วันพุธ, 27 พฤศจิกายน 2567

วัดพระเจ้าทันใจลำปาง ตำนานหล่อพระสัมริด แล้วเสร็จภายในวันเดียว

วัดพระเจ้าทันใจ ตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาพร้อมพระอานนท์ พระเจ้าปัสเสนทิโกศล และทรงทำนายว่า สถานที่นี้เป็นที่ประเสริฐ จักมีพระสาวกมาหล่อรูปกูตถาคตไว้กราบไหว้ และพระองค์ทรงประทานพระเกศาให้กษัตริย์ผู้ครองนครไว้จำนวนหนึ่ง หลังจากพระพุทธองค์นิพพานได้มีสาวกอรหันต์ ๑,๐๐๐ รูป พร้อมด้วยพระยาผู้เป็นใหญ่ พร้อมใจกันปั้นรูปและหล่อพระพุทธรูปขึ้น ๑ องค์ พระที่หล่อเป็นพระสัมริดนั่งขัดสมาธิราบหล่อเสร็จพลันทันในวันเดียว เป็นที่น่าอัศจรรย์ คนทั้งหลายจึงขนานชื่อว่า พระเจ้าทันใจ แต่นั้นมา

 

 

วัดพระเจ้าทันใจ ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ต.ต้นธงชัย อ.เมือง จ.ลำปาง มีตำนานเล่าขานอันยาวนานดังนี้

 

พ.ศ.๒๒๗๒ ครูบามหาป่า วัดไหล่หิน เกาะคา ได้เป็นประธานบูรณะพร้อมกับยกองค์พระขึ้นแท่น ปัจจุบัน สถูปอัฐิพระครูบามหาป่าเกสรปัญโญ วัดไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ได้มาบูรณะวัดพระเจ้าทันใจ เมื่อพ.ศ.๒๒๗๒ ต่อมาพระอธิการบุญมา สุภทฺโท เจ้าอาวาส ได้ก่อสถูปครอบของเดิม เมื่อพ.ศ.๒๕๐๐ สูง ๑.๕๐ เมตร พอถึงพ.ศ.๒๕๓๔ พระครูพุทธิธรรมโสภิต เจ้าอาวาสได้บูรณะ สูงขึ้น ๒.๘๔ เมตร เมื่อพ.ศ.๒๕๓๔ เพื่อเป็นอนุสรณ์กตัญญูรำลึงถึงพระมหาเถระรูปนี้ตลอดไป ที่ท่านได้มีคุณูปการต่อวัดมาตั้งแต่อดีต

 

พ.ศ.๒๔๒๗ พระครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี เจ้าคณะจังหวัดลำปาง ครูบามณีวรรณ เจ้าสุริยจางวาง เจ้าผู้ครองนครลำปางที่ ๒๗ ได้สร้างวิหารขึ้น ๑ หลัง พร้อมกับอารานาพระพุทธรูปยืน ๒ องค์ จากวัดกู่ขาว มาสถิตคู่กับพระเจ้าทันใจ

 

พ.ศ.๒๔๓๕ พ่อเลี้ยงหม่องจันโอง แม่เลี้ยงหมุก และเจ้าหลวงนรนันท์ชัยชวลิต เจ้าผู้ครองลำปางที่ ๒๓ ได้ร่วมกันบูรณะเจดีย์ อุโบสถ สถูปครูบามหาป่า สถูปแม่ธรณี

 

พ.ศ.๒๔๘๐ พ่อเลี้ยงต่าอู (พนาสิทธิ์) แม่เลี้ยงเต่า จันทรวิโรจน์ ได้มากราบบนพระเจ้าทันใจ ขอให้กิจการทำไม้สักที่เชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน ประสบผลสำเร็จ ด้วยอำนาจบารมีพระเจ้าทันใจ ดลบันดาลให้ฝนตกหนัก น้ำป่าหลากไหล นำไม้สักล่องน้ำออกจากป่าได้สำเร็จ

 

