วันพฤหัสบดี, 2 มกราคม 2568

รู้จักโรคอารมณ์แปรปรวน (ไบโพล่า) กับซึมเศร้า Ep.130

โรคอารมณ์แปรปรวน หรือ โรคไบโพล่าร์ (Mood Disorders) เป็นโรคทางจิตเวชกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความผิดปกติของอารมณ์เป็นอาการสำคัญ ซึ่งอารมณ์จะเปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างสองขั้วที่ตรงกันข้าม คือ ซึมเศร้า (Depression) และฟุ้งซ่าน(Mania)

โรคที่มีอาการซึมเศร้าเป็นอาการสำคัญ โดยไม่มีอาการฟุ้งซ่านเลย จัดอยู่ในขั้วโรคซึมเศร้า (Unipolar Depression) และเรียกชื่อโรคว่า “โรคซึมเศร้า Major Depression”

โรคที่มีอาการเปลี่ยนไปมาระหว่างทั้งสองขั้ว ยังไม่มีชื่อในภาษาไทย ซึ่งชื่อเดิมโรคนี้เรียกว่า Manic-depressive phchosis ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “โรคไบโพล่า Bipolar disorder”

ลักษณะที่สำคัญของโรคกลุ่มนี้คือ

มีอาการเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ เป็นเวลา ครั้งละประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือ 2-3 เดือน ช่วงที่หายเป็นปกติ ก็จะไม่มีอาการใด ๆ เลย หรือมีอาการครั้งเดียวแล้วไม่เป็นอีกเลย

บางคนเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นปีละครั้ง ซึ่งอาจเป็นระยะเวลาเดียวกันในแต่ละปี บางคนมีช่วงที่หายสั้น แต่กลับเป็นซ้ำอีกตลอดเวลา มีน้อยรายที่เป็นแบบเรื้อรังไม่หายเลย

โรคไบโพล่าร์ มักเริ่มเป็นตอนวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ส่วนโรคซึมเศร้ามักพบในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มอื่น

สาเหตุของโรคอารมณ์แปรปรวน (โรคไบโพล่าร์)

พบว่ามีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่าง ปัจจัยทางชีวภาพและพันธุกรรม เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ เราจึงมักพบคนที่มีอาการแบบเดียวกัน ในครอบครัวเดียวกันมากกว่าทั่วไป และอาจอธิบายได้ว่า ทำไมประวัติการฆ่าตัวตายของคนในครอบครัว จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของสมาชิกคนอื่นในครอบครัวด้วย

ทางด้านชีวเคมีพบว่า มีความผิดปกติของสารเคมีบางอย่างในสมอง ในโรคซึมเศร้าพบว่า มีการบกพร่องของสารเคมีหลายตัวโดยเฉพาะ เซโรโทนิน (serotoninและ นอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine) ยาแก้ซึมเศร้าส่วนใหญ่ จะออกฤทธิ์โดยการช่วยเพิ่มสารเคมี 2 ตัวนี้ในสมอง

ปัจจัยทางด้านจิตใจและสังคม

ทั้ง 2 อย่างนี้ มีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคอารมณ์แปรปรวน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มักมีประวัติของการสูญเสีย หรือการพลัดพรากเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก หรือเป็นผู้ที่สูญเสียแม่หรือบุคคลอันเป็นที่รักไปตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าสูง

รวมถึงในเรื่องของการการสูญเสียสถานภาพความมั่นคง หรือความสามารถในการพึ่งตนเอง แม้แต่การสูญเสียสิ่งใด ๆ ก็ตามที่มีความหมายและความสำคัญสำหรับตัวบุคคล ก็ล้วนเป็นสาเหตุของการนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้ทั้งสิ้น

บุคลิกภาพเดิมก่อนป่วย ของคนที่เป็นโรคไบโพล่าส่วนใหญ่ จะเป็นประเภทไม่ค่อยเก็บตัว คือมีการสมาคมกับคนอื่นพอสมควร บางคนมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนไปมา ระหว่างอาการซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้ว จึงเรียกว่า โรคไซโคลไทเมีย (cyclothymia, cyclothymic disorder) หรือแปลตรง ๆ ว่า โรคอารมณ์หมุนเวียน บางคนมีบุคลิกภาพแบบซึมเศร้า คือมีลักษณะของคนเจ้าทุกข์อยู่แล้ว ทำให้มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย

อาการของระยะซึมเศร้า (Depression)

ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เปลี่ยนไปแบบซึมเศร้าเหงาหงอย เบื่อหน่ายท้อแท้ ไม่สนุกสนานในสิ่งที่เคยสนุก ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบ มีความรู้สึกอยากร้องไห้ สะเทือนใจง่าย มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกตัวเองไร้ค่า ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง บางคนอาจมีความรู้สึกผิดและโทษตัวเอง

อาการที่พบร่วมกับอาการซึมเศร้าได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องผูก ขาดสมาธิ หลงลืมง่าย ความสนใจทางเพศลดลง นอนไม่หลับ ตื่นเร็วกว่าปกติเช่นตี 1 ตี 2 ก็ตื่นแล้ว โดยอารมณ์จะเป็นผลในระหว่างเช้าถึงค่ำ โดยที่ผู้ป่วยจะรู้สึกว่า อาการซึมเศร้าเป็นมากที่สุดในตอนเช้า และค่อย ๆ ดีขึ้นในตอนบ่ายและเย็น

ผู้ป่วยซึมเศร้าบางราย มีอาการโรคจิตหรือวิกลจริตร่วมด้วย ทำให้มีความคิดและการรับรู้สภาพความเป็นจริงผิดเพี้ยนไป ผู้ป่วยอาจมีการหลงผิด ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการโทษตนเอง เช่น หลงผิดว่าตนทำบาปทำกรรม ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องราวเหตุการณ์บางอย่าง

ผู้ป่วยบางราย ถึงกับขอให้แพทย์ช่วยฉีดยาให้ตาย หรือบางรายหลงผิดว่า ตนกำลังจะถูกประหารชีวิต ผู้ป่วยอาจมีอาการประสาทหลอน เช่น มีหูแว่วได้ยินเสียงคนด่าว่ากล่าว บางรายมีเสียงมาสั่งให้ชดใช้กรรม โดยอาจไปฆ่าตัวตายได้เลยก็มี

ผู้ป่วยบางรายมีอาการเศร้ารุนแรง จนรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่ง เบื่อโลก เบื่อชีวิต คิดอยากตาย คิดวนเวียนเรื่องความตาย คิดฆ่าตัวตาย และอาจฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายสูงสุดในโรคนี้

อาการระยะพลุ่งพล่าน (Mania)

ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ในแบบสนุกสนานครื้นเครงมากขึ้น เห็นอะไรเป็นเรื่องน่าหัวเราะน่าขำไปหมด มีความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกว่าตนสามารถควบคุมอะไรได้ทุกอย่าง มีบางรายที่อาจมีอารมณ์แบบฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด ก้าวร้าว และอาละวาดได้

ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกอยากทำโน่นทำนี่ตลอดเวลา คิดโครงการใหม่ ๆ ขึ้นมาได้เรื่อย ๆ จับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ซื้อของจำนวนมากโดยไม่จำเป็น มีกิจกรรมมาก ความคิดรุนแรง เปลี่ยนเรื่องเร็ว กระโดดจากเรื่องโน่นไปเรื่องนี้

พูดมากพูดเร็ว พูดไม่ยอมหยุด เจ้าบทเจ้ากลอน ต้องการกินและนอนลดลง ไม่ยอมนอน ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น บางรายอาจมีพฤติกรรมสำส่อนโดยที่ไม่เคยมีมาก่อน บางรายใช้สุราและยาเสพติด เพราะความรู้สึกคึกคะนอง

ผู้ป่วยบางรายในระยะนี้ อาจมีอาการวิกลจริต บางรายมีอาการหลงผิด ในลักษณะที่คิดว่าตนเป็นคนใหญ่คนโต เป็นบุคคลสำคัญ เป็นอริยบุคคล มีความสามารถพิเศษหรือร่ำรวยมหาศาล บางรายมีอาการประสาทหลอน เช่น มีหูแว่ว ได้ยินเสียงคนสรรเสริญเยินยอ บางคนเดินผ่านแถวทหารหรือตำรวจ ก็คิดว่าเป็นกองเกียรติยศ

