วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

ประวัติศาสตร์จังหวัดชัยภูมิ

03 เม.ย. 2019
1875

เมืองไทย แผ่นดินไทย จึงเป็นขุมทรัพย์อันมหาศาลของวงการนักปราชญ์ทางโบราณคดีทั่วโลก

 

 

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

ผืนแผ่นดินไทยในอดีตเต็มไปด้วยอารยธรรมอันสูงส่งในนามของอาณาจักรต่าง ๆ ที่วิวัฒนาสืบต่อกันมาโดยมิขาดสาย เมืองไทย แผ่นดินไทย จึงเป็นขุมทรัพย์อันมหาศาลของวงการนักปราชญ์ทางโบราณคดีทั่วโลก  ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันจึงกลายเป็นแผ่นดินแห่งประวัติศาสตร์ และอารยธรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ซึ่งดินแดนแห่งนี้ เมื่อครั้งโน้นเรียกว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิ” หรือแหลมอินโดจีนก่อนที่ชาติไทยจะได้เข้ามาตั้งภูมิลำเนานั้น เดิมเป็นที่อยู่ของชน ๓ ชาติ คือ ขอม,มอญ,ละว้า

ก. ขอม อยู่ทางภาคตะวันออกของลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้อันเป็นที่ตั้งของประเทศกัมพูชาปัจจุบันนี้

ข. มอญหรือรามัญ อยู่ทางตะวันออกของลุ่มแม่น้ำสาละวิน ตลอดจนถึงลุ่มแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นอาณาเขตของสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่าในปัจจุบัน

ค. ละว้า อยู่ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นอาณาเขตของประเทศไทย

 

ปัจจุบัน อาณาเขตละว้า แบ่งเป็น ๓ อาณาจักร คือ

.อาณาจักรทวารวดี หรือละว้าใต้ มีอาณาเขตทางภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแผ่ออกไปจากชายทะเลตะวันตกและตะวันออกของอ่าวไทยซึ่งมีนครปฐมเป็นราชธานี

.อาณาจักรยางหรือโยนกหรือละว้าเหนือ มีอาณาเขตที่เป็นภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันมีราชธานีอยู่ที่เมืองเงินยาง

๓. อาณาจักรโคตรบูรณ์หรือพนม มีอาณาเขตที่เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบันตลอดไปจนถึงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีเมืองนครพนมเป็นราชธานี

แต่ก่อนที่จะมีคนไทยอพยพเข้ามานั้น ดินแดนแห่งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงในรูปของผู้เข้าครอบครอง

 

ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ขอมได้เริ่มแผ่อำนาจเข้าไปในอาณาเขตของละว้า

และสามารถครอบครองอาณาเขตละว้าทั้ง ๓ ได้ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ โดยเฉพาะอาณาจักรโคตรบูรณ์ขอมได้รวมเข้าเป็นอาณาจักรของขอมโดยตรง

– อาณาจักรทวารวดี ส่งคนมาเป็นอุปราชปกครอง

– อาณาจักรยางหรือโยนก ให้ชาวพื้นเมืองปกครองตนเองแต่ต้องส่งส่วยให้แก่ขอม

 

ในระยะเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี ขอมได้แผ่ขยายศิลปวิทยาการ

อันเป็นความรู้ทางศาสนาปรัชญา สถาปัตย์และอารยธรรมอีกมากมาย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากอินเดีย และต่อมาพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อำนาจของขอมต้องเสื่อมลงดินแดนส่วนใหญ่ได้เสียแก่พม่าไป ซึ่งในเวลานั้นพม่ามีอาณาเขตอยู่ทางลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนเหนือ ได้รุกรานอาณาดินแดนของพวกมอญโดยลำดับมา และได้สถาปนาเป็นอาณาจักรขึ้น มีกษัตริย์ทรงพระนามว่า อโนระธามังช่อ หรือพระเจ้าอนุรุทมหาราช ปราบได้ดินแดนมอญลาวได้ทั้งหมด แต่ภายหลังเมื่อพระเจ้าอนุรุทสิ้นพระชนม์แล้วพม่าก็หมดอำนาจ ขอมก็ได้อำนาจอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งหลังนี้ก็เป็นความรุ่งเรืองตอนปลาย จึงอยู่ได้ไม่นานนัก เปิดโอกาสให้ไทยซึ่งได้เข้ามาตั้งทัพอยู่เขตละว้าเหนือ โดยขยายอำนาจเข้ามาแล้วขับไล่ขอมเจ้าของเดิมออกไป