พ.ศ.๒๔๙๑ พ่อเลี้ยงต่าอู แม่เลี้ยงเต่า ได้ถวายแก้บน โดยสร้างวิหาร ศาลาบาตร กำแพงรอบวัด กุฏิ และอื่นๆ สิ้นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ทำบุญฉลองปี ๒๔๘๒ (สิ่งก่อสร้างทั้งหมดยังปรากฏอยู่)

 

พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของไทย มีสาธุชนมากราบไหว้ขอบุตร ขอโลภ ขอความสุข ความเจริญ ตลอดถึงขอพรต่างๆ และมีงานนมัสการเดือน ๕ เหนือ (๓ ใต้) ขึ้น ๘ ค่ำ เป็นประจำตลอดมา


ประวัติวิหารพระเจ้าทันใจ

 

 

ศุภมัสดุพระพุทธศาสนากาลล่วงแล้วได้ ๒๕๓๘ พรรษา วิหารพระเจ้าทันใจซึ่งพ่อเลี้ยงพนาสิทธิ์ แม่เลี้ยงเต่า จันทรวิโรจน์ สร้างมาตั้งแต่พ.ศ.๒๔๘๒ ได้ชำรุดลง พระครูพุทธิธรรมโสภิต เจ้าอาวาส พร้อมด้วยลูกหลานในตระกูลจันทรวิโรจน์ คือ นายนิกร จันทรวิโรจน์ , นางจิตรกุล วิริยะศิริ (จันทรวิโรจน์) นางอรุณ กัมปนาทแสนยากร (จันทรวิโรจน์) นายวิวัฒน์ จันทรวิโรจน์ และทายาทจากครอบครัวพี่ , น้องๆ เหล่านี้ที่เสียชีวิตไปแล้วคือครอบครัวนางโสพัส จันทรวิโรจน์ , ครอบครัวรัศมี จันทรวิโรจน์ , ครอบครัวบุญเทียม จันทรวิโรจน์ , ครอบครัวนางทองอ่อน จันทรวิโรจน์ , ครอบครัวนายทวีศักดิ์ จันทรวิโรจน์

 

 

ได้บูรณะวิหารครั้งใหญ่ โดยมุงหลังคาด้วยกระเบื้องใหม่ ฉาบฝาผนัง ซุ้ม ประตูหน้าต่าง ฐานและบันไดใหม่ ติดกระจกหน้าบัน เสาหน้าหลัง ใหม่ แกะสลักบานประตู บานหน้าต่าง เป็นภาพพระเวสสันดร พระมาลัย ประวัติวัด ปูกระเบื้องพื้น บันไดหน้าหลัง พร้อมกับทาสีใหม่ขึ้นทั้งหลังงานบูรณะครั้งนี้ได้สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ สิ้นเงิน ๑,๐๙๙,๙๙๙ บาท ได้ทำบุญฉลองพร้อมศาลาบำเพ็ญบุญ วิหารกัจจานะ ระฆัง บานประตู รางรินน้ำกุฏิ เมื่อวันที่ ๑-๔ กุมภาพันธ์ ๒๖๔๑ การบูรณะครั้งนี้สลาแดง จ.ลำพูน สลาเสริม แก้วธรรมไชย จ.ลำปาง เป็นหัวหน้าทำ พร้อมเหล่าสลาทั้งหลาย


พระบรมธาตุเจดีย์ บรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

 

คำไหว้พระบรมธาตุเจ้าทันใจ

(นะโม ๓ จบ) อิมัง สีฆะมะโนยะธาตุเจติยัง อิมัสมิง ฐาเน สุปะติฏฐิตังสุปปะภาวิตังอันโตพุทธะเกสะธาตุนิธานิกัง เทวะมะนุสเสหิ สะคาระเวนะ อะภิปูชิตัง อะหังวันทามิ สัพพะโส เอตัญจะโข สักการัสสานิสังเสนะ นิจจัง กาลังสุขะวัฑฒะนะโสตถี ภะวันตุ เม ฯ

 

 

ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอกราบนอบน้อมบูชาพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเสียสละสั่งสมบารมีนับชาติมิถ้วน ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ประกาศธรรมนำเวไนยสัตว์ออกจากสังสารวัฏ พร้อมกราบพระธรรม และพระอริยสงฆ์ ขอตั้งสัจจะอธิษฐานด้วยอานิสงส์ผลแห่งบุญนี้ จงเป็นปัจจัยให้ได้ถึงซึ่งพระนิพพาน แม้ต้องเกิดในทิพย์จุติใดๆ ขอเกิดภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ได้พบสัตบุรุษผู้รู้ธรรมอันประเสริฐมีกรรมสัมพันธ์ที่ดี ได้เกิดท่ามกลางกัลยาณมิตร ห่างไกลจากพาล มีโอกาสฟังธรรมประพฤติธรรม จนเป็นปัจจัยให้เจริญด้วยสติและปัญญาญาณ ตามส่งชาตินี้และชาติต่อๆไป จนถึงพระนิพพานในกาลอันควรเทอญ กรรมใดๆ ที่ล่วงเกินต่อพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ และสรรพสัตว์ทั้งหลายในอดีตชาติก็ตามปัจจุบันชาติก็ตาม กราบขออโหสิกรรมทั้งหมดทั้งสิ้น ขออุทิศกุศลผลบุญให้แด่ท่านผู้มีพระคุณ ญาติพี่น้อง เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนท่านที่ขวนขวายในกิจที่ชอบในการดำรงรักษาไว้ซึ่งประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์ ขอให้ท่านทั้งหลายดังกล่าวนามมานั้นจงประสบแต่ความดี ปราศจากความทุกข์และมีความสุขฯ ทั่วกันทุกท่านเทอญ


อาคารเก่าที่ถูกย้ายมาอนุรักษ์ไว้สองหลัง คือ หอธรรม และ พิพิธภัณฑ์สินานนท์

 

 

1.หอธรรม : เป็นเรือนเครื่องไม้สองชั้น หลังคาเป็นยอดปราสาท มีประวัติว่าเดิมอยู่ที่วัดศรีบุญโยง ต.เวียงเหนือ อ.เมือง ลำปาง โดยครูบาปินดา เจ้าอาวาสวัดศรีบุญโยง กับเจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ เจ้านครลำปาง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ ภายหลังทรุดโทรม จึงรื้อลงในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ทางวัดพระเจ้าทันใจจึงขอผาติกรรมมา แล้วจัดการซ่อมแซมสร้างขึ้นใหม่ สำเร็จในปี พ.ศ.๒๕๔๐

 

 

2.พิพิธภัณฑ์สินานนท์ : มีประวัติความเป็นมาตามที่เล่าไว้ในป้ายว่าเดิมเป็นตุ๊ข้าว (ยุ้งข้าว) ของหลวงกำจรวานิช (กิมเฉียน สินานนท์) และคุณนายบุญชู คหบดีในเมืองลำปาง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๐ ร้อยปีให้หลัง ทายาทได้รื้อมาถวายวัด ทางวัดพระเจ้าทันใจจึงนำมาปลูกใหม่ โดยใส่หน้าต่าง ขยายประตู และหล่อตอหม้อรับเสา ปัจจุบัน จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ชีวิตชาวนา มีเครื่องมือทำนาแขวนประดับเต็มฝาด้านนอกทุกด้าน ส่วนภายใน มีตั้งแต่อุปกรณ์ทอผ้า ทำนา หั่นยาสูบ ตีเหล็ก เครื่องครัว จักรเย็บผ้า พิมพ์ดีด เครื่องดนตรี เครื่องจักสาน ไปจนถึงกระดูกช้าง อาจเพราะตัวยุ้งข้าวมีขนาดเล็กมาแต่เดิม ประกอบกับข้าวของภายในมีมาก ผู้ชมสามารถขึ้นไปได้เพียงคราวละไม่มากคน


เรื่องน่ารู้ภายในบริเวณวัดพระเจ้าทันใจ

 

พระสัมริดนั่งขัดสมาธิราบหล่อเสร็จพลันทันในวันเดียว เป็นที่น่าอัศจรรย์ คนทั้งหลายจึงขนานชื่อว่า “พระเจ้าทันใจ” แต่นั้นมา

 

มณฑปหลวงพ่อพระเจ้าทันใจ ประดิษฐานภายใน วิหารพระเจ้าทันใจ

 

