ผู้ใหญ่หลายคนก่อนนอนอาจจะต้องอ่านหนังสือ ต้องมีหมอนรายล้อมตัวถึงจะนอนหลับ เด็กเล็กๆเองก็เช่นกัน หากผู้ใหญ่เคยอุ้ม เคยกล่อมก่อนนอน หากกิจวัตรเหล่านี้ตกหล่นไป เด็กอาจงอแง หากต้องการฝึกให้เขานอนได้เอง คงต้องฝึกสอนที่เด็กอายุ 3-4 เดือน โดยอุ้มเขาไปนอนที่เตียง หากเขาร้องก็ปล่อยให้เขาร้องไป จนในที่สุดเขาจะหลับไปเอง หากได้การฝึกแบบนี้ จะช่วยให้ลูกสามารถหลับต่อได้เองหากตื่นมากลางดึก
ระยะเวลาการนอนเด็กอายุ 4 เดือน
จะเริ่มหลับยาวในเวลากลางคืน ถ้าตื่นกลางคืนก็ไม่เกิน 1-2 ครั้ง และนอนกลางวัน 2-3 ครั้ง ระยะเวลาการนอนของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 10-16 ชั่วโมง เด็กที่มีอายุประมาณ 9 เดือน เด็กที่ไม่เคยมีประวัติตื่นมาร้องไห้กลางดึก อาจมีอาการนี้ได้
สาเหตุมาจากการที่เด็กเริ่มเรียนรู้ว่า มีคนอยู่ข้างๆตลอดเวลา และตื่นกลางดึกเขาก็รู้ว่าเดี๋ยวพ่อแม่ๆก็มา เขาจึงร้องไห้ปลุกคุณให้ขึ้นมาเล่นกับเขา หรือเดินมาหาเขา หากพ่อแม่ที่ตอบสนองมาเล่นมาอุ้มจนเขาหลับ เขาจะตื่นมาร้องทุกคืน
คุณสามารถทำได้ เช่น หากคุณเดินไปหาลูก ไม่จำเป็นต้องอุ้มเขาจนหลับ ให้วางเขาไว้บนเตียงแล้วให้เขาหลับต่อด้วยตัวเอง ทำต่อเนื่องทุกคืน ในที่สุดเขาจะหลับไปเอง เด็กบางคนแม่ไม่อุ้ม ไม่สนใจ ปล่อยให้หลับให้นอนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ อาจเป็นเพราะเขามีปัญหาทางสุขภาพ เช่น เป็นหวัด หรือหูชั้นกลางอักเสบ หรือเคยเป็น ทำให้นอนไม่ได้ดีเหมือนดังเดิม ทั้งๆที่หายจากอาการเจ็บป่วยแล้ว หรือพ่อแม่ทำงานกลับบ้านดึก เด็กอาจอยู่รอพ่อแม่กลับมาเล่นด้วย
โรคร้องไห้ไม่หยุดในเด็กหรือร้องโคลิก
ไม่ว่าจะเป็นการร้องแบบปกติหรือมีปัญหา พูดได้ว่าไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาแล้วไม่เคยร้องไห้ เสียงร้องแต่ละครั้งมีสาเหตุที่คาดเดาได้และคาดไม่ถึง ตามปกติเด็กจะร้องไห้มากในช่วง 6-8 สัปดาห์ และค่อยค่อยลดลงเมื่อเขาอายุ 3-4 เดือน การร้องไห้จะลดลงเหลือวันละประมาณ 1 ชั่วโมง เด็กที่ร้องไห้มาก ร้องนานเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง ปลอบอย่างไรก็ไม่หยุดร้อง หากร้องนานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ต่อเนื่อง นานกว่า 3 สัปดาห์เข้าข่ายที่เรียกว่าร้องโคลิก
โคลิก (colic pain) มาจากคำว่า “อาการปวดท้องจากลำไส้บีบตัว”