พฤติกรรมของผู้ป่วยในระยะพลุ่งพล่าน

ผู้ป่วยในระยะนี้ อาจสร้างปัญหาให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้มาก บางคนตัดสินใจผิดพลาดจนหมดเงินทองไปมาก บางคนเซ็นเช็คหรือเซ็นสัญญาซึ่งมีภาระผูกพัน เช่น ไปวางเงินมัดจำผ่อนบ้านผ่อนรถ จนไม่สามารถรับภาระไหว ถึงขั้นต้องถูกยึดทรัพย์ เป็นหนี้สินหรือล้มละลาย

ผู้ป่วยบางคน กลายเป็นคนฉุนเฉียวก้าวร้าวเมื่อถูกขัดใจ บางคนขับรถไปเกิดอุบัติเหตุ เพราะอารมณ์ไม่คงที่ การตัดสินใจผิดพลาด บางคนพุ่งหลาวลงมาจากตึกสูง เพราะหลงผิดคิดว่าตนเป็นซุปเปอร์แมนก็มี

การรักษาผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวน (โรคไบโพล่าร์)

ในขั้นต้น ต้องป้องกันอันตรายจากความรุนแรง ถ้าหากมีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือสวัสดิภาพของผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งควรให้ผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งน่าจะเป็นโรงพยาบาลจิตเวช เพราะผู้ป่วยส่วนมาก จะไม่ยอมร่วมมือในการรักษา เนื่องจากคิดว่าตนเองไม่ได้เป็นอะไร

การรักษาด้วยยา สามารถช่วยให้อาการของโรคสงบลงได้ ที่ใช้มีอยู่หลายประเภท ซึ่งต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับอาการ ได้แก่ ยารักษาโรคจิต ยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาอาการพลุ่งพล่าน หรือยาปรับอารมณ์ให้มั่นคง

การใช้ยาต้องให้ระยะเวลานานพอ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นอีก ส่วนใหญ่ต้องให้เป็นเวลาหลายเดือนหรือเป็นปี บางคนอาจต้องกินไปตลอด เพราะหากหยุดยาแล้ว อาจกลับไปเป็นได้อีก

ยาที่จัดว่ามีฤทธิ์เฉพาะเจาะจง สำหรับโรคไบโพล่าร์ ได้แก่ Lithium Carbonate ซึ่งใช้ได้ทั้งรักษา และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก แต่ยาตัวนี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะมีฤทธิ์ข้างเคียงมาก

ในรายที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง เพราะมีอาการโรคซึมเศร้ามาก หรือในรายที่คลุ้มคลั่งอาละวาดมาก หากใช้ยาแล้วยังไม่สงบ ก็ควรใช้การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electro-convulsive therapy) ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลดีและรวดเร็วที่สุด ผู้ป่วยจำนวนมากอาจไม่มีชีวิตรอด หากไม่รักษาด้วยวิธีนี้

การรักษาด้วยจิตบำบัด

วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับปัญหาที่มีอยู่ได้ เพราะผู้ป่วยอาจเกิดอาการซ้ำได้อีก การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น สถานที่อยู่ การมีผู้ดูแลควบคุมการใช้จ่ายเงิน หรือการคอยสังเกตอาการ จะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันปัญหา และไม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซ้ำได้อีก

โรคไบโพล่าร์ เป็นโรคที่ถือว่ามีอันตรายจากการฆ่าตัวตายได้สูงสุดในทางจิตเวช ส่วนใหญ่การรักษาได้ผลดี และเวลาที่หายแล้วจะมีอาการเป็นปกติได้มากที่สุด คนที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาในบ้านเมืองเราหลายคนก็เป็นโรคนี้ และได้รับยากินอยู่โดยที่ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ

ที่มาและการอ้างอิง : อาการและการบำบัด โรคจิต โรคประสาท โดย นพ. เกษม ตันติผลาชีวะ