 

จากประวัติศาสตร์ดังกล่าว อาณาจักรทวารวดีเป็นอาณาจักรหนึ่งของละว้า

ซึ่งมีอาณาเขตอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ สืบต่อมาจนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ แห่งขอมได้แยกขยายอำนาจออกมาตั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา อาณาจักรโคตรบูรณ์หรือพนม มีอาณาเขตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยขอมตอนปลาย ถ้าอาศัยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ประกอบกับภูมิศาสตร์ก็น่าจะเชื่อว่าดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรโคตรบูรณ์ หรือพนมก็คงครอบคลุมมาถึงดินแดนที่เป็นที่ตั้งของเมืองชัยภูมิในปัจจุบัน

 

โดยศึกษาจากหลักฐานศิลปะวัดโบราณในจังหวัดชัยภูมิ 

อันได้แก่ใบเสมาหินทรายแดงที่พบที่บ้านกุดโง้ง ตำบลหนองนาแซง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งแกะสลักเป็นรูปเสมาธรรมจักร บรรจุตัวอักษรอินเดียโบราณ (ซึ่งศิลปอินเดียเองก็เป็นต้นฉบับของขอม) ศิลปวัตถุชิ้นนี้จัดอยู่ใน ศิลปทวารวดี นอกจากนี้ยังจะเห็นได้ชัดจากพระธาตุบ้านแก้ง หรือพระธาตุหนองสามหมื่น เป็นพระธาตุสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างประมาณ ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๒๕ เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูนจากฐานของพระธาตุขึ้นไปประมาณ  ๑๐ เมตร ทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ แต่ละทิศจำหลักเทวรูป ลักษณะเป็นศิลปทวารวดี

 

ปรางค์กู่

เป็นโบราณสถานที่ตั้งห่างจากจังหวัดประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นปรางค์เก่าแก่ ก่อสร้างด้วยศิลาแลง ภายในปรางค์มีพระพุทธรูปเป็นศิลปทวารวดีประดิษฐานอยู่ ดูจากศิลปและการก่อสร้าง ตลอดทั้งวัตถุก่อสร้างใช้ศิลาแลง สันนิษฐานว่าคงจะสร้างในสมัยเดียวกันกับประสาทหินพิมาย

 

ภูพระ

เป็นภูเขาเตี้ยอยู่ที่ตำบลนาเสียว อำเภอเมืองชัยภูมิ ระยะห่างจากตัวจังหวัด ๑๒ กิโลเมตร ตามผนังภูพระจำหลักเป็นพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่ง นั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลาพระหัตถ์ซ้ายวางพาดอยู่ที่พระชงฆ์  หน้าตักกว้าง ๕ ฟุต เรียกว่า “พระเจ้าตื้อ” และรอบพระพุทธรูปมีรอยแกะทับเป็นรูปพระสาวกอีกองค์หนึ่งสันนิษฐานว่า คงจะสร้างในสมัยขอมรุ่นเดียวกับที่สร้างปรางค์กู่ก็เป็นได้ พระพุทธรูปเหล่านี้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙

 

