หูของปลาไม่มีส่วนนอกและส่วนกลางเหมือนสัตว์ชั้นสูง ดังนั้นปลาจึงมีแต่เพียงหูส่วนใน ใช้เป็นอวัยวะสำหรับช่วยการทรงตัว
ปลาน้ำจืดจำพวกปลาไน ปลาตะเพียน และปลาดุก กระเพาะลมมีส่วนติดต่อกับส่วนหู โดยชิ้นกระดูกเล็กๆ ซึ่งสามารถทำให้ปลาจำพวกนี้รับความสั่นสะเทือนในน้ำได้ดี นอกจากนี้ปลาส่วนใหญ่ยังมีเส้นข้างตัว (lateral line system) สามารถรับความสั่นสะเทือนในน้ำได้ ส่วนการรับกลิ่น ปลามีจมูกสำหรับรับกลิ่นเช่นเดียวกับสัตว์บก แต่ไม่ได้ใช้หายใจ จึงไม่มีท่อติดต่อกับคอหอย
ปลาฉลามมีจมูกไวมาก สามารถรับกลิ่นเลือดได้ในระยะไกล ปลารับสัมผัสได้ดีมาก อวัยวะรับสัมผัสมีอยู่บนส่วนต่างๆ ของตัวปลา เช่น ตามผิวหนัง ตามผิวของหนวด (barbels of feelers) หรือครีบ สำหรับปลาที่หากินบนพื้นท้องน้ำใช้อวัยวะดังกล่าวในการหาอาหารได้ด้วยการคลำ
ที่มาและการอ้างอิง : 100 เรื่องสงสัย รู้ไหม ทำไมสัตว์ โดย กนก-ณัฐ