แต่อาการนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยืนยันว่าเขาร้องเพราะปวดท้องเท่านั้น การร้องโคลิกมี 2 แบบใหญ่ๆคือ พอได้เวลาประมาณ 5 โมงเย็นเด็กจะเริ่มร้องจนถึง 2 ทุ่ม แบบที่ 2 ร้องได้ทุกช่วงเวลา เด็กกลุ่มนี้จะกระวนกระวายง่ายเมื่อถูกเราจากสิ่งต่างๆ เด็กลักษณะนี้จะชอบอยู่ในที่เงียบสงบไม่ชอบคนเยอะ เกลียดการเปลี่ยนแปลงอะไรในแบบทันทีทันใด เวลาอุ้มหรือเปลี่ยนอิริยาบถต้องทำแบบนุ่มนวลไม่ทำแบบฉับพลัน
การดูแลอาการโคลิก
พ่อแม่ที่มีลูกเป็นโคลิกจะเหนื่อยมาก เพราะการปล่อยให้เขาหยุดไม่ง่ายเลย มักทำให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกระวนกระวายใจ ในบางครั้งถึงกลับรู้สึกหงุดหงิดที่เขาไม่ยอมสงบ ทั้งๆที่พยายามแล้ว การจัดการกรณีนี้สิ่งแรกคือ จัดการความรู้สึกของพ่อแม่นั่นเอง พ่อแม่ที่วิตกกังวล เสียใจ กลัว โกรธ หรือความรู้สึกไร้ความสามารถ จะยิ่งทำให้เหตุการณ์เลวร้าย การรู้เท่าทันความรู้สึกของตัวพ่อแม่เองว่ากำลังรู้สึกอย่างไร และตระหนักรู้ว่านั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้คนอื่นเขาก็เจอเหมือนกัน
ห้ามเขย่าตัวเด็กอย่างรุนแรง
พ่อแม่บางคนควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อาจมีการเขย่าตัวเด็กอย่างรุนแรงเพื่อให้หยุดร้อง ซึ่งอาจทำอันตรายรุนแรงต่อสมองของเด็ก จอประสาทตาหลุดลอก และบางคนอาจเสียชีวิตได้ หากคุณมีความรู้สึกที่รุนแรงจนอยากเขย่าตัวลูกให้หยุดร้อง ควรปรึกษาแพทย์ หากลูกต้องได้รับการดูแลจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ตัวคุณ และคุณต้องแน่ใจว่าลูกจะปลอดภัยจากการกระทำดังกล่าวจากบุคคลที่ดูแลขณะที่คุณไม่อยู่บ้านด้วย
การประเมินภาวะโคลิกจากแพทย์
หากคุณคิดว่าลูกเป็นโคลิก เขาควรได้รับการตรวจและประเมินโดยแพทย์ถึงสาเหตุอื่นๆ บางครั้งเขาอาจเป็นภาวะแพ้โปรตีนนมวัว หรือมีภาวะกรดไหลย้อนที่หลอดอาหาร ซึ่งแก้ไขได้โดยการรักษาเฉพาะทาง หากเขามีการเจริญเติบโตช้าผิดปกติร่วมกับภาวะโคลิก แพทย์บางท่านอาจขอตรวจเพิ่มเพื่อหาสาเหตุที่อาจซ่อนเร้น ถ้าเขามีอาการโคลิกอย่างเดียวขอให้มั่นใจได้ว่าอาการนี้จะไม่ส่งผลเสียเมื่อเขาโตขึ้น
การช่วยเหลือเด็กโคลิก
- ใช้จุกหลอกเพื่ออุดปากให้เงียบ
- ห่อตัวให้แน่นๆเหมือนตอนอยู่ในโรงพยาบาล
- ไกวเปลหรือโยกไปมา
- ไว้ในเป้หรือให้ตัวลูกอยู่กับตัวคุณตลอดเวลา
- พาไปขับรถเล่น
- นวดสัมผัสทารกอาจช่วยให้หลับสบายและหายปวดท้อง
- ประคบอุ่นบริเวณท้องช่วยอาการคลายปวดท้อง
- ลองเปลี่ยนนมวัวผงเป็นสูตรป้องกันภูมิแพ้ หรือนมถั่วหลืองสูตรปราศจากน้ำตาลแลคโตส เพราะเด็กอาจแพ้นม
- หากลูกกินนมแม่ ลองสังเกตเกี่ยวกับอาหารที่แม่กิน เช่น นมวัว หรือกาแฟอีน