พระธาตุกุดจอก

สร้างเป็นแบบปรางค์ประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยทวารวดี อยู่ภายในตัวปรางค์สร้างในสมัยขอมเช่นกัน อาศัยจากหลักฐานต่าง ๆ ประวัติศาสตร์ประกอบกับทางด้านภูมิศาสตร์ก็น่าจะเชื่อว่า เมืองชัยภูมิในปัจจุบันเป็นเมืองที่ขอมสร้างขึ้นร่วมสมัยเดียวกันกับลพบุรี, พิมาย แต่ขอมจะสร้างชื่อเมื่อใดหรือศักราชใดนั้นหาหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดไม่ได้ นอกจากจะสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยขอมมีอำนาจเข้าครอบครองในเขตลาว โดยอาศัยหลักโบราณคดีวินิจฉัย เปรียบเทียบตลอดจนศิลปการก่อสร้างเทวรูป ศิลปกรรมเป็นต้น ว่าการแกะสลักตามฝาผนัง ตามปรางค์กู่มีส่วนคล้ายคลึงกับประสาทหินพิมายมากและอยู่ในบริเวณที่ราบสูงโคราชด้วยกัน ระยะทางระหว่างประสาทหินพิมายกับปรางค์กู่ ชัยภูมิห่างกันประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตรเศษ ๆ เท่านั้น

 

เมื่ออนุมานดูแล้ว เมืองชัยภูมิปัจจุบันเป็นเมืองที่อยู่ในอิทธิพลของขอมมาก่อนและสร้างในสมัยเดียวหรือรุ่นเดียวกันกับเมืองพิมายหรือประสาทหินพิมายดังหลักฐานปรากฏข้างต้น

 

สมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑

ซึ่งในสมัยนี้เองเป็นครั้งแรกที่เมืองเวียงจันทน์ได้มาขอเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา หลังจากทางกรุงศรีอยุธยาได้รับเมืองเวียงจันทน์เข้าเป็นเมืองขึ้นแล้ว ชาวเมืองเวียงจันทน์ก็ได้อพยพเข้ามาประกอบอาชีพติดต่อกับกรุงศรีอยุธยามากขึ้นเรื่อย ๆ การเดินทางจากเวียงจันทน์เข้ามายังอยุธยาเส้นทางก็ผ่านพื้นที่ของเมืองชัยภูมิปัจจุบัน ข้ามลำชี ข้ามช่องเขาสามหมด(สามหมอ) ชาวเวียงจันทน์ที่อพยพเดินทางผ่านไปผ่านมา เห็นทำเลแห่งนี้เป็นทำเลดีเหมาะในการเพาะปลูกทำไร่ ทำนา จึงได้พากันเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน

 

เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ตลอดทั้งผู้เข้ามาอยู่อาศัยในแถบนี้มีแต่ความสันติสุขสงบเรียบร้อย ดินแดนแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า “ชัยภูมิ” เริ่มสร้างบ้านเรือนอยู่กันเป็นหลักแหล่ง ผู้อพยพส่วนใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่นตามลุ่มลำชี ตามบึง ตามหนองน้ำต่าง ๆ เมื่อมีคนเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็ตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อหมู่บ้านตามลักษณะที่ตั้ง เช่นบ้านอยู่ริมฝั่งชีก็ตั้งชื่อว่าบ้านลุ่มลำชี ถ้าใกล้หนองน้ำก็ตั้งชื่อบ้านตามหนองน้ำนั้น เช่น บ้านหนองนาแซง บ้านหนองหลอด ฯลฯ

 

ชาวพื้นเมืองชัยภูมิได้รับสืบทอดอารยธรรมต่าง ๆ จากบรรพบุรุษเหล่านี้ เช่น ทางด้านภาษาพูด ภาษาเขียน (ตัวหนังสือที่เขียนใส่ใบลานหรือหนังสือผูก) วรรณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวชัยภูมิ

 

เมื่อมีคนอยู่ในแดนนี้มากขึ้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้โปรดให้เมืองชัยภูมิขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา เพราะอยู่ใกล้กว่าและสะดวกในการปกครองดูแล ตั้งแต่นั้นมาเป็นอันว่าเมืองชัยภูมิ อยู่ในความปกครองของเมืองนครราชสีมา ตลอดมา

 

สมัยกรุงธนบุรี หลังจากกรุงศรีอยุธยา เสียเอกราชแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐

พม่าทำลายล้างผลาญโดยที่ต้องการจะมิให้ไทยตั้งตัวขึ้นอีก ได้ริบทรัพย์จับเชลย เผาผลาญทำลายปราสาทราชมณเฑียร วัดวาอารามตลอดจนบ้านเมืองของราษฎรครั้งนั้นพม่าได้กวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยประมาณ ๓๑,๐๐๐ คน กรุงศรีอยุธยาเกือบจะไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย นอกจากซากสลักหักพังสภาพเหมือนเมืองร้าง

