วัดป่าฝาง เป็นวัดที่มีประวัติมายาวนานกว่า 120 ปี โดยคหบดีชาวพม่าที่มีจิตศรัทธาเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ได้อุปถัมภ์ทำนุบำรุงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมา
วัดป่าฝาง แทบจะเรียกได้ว่าตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำปาง ง่าย ๆ คือ ตั้งอยู่ติดกับร้านหนังสือดวงกมล ซึ่งแต่ก่อน .. เวลาที่มาเดินซื้อหนังสือ มองออกไปด้านข้างขวามือ ผู้เขียนก็จะเห็นองค์พระธาตุสีทองโดนเด่นอยู่ข้าง ๆ จึงทำให้อยากรู้อยากเห็นว่าเป็นวัดอะไร และมีที่มาที่ไปยังไง และแล้วฤกษ์งามยามดีก็มาถึง จึงขอเล่าเรื่องในรูปแบบคลิปและรายละเอียดพร้อมภาพนิ่ง ซึ่งมีทั้งประวัติโดยย่อ โบราณสถานสำคัญ และความสวยงามตามที่เห็นมาให้ชมกัน จะว่าไปแล้ว หากใครรักในความสงบ ชอบดูและศึกษาในศิลปะที่วิจิตรงดงามตามแบบพม่าและล้านนา เชื่อว่า “วัดป่าฝาง” แห่งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งที่เที่ยวลำปาง ที่สามารถทำให้คุณประทับใจได้ค่ะ
ติดตามคลิปอื่น ๆ ได้ที่ :
https://www.facebook.com/siamzonezaa/
https://www.youtube.com/channel/UChxBSTe149URnepvTBndtkQ
วัดศาสนโชติการาม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดป่าฝาง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 69 ถนนสนามบิน ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 สมัยรัชกาลที่5 แห่งราชวงศ์จักรี โดยพ่อเฒ่าอูส่วยอัตถ์และแม่เฒ่าคำหวาน สุวรรณอัตถ์ สองสามีภรรยา คหบดีชาวพม่าที่มีจิตศรัทธาเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา ครั้งที่ได้มาประกอบอาชีพป่าไม้ในนครลำปาง
เมื่อได้สร้างวัดศาสนโชติการาม (วัดป่าฝาง) เมื่อปีพุทธศักราช 2435 จึงได้อาราธนาพระสงฆ์เข้าอยู่จำพรรษา และอุปถัมภ์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา ครั้งถึงปีพุทธศักราช 2499 จึงได้ให้หม่องตีกับเหล่ามัคนายกไปขออนุญาต เพื่อขอเขตอุโบสถจากเจ้าผู้ครองนครลำปางในสมัยนั้น คือ เจ้าหลวงบุญวาทย์ วงศ์มานิตย์ เพื่อทำหนังสือขอกราบบังคมทูลต่อพระเจ้าแผ่นดินสยาม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวพระปิยมหาราชทรงมีพระบรมราชโองการ พระราชทานมาดังนี้
“ ที่ 76/147 มีพระบรมราชโองการประกาศไว้แก่ชนทั้งปวงว่า ที่เขตพระอุโบสถ ป่าฝาง ตำบลบ้านป่าขาม แขวงเมืองลำปาง โดยยาว 10 วา กว้าง 10 วา หม่องตีกับทายกและราษฎรได้ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอเป็นที่วิสุงคามสีมา พระเจ้าแผ่นดินสยาม ได้ทรงยินดีอนุโมทนาอนุญาตแล้ว โปรดให้กรมการปักกำหนดให้ตามประสงค์ ทรงพระราชอุทิศที่นั้นให้เป็นที่วิสุงคามสีมา ยกเป็นแผนกหนึ่งต่างหากจากพระราชอาณาเขตร เป็นที่วิเลสสำหรับพระสงฆ์แต่จาตุทิศทั้งสี่ทำสังฆกรรมมีอุโบสถกรรม เป็นต้น ” พระราชทานมาตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 125 พระพุทธศาสนกาล 2449 พรรษา เป็นวันที่ 13775 ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ด้านบนกลางและด้านล่างกลางทรงประทับตราแผ่นดินและมีอักขระขอมเขียนไว้อีกสองแถว (คัดลอกจากสำเนาพระบรมราชโองการที่ให้ไว้กับวัดป่าฝาง ศาสนโชติการาม)
เมื่ออูส่วนอัตถ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรม แม่เฒ่าส่า วงศ์พรหมมินทร์ ซึ่งเป็นบุตรีของพ่อเฒ่าอูส่วยอัตถ์และแม่เฒ่าคำหวาน ได้อุปถัมภ์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อมา เมื่อแม่เฒ่าส่า วงศ์พรหมมินทร์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมลง จึงมอบหมายให้คุณแม่เหม่ สุวรรณอัตถ์ ซึ่งเป็นบุตรของอูส่วยอัตถ์ และแม่เฒ่าหวาน ได้ทำนุบำรุงวัดศาสนโชติการาม(วัดป่าฝาง) เป็นรุ่นที่สอง จนกระทั่งคุณแม่เหม่ สุวรรณอัตถ์ ถึงแก่อนิจกรรม คุณสมพร โอสถานุเคราะห์ เป็นบุตรตรีของคุณแม่เหม่ สุวรรณอัตถ์ เป็นผู้อุปถัมภ์ผู้ดูแลทั้งเครื่องบริภารสังขาร ภัตตาหาร ตลอดจนบูรณปฏิสังขรณ์ สิ่งก่อสร้างภายในวัดศาสนโชติการาม (วัดป่าฝาง) เป็นรุ่นที่สามให้ความเจริญรุ่งเรืองอยู่คู่พระพุทธศาสนาสืบไป
