วันพฤหัสบดี, 28 พฤศจิกายน 2567

ตอบ 19 ข้อสงสัย การขึ้นทะเบียนประกันสังคมของนายจ้าง

03 ส.ค. 2019
9744

 

1.เมื่อนายจ้างขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมแล้ว จะได้รับหนังสือ/เอกสาร อะไรบ้าง

คำตอบ :

เมื่อขึ้นทะเบียนนายจ้างแล้ว จะได้รับหนังสือสำคัญ 2 กองทุน คือ

1. หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนกองทุนประกันสังคม เมื่อนายจ้างได้รับหนังสือแล้ว ให้ติดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานประกอบการที่ลูกจ้างทำงาน หากสถานประกอบการมีสาขาให้ถ่ายสำเนาหนังสือสำคัญติดประกาศ ณ ที่เปิดเผยในสถานประกอบการสาขาด้วย

2. หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทน เมื่อนายจ้างได้รับหนังสือแล้ว ให้ติดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานประกอบการที่ลูกจ้างทำงาน หากสถานประกอบการมีสาขาให้ถ่ายสำเนาหนังสือสำคัญติดประกาศ ณ ที่เปิดเผยในสถานประกอบการสาขาด้วย


2.การขึ้นทะเบียนนายจ้าง สามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนนายจ้างผ่านระบบออนไลน์ ได้หรือไม่

คำตอบ :

ปัจจุบันนายจ้างสามารถขึ้นทะเบียนนายจ้างผ่านระบบออนไลน์ และสามารถยื่นเอกสารประกอบผ่านระบบออนไลน์ (Bizportal) ได้


3.นิติบุคคลที่ได้มีการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไว้นานแล้ว จะขอยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้างผ่านระบบออนไลน์ได้หรือไม่

คำตอบ :

ได้ โดยยื่นขอมี User name สำหรับเข้าใช้งานระบบ Bizportal ได้ที่ DGA Contact Center ที่ : 02-612 – 6060 หรือ E-mail : contact@dga.or.th พร้อมแจ้งข้อมูลดังต่อไปนี้

1.ชื่อนิติบุคคล

2.เลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก

3.ชื่อผู้ประสานงาน

4.หมายเลขโทรศัพท์มือถือและ/หรือ Email address


4.นายจ้างไม่สามารถมายื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้างได้ จะมีวิธีการอย่างไร

คำตอบ :

หากนายจ้างไม่สามารถยื่นเรื่องด้วยตนเองได้ สามารถให้บุคคลอื่นไปยื่นเรื่องแทน หรือส่งไปทางไปรษณีย์ ไปที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยกรอกแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง (สปส.6-15) พร้อมลงลายมือชื่อด้วยตนเอง และเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องในหลักฐานที่แนบทั้งหมดด้วยตนเอง


5.เมื่อยื่นเรื่องเปลี่ยนแปลงชื่อสถานประกอบการเรียบร้อยแล้ว จะได้รับเอกสารอะไรบ้าง

คำตอบ :

กรณียื่นเรื่องเปลี่ยนแปลงชื่อสถานประกอบการเรียบร้อยแล้ว ทางสถานประกอบการ จะได้รับเอกสารหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนกองทุนประกันสังคม และหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนกองทุน เงินทดแทนฉบับใหม่ จากสำนักงานประกันสังคมที่รับผิดชอบ


6.กรณีไม่สามารถติดต่อกรรมการผู้มีอำนาจลงนามคนเดิมได้ และเป็นผู้มีอำนาจลงนามคนเดียวลาออก และ ไม่สามารถติดต่อได้ จะต้องปฏิบัติอย่างไร

คำตอบ :

หากไม่สามารถติดต่อกรรมการผู้มีอำนาจลงนามคนเดิมได้ กรณีกรรมการที่มีอำนาจลงนามคนเดียวลาออก และไม่สามารถติดต่อได้ โดยไม่ได้มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน หากต้องการแต่งตั้งกรรมการคนใหม่เพื่อให้เป็นผู้มีอำนาจลงนาม ให้ยื่นเรื่องเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้างเข้ามาที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ที่รับผิดชอบ


7.เมื่อมีการแจ้งย้ายสถานประกอบการ และแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจลงนามพร้อมกัน จะต้องปฏิบัติอย่างไร

คำตอบ :

การแจ้งย้ายสถานประกอบการและแจ้งเปลี่ยนผู้มีอำนาจลงนามพร้อมกัน สำหรับสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ต้องให้ผู้มีอำนาจลงนาม ณ วันที่แจ้งย้ายสถานประกอบการและแจ้งเปลี่ยนผู้มีอำนาจลงนาม รับรองสำเนาถูกต้อง


8.บทกำหนดโทษนายจ้างที่ไม่แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง มีอะไรบ้าง

คำตอบ :

หากไม่แจ้งขอเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อความบนแบบรายการที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงานประกันสังคม ให้ตรงกับข้อเท็จจริง ภายในวันที่ 15 ของเดือน ถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