 

อยุธยาเมืองหลวงของไทย ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาหลายร้อยปีมีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง ๓๔ พระองค์ ต้องมาเสียแก่พม่าก็เพราะการที่คนไทยแตกความสามัคคีกันเองแต่กรุงศรีอยุธยาก็ยังไม่สิ้นคนดี คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พาสมัครพรรคพวกยกออกจากรุงศรีอยุธยา ไปรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรีมีอาณาเขตตลอดบริเวณหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกต่อแดนกัมพูชา จนถึงเมืองชลบุรี ซึ่งขณะนั้นหัวเมืองต่าง ๆ ที่มิได้ถูกกองทัพพม่าย่ำยี มีกำลังคน กำลังอาวุธ ก็ถือโอกาสตั้งตัวเป็นอิสระ เป็นชุมชนต่าง ๆ ขึ้น และหวังที่จะเป็นใหญ่ในเมืองไทยต่อไป

 

ชุมนุมที่สำคัญมี ๕ ชุมนุม คือ

๑. ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) อาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาจนถึงเมืองนครสวรรค์

๒. ชุมนุมเจ้าพระฝาง (เรือน) อาณาเขตตั้งแต่เมืองเหนือพิชัยถึงเมืองแพร่ เมืองน่านและเมืองหลวงพระบาง

๓. ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช มีอาณาเขตตอนใต้ต่อแดนมลายูขึ้นมาถึงเมืองชุมพร

๔. ชุมนุมเจ้าพิมายหรือกรมหมื่นเทพพิพิธ โอรสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระพิมายเจ้าเมืองถือราชตระกูลและมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นใหญ่ ณ  เมืองพิมายชุมนุมนี้มีอาณาเขตบริเวณหัวเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือจดแดนลานช้าง กัมพูชา ตลอดลงมาจนถึงสระบุรี ดูจากอาณาเขตของชุมนุมพิมายในสมัยนี้แล้ว ครอบคลุมเมืองนครราชสีมาและเมืองชัยภูมิด้วย เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้เมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในอาณาบริเวณนี้ก็ตกอยู่ในอำนาจของกรมหมื่นเทพพิพิธแห่งชุมนุมพิมาย

๕. ชุมนุมพระยาตาก ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่แดนกรุงกัมพูชาลงมาจนถึงชลบุรี

 

พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพมาปราบชุมนุมพิมายได้สำเร็จ

และให้ขึ้นต่อเมืองนครราชสีมาตามเดิมและในช่วง ๑๕ ปี ของสมัยธนบุรี ประวัติเมืองชัยภูมิไม่ได้กล่าวไว้เลย แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตเมืองพิมายและเมืองนครราชสีมาก็รวมอยู่เขตเมืองชัยภูมิและการปกครองก็มีรูปแบบเหมือนสมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะฉะนั้นเมืองชัยภูมิก็ยังขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา เช่นเดิมตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมท้องที่ชัยภูมิ มีผู้คนอาศัยมากพอควร

กระจัดกระจายอาศัยอยู่ตามแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ในความปกครองของเมืองนครราชสีมา ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าในสมัยนี้ใครเป็นผู้นำหรือเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ อาจจะเป็นเพราะในเขตนี้ผู้คนยังน้อย ยังไม่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนจึงยังไม่สมควรที่จะแต่งตั้งใครมาปกครองเป็นทางการได้

 

ประมาณ พ.ศ. ๒๓๖๐ ได้มีขุนนางชาวเวียงจันทน์คนหนึ่งมีนามว่า อ้ายแล (แล) ตามประวัติเดิมมีตำแหน่งเป็นพี่เลี้ยงราชบุตรเจ้าอนุเวียงจันทน์ ได้ลาออกจากหน้าที่แล้วอพยพครอบครัวและไพร่พลชาวเมืองเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขง เลือกหาภูมิลำเนาที่เหมาะเพื่อตั้งหลักแหล่งทำมาหากินขั้นแรกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้าน “น้ำขุ่นหนองอีจาน” (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา)

