ปัจจุบันพูดกันง่าย ๆ ว่า “แอร์” สำหรับบ้านที่พอจะมีงบสักนิด ก็จะต้องติดไว้ เพราะอากาศบ้านเราร้อนแรงเหลือหลาย แต่ก่อนที่จะติดตั้ง เราก็ควรที่มีความรู้เล็ก ๆ น้อย เพื่อให้การใช้งานเหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงใช้งานได้อย่างถูกต้องด้วย
4 ข้อน่ารู้เรื่องแอร์ (ระบบทำความเย็น)
1.แอร์มีกี่ชนิด กี่แบบ และต่างกันอย่างไร
เครื่องปรับอากาศที่เราใช้อยู่มีกี่อย่าง กี่ชนิด กี่ระบบ ขอแยกย่อยโดยสังเขปแบบชาวบ้านได้เป็น 3 แบบดังนี้
1.1. แบบติดหน้าต่าง (Window Type) เป็นแบบที่รวมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในกล่อง ๆ เดียว และติดแขวนไว้ที่ช่องหน้าต่างหรือผนังห้อง เป่าลมเย็นเข้าห้อง โผล่ก้นออกมาระบายความร้อน มีขนาด 8,000-30,000 BTU. หรือภาษาชาวบ้านคือ 0.7-2.5 ตัน (ใหญ่กว่านี้ทําไม่ได้ เพราะเครื่องจะใหญ่และหนักเกินไป ติดตั้งแล้วช่องหน้าต่างหรือผนังจะรับน้ำหนักไม่ไหว) กินไฟค่อนข้างมาก และมีเสียงดังกว่าทุกระบบ แต่สะดวกในการติดตั้ง สะดวกในการเคลื่อนย้าย ติดตั้งรวดเร็ว
1.2. แบบแยกส่วน (Split Type) เป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แยกส่วนเป่าลมเย็นออกจากตัวเครื่องระบายความร้อน ขนาดตั้งแต่ 1-50 ตัน (ขนาด 1-3 ตัน มักไม่มีการต่อท่อลมไปจ่ายหลาย ๆ จุด แต่หากมากกว่านั้น อาจมีการต่อท่อลมออกจากส่วนเป่าลมไปจ่ายหลาย ๆ จุด) แอร์ระบบแยกส่วนนี้ดีตรงที่ไม่ค่อยมีเสียงดัง (เพราะเครื่องระบายความร้อน โดยแยกออกไปวางไว้ที่อื่น) แต่จะยุ่งยากในการติดตั้งมากกว่าระบบติดหน้าต่าง เพราะต้องคํานึงถึงการเดินท่อระหว่างเครื่องที่แยกส่วน ที่สําคัญอย่าลืมท่อระบบน้ำจากที่เป่าลมเย็น (Fan Coil) ไปทิ้งด้วย
1.3. แบบเครื่องชนิดทําน้ำเย็น (Water Chiler) ซึ่งใช้น้ำเป็นตัวกลางในการผลิตความเย็น ใช้สําหรับอาคารใหญ่ ๆ มีขนาดตั้งแต่ 100 ตันขึ้นไป มีความยุ่งยากในการติดตั้ง แต่จะกินไฟน้อยกว่าชนิดอื่น ๆ สถาปนิกและวิศวกรโครงสร้างผู้ออกแบบแต่เริ่มต้น กรุณาอย่าลืมที่จะจัดเตรียมห้องเครื่อง และโครงสร้างที่แข็งแรงเพียงพอเพื่อวางระบบนี้ด้วย (โดยการปรึกษากับวิศวกรเครื่องกล)
สําหรับแอร์ระบบที่ชาวบ้านเรียกกันว่า Central Air นั้น ส่วนใหญ่จะหมายถึง แอร์ระบบสุดท้าย เพราะมีจุดเครื่องระบายความร้อนจุดเดียว แต่ส่งผ่านไปหลายจุดทั่วทั้งอาคาร แต่บางครั้งแอร์ระบบ Split Type ใหญ่ ๆ ที่ส่งลมเย็นไปได้หลาย ๆ จุดที่อาจจะเรียกว่าเป็น Central Air ได้เหมือนกัน
2.ใช้เครื่องปรับอากาศให้คุ้ม และถูกวิธี
ระบบปรับอากาศ กลายเป็นสิ่งที่สําคัญไปแล้วในชีวิตเราปัจจุบัน แต่หลายคนอาจยังเข้าใจผิด ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นเพียง “เครื่องทําความเย็น” ซึ่งเป็นการใช้งานที่ผิดหน้าที่ เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เพราะการจัดวางจัดเตรียมระบบปรับอากาศที่ดี จะต้องประกอบด้วยหน้าที่ดังต่อไปนี้