- เปิดเพลงให้เขาฟัง
- ทำห้องเงียบสงบ ให้พบเจอผู้คนที่มาเยี่ยมน้อยๆ ใช้เสียงเบาๆ เคลื่อนไหวช้าๆนุ่มนวล ไม่หุนหันฉับพลัน
แต่หากทำทุกวิธีแล้วลูกยังไม่หยุดร้อง ลองตรวจดูอีกครั้งว่าเขาไม่ได้หิว หรือเจ็บป่วย หากยังไม่ได้ผลแนะนำให้วางลูกในเตียงของเขา แล้วปล่อยให้เขาร้องจนหยุดเอง ส่วนตัวคุณอาจอยู่ในห้องหรือเดินออกห้องไปสูดอากาศหรืออารมณ์สงบนาน 10-15 นาที แล้วค่อยกลับมาเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด การปล่อยให้เขาร้องไม่ได้ทำให้เขาเป็นคนเจ้าอารมณ์แต่อย่างไร การช่วยเหลือดูแลไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ขอให้รู้ว่าสิ่งที่ทำไปแล้วนั้นสบายใจที่สุด
พ่อแม่ต้องไม่ลืมดูแลตนเอง
พ่อแม่บางคนอาจรู้สึกเป็นปกติดีหลังจากต้องรับมือกับลูกร้องโคลิกเป็นเวลาต่อเนื่องหลายชั่วโมง เพราะได้เรียนรู้ว่าเป็นธรรมชาติและกิจวัตรประจำวันของลูกและลูกไม่ได้มีปัญหาร้ายแรงแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่ร้องรุนแรงกว่าเด็กคนอื่นเท่านั้นเอง นั่นแปลว่าคุณรับมือกับปัญหาได้ดี
พ่อแม่บางคนอาจรู้สึกแทบคลั่ง ที่ต้องได้ยินเสียงร้องโคลิกสม่ำเสมอทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเกือบ 3 เดือน ทำให้แม่หมดสภาพ เหนื่อยล้าทั้งกายและใจ หนทางหนึ่งที่อาจช่วยได้คือ ควรหาเวลา 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง ออกไปเติมพลังงานนอกบ้านบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการไปดูหนังหรือไปเที่ยวกับเพื่อน หรือกินข้าวในบรรยากาศโรแมนติกกับสามี เพื่อเรียกความแจ่มใสกลับคืนมา จะได้กลับมารับมือกับการร้องมาราธอนของลูกต่อไปได้
คุณอาจฝากเขาไว้กับคนที่คุณไว้ใจ และบอกกับทุกคนว่า เวลาเขาร้องห้ามเขย่าเป็นอันขาด ไม่ว่าเขาจะร้องไห้มากแค่ไหนก็ตาม บางคนไม่นิยมวิธีการนี้เพราะรู้สึกผิด แต่ความจริงคือ วิธีการนี้ดีกับทุกคนรวมทั้งลูกและสามี ทุกคนจะได้รับผลดีจากการที่คุณไม่เหนื่อยจนเกินไป จนทำให้คนรอบตัวหดหู่ไปด้วย หากรู้นึกว่าเริ่มดูแลลูกได้ไม่ดี คุณกับสามีอาจสลับกันไปพักทีละคน หรืออาจชวนเพื่อนมาเฮฮาปาร์ตี้ที่บ้านบ้าง อะไรก็ได้ที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายไม่หมกมุ่นอยู่กับลูกตลอดเวลา
soruce : ดร.สป๊อก-นายแพทย์เบนจามิน สป๊อก (เขียน).แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ (แปล).คำภีร์เลี้ยงลูก (59 – 62).กรุงเทพ.อมรินทร์สุขภาพ.2552.