 

ต่อมาได้อพยพมาอยู่ที่ “โนนน้ำอ้อม” (ทุกวันนี้ชาวบ้านเรียกบ้านชีลอง) โดยมีน้ำล้อมรอบจริง ๆ โนนน้ำอ้อมอยู่ระหว่างบ้านขี้เหล็กใหญ่กับบ้านหนองนาแซงกับบ้านโนนกอกห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ ๖ กิโลเมตร และได้ตั้งหลักฐานมั่นคง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ คงใช้ชื่อเมืองตามเดิม คือเรียกว่าเมืองชัยภูมิ (เวลานั้นเขียนเป็นไชยภูมิ) นายแลได้นำพวกพ้องทนุบำรุงบ้านเมืองนั้นจนเจริญเป็นปึกแผ่น เป็นชัยภูมิทำเลที่เหมาะแก่การทำมาหากิน ผู้คนในถิ่นต่าง ๆ จึงพากันอพยพมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ถึง ๑๓ หมู่บ้าน คือ

๑. บ้านสามพัน

๒. บ้านบุ่งคล้า

๓. บ้านกุดตุ้ม

๔. บ้านบ่อหลุบ (ข้าง ๆ บ้านโพนทอง)

๕. บ้านบ่อแก

๖. บ้านนาเสียว (บ้านเสี้ยว)

๗. บ้านโนนโพธิ์

๘. บ้านโพธิ์น้ำล้อม

๙. บ้านโพธิ์หญ้า

๑๐.บ้านหนองใหญ่

๑๑.บ้านหลุบโพธิ์

๑๒.บ้านกุดไผ่ (บ้านตลาดแร้ง)

๑๓.บ้านโนนไพหญ้า (บ้านร้างข้าง ๆ บ้านเมืองน้อย)

 

นายแลได้เก็บส่วยผ้าขาวจากชายฉกรรจ์ ประมาณ ๖๐ คน ในหมู่บ้านเหล่านั้นไปบรรณาการแก่เจ้าอนุเวียงจันทน์ เจ้าอนุเวียงจันทน์จึงได้ปูนบำเหน็จความชอบตั้งให้นายแลเป็นที่ “ขุนภักดีชุมพล” ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับหัวหน้าคุมหมู่บ้านขึ้นกับเวียงจันทน์

 

ในปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ขุนภักดีชุมพล(แล) เห็นว่าบ้านโนนน้ำอ้อม (ชีลอง) ไม่เหมาะเพราะบริเวณคับแคบและอดน้ำ (น้ำสกปรก) จึงย้ายเมืองชัยภูมิมาตั้งที่แห่งหนึ่งระหว่างหนองปลาเฒ่ากับหนองหลอดต่อกัน (ห่างจากศาลากลางจังหวัดเวลานี้ประมาณ ๒ กิโลเมตร) และให้ชื่อบ้านใหม่นี้ว่า “บ้านหลวง”

 

พ.ศ. ๒๓๖๖ ที่บ้านหลวงนี้ได้มีคนอพยพมาตั้งถิ่นฐานหนาแน่นขึ้นอีก

มีชายฉกรรจ์ ๖๖๐ คนเศษ ขุนภักดีชุมพล (แล) ไปพบบ่อทองคำที่บริเวณเชิงเขาภูขี้เถ้า ที่ลำห้วยซาดเรียกว่า “บ่อโขโล” ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาพญาฝ่อ (พระยาพ่อ) อยู่ในท้องที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้เกณฑ์ชายฉกรรจ์ทั้งปวงไปช่วยเก็บหาทอง มีครั้งหนึ่งที่ขุดร่อนทองอยู่ฝั่งแม่น้ำลำห้วยซาด ได้พบทองก้อนหนึ่งกลิ้งโข่โล่ ทุกวันนี้เสียงเพี้ยนมาเป็นบ่อโขโหล หรือบ่อโขะโหละ อยู่ในเขตอำเภอหนองบัวแดง (ภาชนะที่นายแลและลูกน้องใช้ร่อนทองคำนั้นเป็นภาชนะไม้รูปคล้ายงอบจับทำสวน ชาวบ้านเรียกว่า “บ้าง” หาได้ง่ายในจังหวัดชัยภูมิ)