โบราณสถานที่สำคัญของวัด
พระธาตุ
เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากพม่า เมื่อ พ.ศ. 2449 พระธาตุสีทองได้ลงรักปิดทอง มีความโดดเด่นเป็นสง่าซึ่งมองเห็นแต่ไกล
ส่วนฐานของพระธาตุจัดไว้เป็นแปดเหลี่ยม ในแปดเหลี่ยม จะทำเป็นซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่งมีความหมายถึงทิศทั้ง 8 หรือมรรค 8 ผล 8
เมื่อวัดโดยรอบกับส่วนสูงของพระธาตุ จะมีความกว้างและยาวเท่ากันคือ 45 เมตร
ในปี พ.ศ.2547 คุณสมพร-คุณสุรินทร์-คุณนิติ โอสถานุเคราะห์ ได้ทำการซ่อมแซมองค์พระธาตุทั้งหมดและลงรักปิดทองคำเปลวใหม่ โดยฝีมือผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณสถานของภาคเหนือ คือ ท่านพระครูสาธุกิจกิจจานันท์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยน้อย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
วิหารไม้สัก
ลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น
ภายในวิหารชั้นบน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่เก่าแก่แบบพม่า ซึ่งมีพุทธลักษณะงดงาม
ฐานชุกชี ซุ้มด้านหลังของพระพุทธรูป ฝ้าเพดาน บัวหัวเสา ตลอดถึงรอบเสาประดับด้วยกระจกหลายสีที่บรรจงวิจิตรอย่างสวยงาม มีลวดลายของไม้แกะสลัก ได้ลงรักปิดทองเป็นอย่างดี
หลังคามีการสร้างตามสถาปัตยกรรมลดหลั่นเป็นชั้น ๆ
พระอุโบสถ
(ในที่นี้ พระอุโบสถได้ถูกปิดไว้ จึงไม่ได้เข้าไปเยี่ยมชมด้านใน แต่ได้เก็บภาพบริเวณด้านนอกมาฝากนะคะ)
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2449 ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางฉันผลสมอ ทรงผ้าลายพันตาฐานชุกชีประดับด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นเรื่องราวชาดก
ฝ้าเพดานลงรักทาสีแดงชาด ทำเป็นช่องจำนวน 12 ช่อง แต่ละช่องประดับลวดลายปูนปั้นและกระจกสี
มีรูปปูนปั้นนกยูงและรูปเทพคอยรักษาทุกช่อง
ส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้ลดหลั่นเป็นชั้น ๆ
บริเวณรอบนอกซุ้มประตู หน้าต่าง ประดับตกแต่งลวดลายปูนปั้นเป็นรูปเถาวัลย์ และเทวดารักษาประตู หน้าบัน
เสาด้านหน้า และเพดาน ประดับด้วยกระจกสีหลากสี ลวดลายของปูนปั้นเป็นรูปดอกไม้เถาวัลย์ อย่างประณีตบรรจงทุกสัดส่วน
ปี พ.ศ.2548 คุณสมพร-คุณสุรินทร์-คุณนิติ โอสถานุเคราะห์ ได้มอบหมายให้ท่านพระครูสาธุกิจจานันนท์แห่งวัดพระธาตุดอยน้อย จังหวัดเชียงใหม่ ทำการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมและสวยงามยิ่งขึ้น
เสาหงส์
เป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ ซึ่งเป็นของชาวมอญที่มาจากเมืองหงสาวดี วัดมอญทุกวัดจะต้องมีเสาหงส์เป็นสัญลักษณ์
อนุสรณ์สถาน (สถูป)
ผู้สร้างวัดศานสโชติการาม (วัดป่าฝาง) อูส่วยอัตถ์ และคุณแม่คำหวาน สุวรรณอัตถ์ พร้อมลูกและหลาน
ปี พ.ศ.2544 คุณสมพร-คุณสุรินทร์-คุณนิติ โอสถานุเคราะห์ ได้สร้างศาลาไม้ช้างสถูปขึ้นมาใหม่ แทนเรือนไม้หลังเก่า เพื่อเป็นที่พักผ่อนสำหรับลูกหลานเวลามาทำบุญกราบไหว้อนุสรณ์สถาน (สถูป) ผู้สร้างวัดศาสนโชติการาม (วัดป่าฝาง) อูส่วยอัตถ์ คุณแม่คำหวาน และลูกหลาน
วัดป่าฝาง (ศาสนโชติการาม) เป็นวัดที่เก่าแก่ มีอายุกว่าร้อยปี ถือเป็นโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม เป็นวัดที่สวยงามวัดหนึ่งของจังหวัดลำปาง