ภาพเกจิพระอาจารย์ และบุคคลสำคัญที่มีคุณูประการต่อวัดพระเจ้าทันใจ

 

พ่อเลี้ยงต่าอู แม่เลี้ยงเต่า ได้ถวายแก้บนในการขอให้กิจการทำไม้สักที่เชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน ประสบผลสำเร็จ โดยสร้างวิหาร ศาลาบาตร กำแพงรอบวัด กุฏิ และอื่นๆ

 

สถูปอัฐิพระครูบามหาป่าเกสรปัญโญ วัดไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง สถูปอัฐิพระครูบามหาป่าเกสรปัญโญ วัดไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ได้มาบูรณะวัดพระเจ้าทันใจ เมื่อพ.ศ.๒๒๗๒ ต่อมาพระอธิการบุญมา สุภทฺโท เจ้าอาวาส ได้ก่อสถูปครอบของเดิม เมื่อพ.ศ.๒๕๐๐ สูง ๑.๕๐ เมตร พอถึงพ.ศ.๒๕๓๔ พระครูพุทธิธรรมโสภิต เจ้าอาวาสได้บูรณะ สูงขึ้น ๒.๘๔ เมตร เมื่อพ.ศ.๒๕๓๔ เพื่อเป็นอนุสรณ์กตัญญูรำลึงถึงพระมหาเถระรูปนี้ตลอดไป ที่ท่านได้มีคุณูปการต่อวัดมาตั้งแต่อดีต

 

อุโบสถวัดพระเจ้าทันใจ พ่อเลี้ยงหม่องจันโอง แม่เลี้ยงหมุก และเจ้าหลวงนรนันท์ชัยชวลิต เจ้าผู้ครองลำปางที่ ๒๓ ได้ร่วมกันบูรณะเจดีย์ อุโบสถ สถูปครูบามหาป่า สถูปแม่ธรณี

 

ไม้สาระที่พระพุทธเจ้าได้อาศัยร่มเงาประสูติและปรินิพพาน

 

ซากปูนปั้นพระพุทธรูปสมัยหริภุญไชย วัดกู่ริ

 

รูปปั้นปีเกิด ๑๒ นักษัตร ตั้งอยู่บนฐานเขียง องค์พระบรมธาตุเจดีย์

 

วิหารพระมหากัจจายนเถระ วัดพระเจ้าทันใจ สร้างพ.ศ. ๒๕๓๙ สิ้นเงิน ๔๐,๑๘๗ บาท

 

ทางวัดพระเจ้าทันใจ ได้จัดเตรียมน้ำส้มป่อยเพื่อให้ศรัทธาสาธุชนได้สรงน้ำพระบรมธาตุเจ้าทันใจ ตามแต่จิตศรัทธา

 

อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นของชาวบ้านในสมัยโบราณ ที่เก็บรักษาไว้ ณ หอธรรมและพิพิธภัณฑ์ชีวิตชาวนา

 

แอ่ว (คุ๊) พ่อมี แม่ไหล,คุณทองม้วน,บัวผ่าน วงค์ตัน ซื้อเมื่อ 2524 จากบ้านป่าจ้ำ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ราคา 300 บาท ถวายวัดพระเจ้าทันใจ 2547

 

อิฐวัดปันเจิง (พันเชิง) อิฐกำแพงสมัยหริภุญไชย วัดปันเจิง ต.ต้นธงชัย อ.เมือง จ.ลำปาง

 

พิพิธภัณฑ์เวียงลคอร วัดพระเจ้าทันใจ

 

บริเวณด้านนอกวิหาร สถานที่สักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกจิพระอาจารย์ของวัดพระเจ้าทันใจ

 

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดพระเจ้าทันใจ นำมาจากประเทศอินเดีย แม่เลี้ยงเต่า จันทรวิโรจน์ อัญเชิญมาปลูกเป็นพุทธบูชาพระเจ้าทันใจ พุทธศักราช ๒๕๐๐ มีบทร้อยกรองดังนี้

“โพธิ์เอ๋ย โพธิ์แก้ว
พระนิพพาน ดับแล้ว น่าเลื่อมใส
แต่ยังเหลือ โพธิ์อยู่ เป็นคู่ใจ
ได้กราบไหว้ อาลัยสุด พุทธองค์”

