ไขมันเกาะตับ หรือ ไขมันพอกตับ ได้อ่านชื่อโรคแล้วอาจจะดูคล้ายว่าเป็นโรคใหม่ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่ใกล้ตัวเรา เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป เกี่ยวข้องอย่างมากกับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของเรา
ภาวะไขมันเกาะตับ ในที่นี้ไม่ใช่กลุ่มเดียวกับผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคนี้จึงมักจะไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเอง อาจไม่ได้ใส่ใจหรือสนใจ จนกระทั่งตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะภาวะนี้ในระยะแรกๆจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ หรือบางคนอาจมีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดแน่นชายโครงด้านขวา อ่อนเพลียหรือคลื่นไส้เล็กน้อยจนแทบจะไม่เป็นที่สังเกตได้ชัด ถ้าตรวจเลือดจะพบเอนไซม์ตับผิดปกติ แสดงว่ามีภาวะตับอักเสบ และเมื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น CT Scan หรืออัลตร้าซาวด์จะพบว่ามีไขมันแทรกอยู่ในเนื้อตับ ถ้าขาดการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องอาจนำไปสู่การเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้
การตรวจหามะเร็งตับทำได้ 2 วิธีคือ
- การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน เป็นวิธีการตรวจที่สะดวกแต่ความไวของการตรวจพบจะไม่มาก
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ CT Scan หรือเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ความไวของการตรวจพบความผิดปกติจะมากขึ้น
7 วิธีการรักษาภาวะไขมันเกาะตับ
- ถ้าอ้วนหรือน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนัก และควบคุมอาหารจำพวกแป้งน้ำตาลและของมัน
- ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิค 30 ถึง 45 นาทีต่อวันอย่างน้อย 3 ถึง 5 วันต่อสัปดาห์
- ลดละเลิกการดื่มสุราเพื่อลดผลเสียต่อตับ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาหรืออาหารเสริมที่ไม่จำเป็น
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบในคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน
- ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอเพื่อดูค่าเอนไซม์การทำงานของตับ (SGOT,SGPT)
- รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การใช้ยารักษาเบาหวาน ยารักษาไขมันในเลือดสูง และยารักษาโรคความดันโลหิตสูง
โรคไขมันเกาะตับ เหมือนภัยร้ายแรง อาจเป็นได้แบบไม่รู้ตัวหรือแทรกซ้อนอยู่กับโรคอื่นๆ ยิ่งหากไม่ได้ดูแลหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจนำไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับได้
source : นพ.นิวัตร จิรพิชญนาวิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับประจำศูนย์โรคปวดท้อง โรงพยาบาลสินแพย์