 

นายแลได้นำทองก้อนโข่โล่นั้นไปถวายเจ้าอนุเวียงจันทน์ ได้รับบำเหน็จความชอบคือได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองไชยภูมิ

 

ในเวลานั้นเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เมืองชัยภูมิเช่นเมืองสี่มุม เมืองเกษตรสมบูรณ์ เมืองภูเขียว ได้ขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมาและกรุงเทพมหานครหมดแล้ว ด้วยเกรงพระบรมเดชานุภาพ ขุนภักดีชุมพลจึงหันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมาและส่งส่วยให้กรุงเทพฯ แต่บัดนั้นมา

 

พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์เป็นขบถ

ยึดเมืองนครราชสีมากวาดต้อนผู้คนไปเมืองเวียงจันทน์ เมื่อถึงทุ่งสัมฤทธิ์ คุณหญิงโมภรรยาเจ้าเมืองนครราชสีมาได้คุมคนลุกขึ้นต่อสู้กับทหารของเจ้าอนุวงศ์ นายแลเจ้าเมืองชัยภูมิพร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ยกทัพออกไปสมทบกับคุณหญิงโมตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์แตกพ่ายไป

 

ฝ่ายทหารลาวที่ล่าถอยแตกพ่าย มีความแค้นนายแลมากที่เอาใจออกห่างมาเข้ากับไทย จึงยกพวกที่เหลือเข้าจับตัวนายแลที่เมืองชัยภูมิ เกลี้ยกล่อมให้เป็นพวกตน แต่นายแลไม่ยอมจึงถูกจับฆ่าเสียที่ใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่าซึ่งประชาชนได้สร้างศาลไว้เป็นที่สักการะจนปัจจุบัน

 

เมื่อพระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิถึงแก่อนิจกรรมบ้านเมืองเกิดระส่ำระสายเพราะขาดหัวหน้าปกครอง ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๕ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า ฯ ให้นายเกต มาเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ โดยตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระภักดีชุมพล นายเกตเดิมเป็นชาวอยุธยา บ้านอยู่คลองสายบัวกรุงเก่า ตามประวัติเดิมว่าเป็นนักเทศน์ เคยเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พิจารณาเห็นว่าที่ตั้งเมืองชัยภูมิไม่เหมาะสม จึงได้ย้ายเมืองจากที่ตั้งเดิมมาตั้งอยู่ที่ “บ้านโนนปอปิด” (คือบ้านหนองบัวเมืองเก่าปัจจุบัน) และได้เก็บส่วยทองคำส่งกรุงเทพฯ เป็นบรรณาการ พระภักดีชุมพล (เกต) รับราชการสนองพระเดชพระคุณเรียบร้อยมาเป็นเวลา ๑๕ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม

 

พ.ศ. ๒๓๘๘ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งให้หลวงปลัด (เบี้ยว) รับราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองได้ ๑๘ ปี ก็ถึงอนิจกรรม ลำดับต่อมาเกิดข้าวยากหมากแพง ผู้คนเกิดระส่ำระสาย อพยพแยกย้ายไปหากินในที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

 

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ พระยากำแหงสงคราม (เมฆ)

ผู้ว่าราชการเมืองนครราชสีมาได้ส่งกรมการเมืองออกไปสอบสวนดูว่า มีข้าราชการเมืองไชยภูมิคนใดบ้างที่มีเชื้อสายเจ้าเมืองเก่า ก็ได้ความว่ามีอยู่ ๓ คน คือ

๑. หลวงวิเศษภักดี (ทิ) บุตรพระยาภักดีชุมพล (แล)

๒. หลวงยกบัตร (บุญจันทร์) บุตรพระภักดีชุมพล (เกต)

๓. หลวงขจรนพคุณบุตรพระภักดีชุมพล (เบี้ยว)

 

