กรณีที่พื้นที่ปลูกบ้านของเราอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับถนนข้างเคียง ก็จำเป็นที่จะต้องถมให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับพื้นที่ที่ไม่มีระบบการระบายน้ำที่ดี เห็นได้โดยทั่วไปสำหรับผู้ซื้อที่ดินที่แบ่งแปลงขาย และมีเพียงถนนกับไฟฟ้า โดยให้ผู้ซื้อรับผิดชอบการถมที่เอง
เมื่อบริเวณพื้นที่ดังกล่าวผ่านไปหลายปี ก็จะพบว่าผู้ที่ปลูกบ้านอยู่ก่อนแล้วจะมีระดับของพื้นที่ต่ำกว่าบ้านที่ปลูกทีหลัง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ของตน หากการระบายน้ำไม่ดีก็จะกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ บางแห่งปรากฏว่าพื้นที่ชั้นล่างของบ้านตนเอง อยู่ในระดับเดียวกันกับพื้นชั้นที่สองของบ้านใกล้เคียง การแก้ปัญหานี้หากจะหวังพึ่งหน่วยงานของรัฐก็คงทำได้ แต่อาจต้องใช้เวลานาน ดังนั้นขอแนะนำให้ช่วยเหลือตัวเองด้วยการถมที่ให้สูง แต่ไม่ควรจะสูงมากจนสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้าน ดังนั้นจุดที่เราจะต้องตรวจสอบมีดังนี้
1.การเตรียมสถานที่
ต้องถางหญ้า ขุดบ่อ เก็บเศษหิน กาบปูน ขยะ และวัชพืชอื่นๆออกไปทิ้งให้พ้นบริเวณที่ก่อสร้าง โดยทั่วไปในจุดนี้มักจะถูกมองข้ามไป จึงขอให้ผู้ที่เตรียมจะสร้างบ้านต้องกำชับผู้รับเหมาให้ทำการเตรียมพื้นที่ก่อน หากมีสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการก่อสร้างรากฐานและการทรุดตัวของดินได้
2.การตรวจสอบระดับความสูงและขอบเขตการถม
ให้ผู้รับเหมาจัดทำระดับที่ถูกต้องตามที่ตกลงกัน ว่าจะให้อยู่สูงในระดับใด ขอบเขตขนาดไหน โดยเราจะต้องแจ้งขอบเขตที่ดินที่ถือครองให้ชัดเจน
3.วัสดุที่ใช้ถมที่
ถ้าใช้ดินควรเป็นดินเหนียว ดินร่วน หรือดินลูกรัง หรือถ้าเป็นทราย ทรายปนดิน ต้องไม่มีวัชพืชและเศษขยะ ราคาต่อหน่วยที่ใช้ถมดินในปริมาณไม่มากจะคิดเป็นคิวรถ แต่หากเป็นพื้นที่ที่ต้องใช้ดินปริมาณมากอาจคิดในราคาเหมารวม
4.การถมดินรอบอาคาร
ในกรณีที่แบบแปลน หรือรายการรายละเอียดระบุให้ถมดินรอบอาคาร ให้ทำเอียงลาด 1 ต่อ 2 (แนวดิ่ง 1 ส่วนต่อแนวราบ 2 ส่วน) ลงสู่ระดับดินเดิม พร้อมตกแต่งและบดอัดจนเรียบ ในส่วนของความสูงให้ยึดตามรายการหรือละเอียดในแบบแปลน
5.การถมดินภายในอาคาร
กรณีที่ถมดินหรือดินลูกรังให้ถมเป็นชั้นๆ ชั้นละไม่เกิน 25 เซนติเมตร แต่ละชั้นให้บดอัดด้วยเครื่องบดอัดจนแน่น สำหรับในกรณีที่ถมด้วยทราย ต้องหาวิธีป้องกันมิให้ทรายไหลออกจากบริเวณที่ต้องการถม พร้อมทั้งขังน้ำทิ้งไว้จนทรายทรุดตัวแน่น