9.เจ้าของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ หรือ เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ต้องปฏิบัติอย่างไร

คำตอบ :

ต้องแจ้งให้กับสำนักงานประกันสังคมทราบ โดยเอกสารประกอบการยื่นมีดังนี้

1. กรอกแบบแสดงรายชื่อลูกจ้างที่มีอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ หรือเกิน 60 ปีบริบูรณ์

2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน กรณีผู้ประกันตนเป็นชาวต่างชาติ / ต่างด้าว
2.1. กรอกแบบแสดงรายชื่อลูกจ้างที่มีอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ หรือเกิน 60 ปีบริบูรณ์
2.2. สำเนาหนังสือเดินทาง หรือ สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
2.3. สำเนาใบอนุญาตทำงาน


10.เจ้าของกิจการประเภทนิติบุคคล เช่น กรรมการผู้จัดการบริษัท หรือ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วน สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนได้หรือไม่

คำตอบ :

กรณีบุคคล 2 สถานะ คือ เป็นทั้งกรรมการและลูกจ้างของนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด ,ห้างหุ้นส่วนจำกัด หากต้องการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ต้องกรอกแบบตรวจสอบสถานะที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ที่รับผิดชอบ


11.บิดา มารดา เป็นเจ้าของกิจการ เมื่อมีบุตรหรือเครือญาติ เข้าทำงานในสถานประกอบการ จะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ได้หรือไม่

คำตอบ :

ถ้าบิดามารดาเป็นเจ้าของกิจการหรือนายจ้าง เมื่อบุตรหรือเครือญาติเข้าทำงานในบริษัท จะสามารถขึ้นทะเบียนได้ก็ต่อเมื่อมีการทำงานจริง และได้รับค่าจ้าง ตลอดจนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัทเช่นเดียวกันกับลูกจ้างคนอื่นๆ


12.บุคคลล้มละลาย หากมีการเข้าทำงานกับบริษัท ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือไม่

คำตอบ :

บริษัทมีการรับลูกจ้างที่เป็นบุคคลล้มละลายเข้าทำงาน ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 33 ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด


13.หากปัจจุบันทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ และต่อมาเปิดกิจการในรูปแบบของบริษัท และมีสถานะเป็นกรรมการผู้ถือหุ้น ยังจะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้หรือไม่

คำตอบ :

ปัจจุบันเป็นลูกจ้างอยู่ และต่อมามีการเปิดบริษัทและมีสถานะเป็นกรรมการผู้ถือหุ้น ถ้าเป็นลูกจ้างของบริษัทเดิมอยู่ ก็ยังคงมีสถานะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้


14.ลูกจ้างเข้าทำงานกับนายจ้างตอนอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ได้หรือไม่

คำตอบ :

หากลูกจ้างเข้าทำงานกับนายจ้างตอนอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้ จึงไม่สามารถใช้สิทธิที่ไม่เนื่องจากการทำงานได้ แต่ถ้าเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานสามารถใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทนได้


15.การขึ้นทะเบียนลูกจ้าง นายจ้างสามารถให้บุคคลอื่นยื่นเรื่องแทนได้หรือไม่

คำตอบ :

การขึ้นทะเบียนลูกจ้าง บุคคลอื่นสามารถยื่นเรื่องแทนได้ โดยผู้มีอำนาจลงนามเซ็นรับรองในเอกสารให้ครบถ้วน


16.ลูกจ้างที่ทำงานบ้านส่วนตัวให้กับนายจ้าง ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมหรือไม่

คำตอบ :

ลูกจ้างที่ทำงานบ้านหรือผู้ช่วยแม่บ้าน นายจ้างไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม หากเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์เฉพาะตัวของนายจ้างเท่านั้น โดยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของสถานประกอบการไม่เข้าข่ายเป็นผู้ประกันตน


17.สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคมเมื่อใด

คำตอบ :

สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีหน้าที่ขึ้นทะเบียนกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีลูกจ้างเข้าทำงาน


18.ผู้ประกอบการต้องการชำระเงินให้กับสำนักงานประกันสังคม ผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต ต้องทำอย่างไร

คำตอบ :

ผู้ประกอบการจะต้องสมัครใช้บริการกับสำนักงานประกันสังคม และสมัครใช้บริการกับธนาคาร โดยกรอกใบสมัคร พร้อมแจ้งบัญชีเงินฝากของผู้ประกอบการยินยอมให้กับธนาคารหักบัญชี สำหรับชำระเงินให้กับสำนักงานประกันสังคม


19.ผู้ประกอบการสามารถใช้บัญชีประเภทใดในการชำระเงินได้บ้าง

คำตอบ :

ผู้ประกอบการสามารถใช้ได้ทั้งบัญชีออมทรัพย์และบัญชีกระแสรายวัน


สายด่วนประกันสังคม สายด่วน 1506

Source : sso.go.th