พระยากำแหงสงคราม (เมฆ) จึงได้หาตัวกรมการทั้งสามดังกล่าวนำเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพิจารณาหาตัวผู้เหมาะสมตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงวิเศษภักดี (ทิ) เป็นพระภักดีชุมพลตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิ หลวงยกบัตรเป็นหลวงปลัด หลวงขจรนพคุณเป็นหลวงยกบัตร แล้วให้ป่าวร้องให้ราษฎรที่อพยพโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น กลับภูมิลำเนาเดิม

 

ในสมัยพระภักดีชุมพล (ทิ) เป็นเจ้าเมืองนั้นพิจารณาเห็นว่าบ้านหินตั้งมีทำเลกว้างขวางเป็นชัยภูมิดี จึงย้ายตัวเมืองจากบ้านโนนปอปิด มาตั้งเมืองใหม่ที่บ้านหินตั้งและมาอยู่จนทุกวันนี้ พระภักดีชุมพล (ทิ) รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาด้วยดีเป็นเวลา ๑๒ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม

 

พ.ศ. ๒๔๑๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งหลวงปลัด (บุญจันทน์) บุตรพระภักดีชุมพล(เกต) เป็นพระภักดีชุมพล ตำแหน่งเจ้าเมืองไชยภูมิสืบต่อมา ในระยะเวลานี้การส่งส่วยเงินยังค้างอยู่มาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เก็บส่งลดลงกว่าเดิมเป็นคนละ ๔ บาท พระภักดีชุมพล (บุญจันทร์) รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาด้วยความเรียบร้อย ๑๓ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม

 

พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หลวงภักดีสุนทร (เสง) บุตรหลวงขจรนพคุณเป็นพระภักดีชุมพล ตำแหน่งเจ้าเมืองไชยภูมิสืบต่อมา และได้ออกจากราชการเพราะชราภาพ รับเบี้ยหวัดปีละ ๑ ชั่ง

 

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบบมณฑลเทศาภิบาล

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระหฤทัย (บัว) มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิ ได้เปลี่ยนเขตเมืองชัยภูมิเสียใหม่ โดยยกท้องที่เมืองสี่มุม (ปัจจุบันคืออำเภอจัตุรัส เหตุที่เรียกเมืองสี่มุมเพราะเรียกตามชื่อสระสี่เหลี่ยม) เมืองบำเหน็จณรงค์ เมืองภูเขียว เมืองเกษตรสมบูรณ์ ซึ่งเดิมขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมาให้ยุบเป็นอำเภอขึ้นต่อเมืองชัยภูมิ เมื่อรวมทั้งอำเภอเมืองชัยภูมิด้วยเป็น ๕ อำเภอ พระหฤทัย (บัว) จัดการบ้านเมืองอยู่ ๔ ปีเศษ เมื่อราชการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้วโปรดเกล้า ฯ ให้กลับกรุงเทพฯ

 

ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติระเบียบแบ่งเขตหัวเมืองต่าง ๆ ใหม่เป็นมณฑลเป็นจังหวัดเมืองชัยภูมิเป็นจังหวัดหนึ่งอยู่ในเขตมณฑลนครราชสีมา ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติแบ่งเขตการปกครองแผ่นดิน ให้ยุบมณฑลทั้งหมดเป็นจังหวัด เมืองชัยภูมิเป็นจังหวัดหนึ่งซึ่งมีเจ้าเมืองหรือข้าหลวง หรือผู้ว่าราชการรับผิดชอบในการบริหารแผ่นดินจนถึงปัจจุบันนี้

 

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น ปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัด อำเภอจังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

นอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลด้วย เมื่อได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย สาเหตุที่ยกเลิกก็เนื่องจากการคมนาคมสะดวกขึ้นการสื่อสารรวดเร็ว เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของแผ่นดิน และรัฐบาลมุ่งกระจายอำนาจไปสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น

 

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัด มีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือให้จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล อำนาจบริหารในจังหวัดได้เปลี่ยนมาอยู่กับคน ๆ เดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยมีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาและได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตามนัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ

 

จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น ๆ

 

 

source :  ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดชัยภูมิ. กทม : ห้างหุ้นส่วนจำกัดมิตรเจริญการพิมพ์, ๒๕๒๖.

source ภาพ : gift5287.blogspot