วันพฤหัสบดี, 9 มกราคม 2568

ลูกคนเดียวเลี้ยงอย่างไรไม่เป็นปัญหา

12 พ.ค. 2017
2594

 

กรณีที่มีลูกคนเดียวแล้วมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้น พ่อแม่ควรแก้ไขโดยการปรับการเลี้ยงดูใหม่ให้เหมาะสม วิธีการปรับขึ้นอยู่กับวัยของเด็ก ถ้าเป็นเด็กวัยเล็ก พ่อแม่ก็เปลี่ยนทัศนคติแล้วดูแลเด็กไปตามสายกลาง เช่น ไม่ต้องช่วยเหลือเขามากเกินไป ถ้าประเมินดูแล้วว่าไม่มีอันตรายมาก ก็ควรปล่อยให้เด็กได้เล่นเพื่อให้เกิดทักษะไม่ต้องคอยจู้จี้จุกจิกเพราะจะทำให้เขาเป็นเด็กที่ไม่มีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเอง ให้ลูกมีโอกาสระบายความรู้สึกในการเล่นกับสิ่งแวดล้อมต่างๆบ้าง

 

ถ้าถึงวัยอนุบาล

ก็ดูแลแบบที่ได้กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตามความรุนแรงของปัญหาอาจมีเพิ่มขึ้นคือ เด็กมีความรุนแรงก้าวร้าวเมื่อพ่อแม่ไม่ตามใจ ข้อแก้ไขคือ ถ้าเด็กชอบสิ่งที่ทำให้เขามีความก้าวร้าวนั้นไม่รุนแรง ก็ไม่ต้องไปใส่ใจต่อความก้าวร้าว เด็กจะเรียนรู้ว่าเมื่อแสดงความก้าวร้าวแล้วไม่ได้ผล คือไม่ได้รับการตอบสนองอะไร แม้ว่าเด็กจะกระทำเป็นสิบ ๆ ครั้งก็ตาม เมื่อเด็กรู้ว่าไม่ได้ผลก็จะเลิกทำไปเองแล้วเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ชอบใจ เช่น เข้ามาเอาใจพ่อแม่ มาช่วยทำโน่นนี่ ตรงนั้นเราก็แสดงให้เด็กเห็นว่าเราพอใจ แต่ก็รู้ว่าทำแบบนี้แล้วพ่อแม่พอใจ ถ้าเด็กก้าวร้าวถึงขั้นทำลายข้าวของตั้งแต่สิ่งของสิ่งที่เราต้องทำคือ บังคับ เช่น จับเด็กไว้นานๆถ้าเขาจะทำอีกก็จะถูกจับอยู่อย่างนั้นนานขึ้นคอนชั่วโมง เด็กจะเรียนรู้ว่าตนเองต้องอยู่ในการควบคุมของพ่อแม่ และเด็กจะควบคุมตัวเองให้อยู่ใด้ก็เพราะแม่ เมื่อเขาต้องช่วยพ่อแม่ 2 ถึง 3 ครั้งเขาก็จะแพ้ทุกที เด็กจะเรียนรู้เอง หลังจากนั้นพ่อแม่ต้องมีท่าทีเหมือนเดิมไม่ต้องไปพูดซ้ำซากหรือแสดงความโกรธหงุดหงิดเวลาที่เขาหยุดก้าวร้าว แล้วเราก็บอกว่าดีมากไปล้างหน้าล้างตาเสีย แล้วชมว่าถ้าไม่ทำของเสียหายอย่างนี้อีก พ่อแม่ก็รัก เดี๋ยวเราไปกินอะไรกัน เบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่นเด็กก็จะเรียนรู้ว่าพ่อแม่ก็รักเขาเหมือนเดิม ทั้งที่เมื่อกี้บังคับจับตัวเขาเอาไว้

 

ชมจนเคย

เด็กที่ทำอะไรนิดหน่อยแล้วพ่อแม่ก็ชมว่าเก่งว่าดีขึ้น เด็กคิดว่าใครๆก็ต้องชมตนเองเหมือนพ่อแม่นั้น ปัญหานี้จะแก้ได้เมื่อตอนเด็กไปโรงเรียนเล็กๆ เด็กจะเรียกร้องให้คนอื่นชม แต่เมื่อครูไม่ชมทุกครั้งเด็กก็จะเรียนรู้ไปเลยว่าครูก็ต้องให้ความสนใจในการชมคนอื่นบ้าง ในตอนแรกเด็กมีอะไรอาจไปฟ้องไปบอกครูได้เรื่อยๆ แต่เมื่อเด็กเรียนรู้โดยสังเกตุว่าครูไม่สนใจที่จะพะเน้าพะนอเขา เด็กก็ต้องปรับพฤติกรรมตัวเอง เพราะฉะนั้นลูกคนเดียวที่พ่อแม่มักบอกว่าอยู่ที่บ้านเอาแต่ใจตัวเองเหลือเกิน แต่อยู่ที่โรงเรียนกลับไม่มีปัญหาเลยนั้น เพราะเด็กเรียนรู้ได้ ฉะนั้น พ่อแม่ควรเอาวิธีที่ครูใช้มาใช้ที่บ้านบ้าง แต่ที่เห็นกันมากพ่อแม่มักจะแพ้ลูกเสมอ เพราะความรู้สึกที่รักลูกมาก ทำให้คอยจะยอมแพ้อย่างสิ้นเชิงเสมอ ฉะนั้น จะดูแลลูกให้ดีก็อย่ารักมากเกินไป

