาติผู้ล่วงลับ
4.บุพการีและญาติผู้ล่วงลับ จักได้รับอานิสงฆ์ผลบุญในครั้งนี้ ตามความเชื่อ
5.ครอบครัวได้ร่วมกันทำบุญอย่างพร้อมหน้า เสมือนได้มีเวลาให้แก่กัน
6.ศรัทธาชาวบ้านได้มาร่วมสร้างบุญอีกทางโดยการตั้งโรงทานอาหาร
7.จัดว่าเป็นการร่วมกันสร้างวัดสร้างวิหาร ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
8.เป็นการสร้างบุญใหญ่แก่ตน ทำให้จิตใจผ่องใส เพิ่มพลังแห่งความสุข
9.อานิสงส์ผลบุญในครั้งนี้จักหนุนนำ ให้เกิดความสุขความเจริญในภายภาคหน้า
10.กรรมคือการกระทำ ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ดังคำกล่าวที่ว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”
ขออนุโมทนาบุญงาน “กิ๋นข้าวสลาก” วัดทรายเหนือ ต.บ้านเสด็จ อ.เมือง จ.ลำปาง” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการรักษาประเพณีอันดีงามของล้านนาสืบไป