2.1. เพื่อลดอุณหภูมิ
2.2. ควบคุมความชื้น ไม่ให้แห้งเกินไป (ผิวแตก) หรือ ชื้นเกินไป (เหนอะหนะ)
2.3. ให้อากาศในห้องเคลื่อนไหว ทําให้รู้สึกสบายไม่อึดอัด
2.4. ทําให้อากาศสะอาด (ป้องกันฝุ่น และอาจช่วยฟอกอากาศบ้าง)
2.5. มีระบบระบายอากาศ (การถ่ายเทอากาศจากภายนอก)
หากใครใช้ระบบปรับอากาศครบ 5 ข้อข้างบน จะทําให้ระบบปรับอากาศมีความสมบูรณ์ ดังนั้นใครที่ติดแอร์อยู่ น่าจะสํารวจดูว่าเครื่องหรือระบบปรับอากาศของตนนั้น ทํางานครบทุกหน้าที่หรือไม่ ถ้าไม่ครบก็น่าจะปรับปรุงเพื่อสุขภาพที่ดีของท่าน เช่น ลืมพัดลมระบายอากาศหรือเปล่า เป็นต้น
3.ติดตั้งระบบแอร์อย่าลืมดูความแข็งแรงของพื้นที่ด้วย
ระบบปรับอากาศ เป็นระบบเครื่องกลในอาคารอีกระบบหนึ่งที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน ซึ่งจะต้องมีข้อผิดพลาดบกพร่องเป็นธรรมดา แต่ที่พบปัญหาความหลงลืมของการติดตั้งและออกแบบระบบนี้บ่อย ๆ ก็คือ :
3.1. ระบบดิดหน้าต่าง (Window Type) มักจะลืมดูความแข็งแรงของผนังที่รับน้ำหนักเครื่อง และความสั่นสะเทือนของเครื่องแอร์ ทําให้กระจกหรือหน้าต่างที่อยู่ใกล้ ๆ มีเสียงดังน่ารําคาญ
3.2. ระบบแยกส่วน (Split Type) มักจะลืมท่อระบายน้ำจากเครื่องเป่าลมเย็น (Fan Coil) ว่าจะระบายไปทางไหน และหากเป็นเครื่องตั้งพื้น มักลืม (ตัว) เอาเฟอร์นิเจอร์ไปวางปิดช่องหมุนเวียนอากาศ (Return Air) ทําให้เครื่องทํางานไม่สะดวก
3.3. ระบบเครื่องใหญ่ (Water Chiler) มักลืมพัดลมระบายอากาศ ช่องหมุนเวียนอากาศ (Return Air) และ จัดเตรียมโครงสร้างที่แข็งแรงเพียงพอ สําหรับวางเครื่อง ลองหันไปดูแบบที่คุณออกแบบไว้ หรือ ระบบปรับอากาศรอบ ๆ ตัวคุณ หากมีข้อหลงลืมเหล่านี้ก็น่าจะจัดการแก้ไขได้แล้ว
4.อย่าลืมเตรียมโครงสร้างพิเศษไว้สําหรับดาดฟ้าและห้องเครื่อง
อาคารหลายแห่งที่ออกแบบและก่อสร้างตามแบบโครงสร้างจนเสร็จเรียบร้อย แล้วปรากฏว่าไม่สามารถนําหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer), เครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จําเป็นสําหรับการใช้อาคารเข้าไปวางได้ แม้จะมีการเตรียมพื้นที่อาคารในแบบทางสถาปัตยกรรมเอาไว้แล้วก็ตาม เพราะลืมเตรียมความแข็งแรงของโครงสร้างเอาไว้ (ซึ่งโดยปกติพื้นที่ห้องเครื่อง สําหรับวางอุปกรณ์ไฟฟ้า-เครื่องกลในห้องเครื่อง และอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศที่วางบนชั้นดาดฟ้า จะต้องเตรียมโครงสร้างการรับน้ำหนัก ให้แข็งแรงกว่าโครงสร้างปกติของอาคารประมาณ 4-5 เท่า
ดังนั้นการออกแบบที่ดีและสมบูรณ์ จะต้องมีการประสานงานของงานสถาปัตยกรรมโครงสร้าง และวิศวกรรมระบบไว้แต่เริ่มแรกเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอาคาร แตกร้าว พังทลาย รั่วซึม ตามมาในภายหลังได้
Source : ร้อยพันปัญหาในงานก่อสร้าง โดย : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์