 


ศาลพระแม่กวนอิม มหาโพธิสัตว์ (อวโลกิเตศวร)

 


ศาลพระเจ้าอนันตยศ (อินทรเกิงกร) ปฐมกษัตริย์แห่งเขลางค์นคร เมื่อพ.ศ.๑๒๓๑-๑๒๙๒ ทรงโปรดให้สร้างวัดพระเจ้าทันใจ – กู่คำ เป็นแบบอรัญญวาสี สร้างโดยคณะศรัทธาวัดพระเจ้าทันใจทุกหลังคาเรือนด้วยกตัญญูฯ สิ้นเงิน ๓๐,๐๐๐บาท เมื่อ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๓

 


ศาลเจ้าพ่อปันเจิง (พันเชิง) ผู้เป็นครูเชิงศิลปะการรบและนักรบยอดขุนพลสมัยเจ้าพระเจ้าอนันตยศทรงครองเมืองเขลางค์นครพ.ศ.๑๒๓๑-๑๒๙๒ สร้างโดยคณะศรัทธาวัดพระเจ้าทันใจทุกหลังคาเรือนด้วยกตัญญูฯ สิ้นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท เมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๕๓

 


ซุ้มประตูโขงด้านหน้าทางเข้าวัดพระเจ้าทันใจ

 

ซุ้มประตูโขงด้านหน้าวิหารด้านในวัดพระเจ้าทันใจ (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)

 

บันไดนาคด้านซ้าย (หันหน้าเข้าวัด) สถาปัตยกรรมที่วิจิตรงดงามของสล่ามากฝีมือ

 

บันไดนาคด้านขวา (หันหน้าเข้าวัด) สถาปัตยกรรมที่วิจิตรงดงามของสล่ามากฝีมือ

 

บ่อปลา (ห้ามปล่อยปลา) แต่สามารถมาให้อาหารปลาได้

 

บริเวณวัดหน้าวัด ทั้งกว้างขวาง และร่มรื่นรวมถึงมีความสะอาดอยู่เสมอ

 

ทั้งด้านในและด้านนอกของวัดพระเจ้าทันใจ จะเต็มไปด้วยป้ายคำสอนต่าง ๆ เสมือนเป็นการให้สาธุชนได้หยุดอ่านเพื่อเป็นข้อคิดและมีสมาธิในเวลาเดียวกัน


 

จากการไปเที่ยวชมมา 2-3 ครั้ง ก็มักจะมีผู้คนมาถวายของแก้บนกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่ หรือพวงมาลัยดอกมะลิ ซึ่งก็แสดงว่า หลวงพ่อพระเจ้าทันใจ ท่านก็ให้พรแกสาธุชนเช่นกัน ซึ่งก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลด้วยนะ


ทริปหน้าเราจะพาไปเที่ยวที่ไหนอีก ก็ฝากติดตามกันด้วยนะคะ ชมทริปอื่น ๆ ในแฟนเพจได้ค่ะ https://www.facebook.com/siamzonezaa/


ขอบคุณที่มาประวัติวัดพระเจ้าทันใจ : http://www.dannipparn.com/thread-1343-1-1.html

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ชวนเที่ยวลำปาง วัดพระธาตุดอยพระฌาณ สวยจนนักท่องเที่ยวต้องมาเช็คอิน
ประมวลภาพเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ ครั้งที่ 14 ลำปาง 9-11 พฤศจิกายน 2561
โป๊ปธนวรรธณ์-เบลล่าราณี คู่จิ้นในจอ มาร่วมเปิดงานเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะลำปางครั้งที่ 14 น่ารักมากๆ
เวียร์-ฐิสา นายหัวและคุณนาย มาเยือนเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะลำปางครั้งที่ 14 เคมีเข้ากันมาก
วัดป่าฝาง(วัดศาสนโชติการาม) จากศรัทธาสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ วัดพม่ากลางเมืองลำปาง
ทุ่งบัวตองแม่เมาะ ที่เที่ยวลำปางยามลมหนาวมาเยือน ห้ามพลาดเด็ดขาด