ในกรณีที่เด็กไม่ยอมปรับตัวหรือแก้ไขตนเองยาก เราอาจจะให้รางวัล เช่น ถ้าวันนี้เด็กทำดีเขาก็จะได้ดาว แต่ถ้าเขากวนครูมากโขก็จะหักดาวไป ในขณะเดียวกันก็พยายามให้เด็กเข้าไปร่วมทำกิจกรรมของกลุ่มอยู่เรื่อยๆ และหากเขารู้จักรอคอยเมื่อต้องการจะเอาของอะไร เรื่องนี้ครูจะต้องหักตั้งแต่ชั้นอนุบาล เด็กกลุ่มนี้จะเอาตัวเองเป็นหลัก ครูจะต้องบอกว่าให้ไม่ได้แล้ว หนูได้ของสิ่งนั้นไปแล้ว 2 ครั้งต้องแบ่งให้เพื่อนบ้าง ถ้าเด็กจะแย่งของครูก็จะตัดดาวหรือตัดแต้มในสมุดประจำตัวของเด็ก เด็กส่วนใหญ่จะกลัวครู แต่จะเรียนรู้ว่าถ้าทำดีครูก็จะให้ดาวเพิ่มถ้าทำไม่ดีก็จะถูกตัดดาว

 

หาเพื่อนให้ลูก

สมัยนี้ครอบครัวส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านจัดสรร วันๆไม่ค่อยได้เสวนากับใคร ลูกจึงมักไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้ออกไปเล่นข้างนอก ถ้าเป็นลูกคนเดียวที่ไม่มีพี่น้องเป็นเพื่อนเล่นเด็กอาจจะขาดพัฒนาการทางสังคม เริ่มตั้งแต่เล็กๆก็กลัวคนง่าย เพราะออกไปนอกบ้านก็เล่นกับใครเขาก็ไม่ค่อยเป็น หรือเวลาไปเล่นกับเขาก็ยืนห่างๆ และจะไม่ค่อยกล้าเล่นกับใคร ความจริงสิ่งนี้เราก็ไม่ค่อยอยากให้เกิดขึ้นพ่อแม่ พัฒนาการตามปกติของมนุษย์จะต้องมีการขยายสังคมออกไป ให้ไปร่วมกับคนอื่น ทางแก้ไขก็คือถ้าเป็นตามหมู่บ้านจัดสรรซึ่งมักมีสโมสร พ่อแม่ควรปล่อยให้เด็กเข้าไปร่วมหรือถ้าไม่มีจริงๆต้องอยู่โดดเดี่ยว ทุกเสาร์อาทิตย์พ่อแม่ก็ควรพาลูกๆไปพบปะกับญาติ ๆ บ้าง นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว และการไปร่วมกับญาตินี้จะต้องทำข้อตกลงไว้ว่า บางทีจะต้องทิ้งเด็กให้อยู่กับญาติสักครึ่งวัน เพื่อทำให้เด็กเป็นตัวของตัวเองโดยที่ไม่มีพ่อแม่ ในขณะเดียวกันเราก็รับลูกของญาติมาอยู่กับเราบ้าง น้อยคนที่จะไม่มีญาติเลยเพราะฉะนั้นพ่อแม่ที่หมั่นทำอย่างนี้ลูกจะไม่ค่อยมีปัญหา

การให้ลูกโดยเฉพาะลูกคนเดียวได้ออกนอกบ้าน เช่น ไปปิกนิกกับพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง โดยทำอะไรไปกินได้นิดหน่อยแล้วก็กลับมาบ้าน เด็กจะมีความสุขและสนุกสนานมาก ขณะที่เปิดโอกาสให้ลูกให้กระโดดโลดเต้น พ่อแม่ก็อาจจะนั่งอ่านหนังสือไป ลูกอาจจะไปหกล้มอะไรบ้างก็ปล่อยเขา เพราะสิ่งที่มักจะได้พบคือเด็กมักจะไปมีเพื่อนใหม่นอกเหนือจากญาติที่ไปด้วยกัน เป็นสิ่งที่แปลกมากคือ เด็กจะมีเพื่อนใหม่ได้ภายใน 5 นาทีเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถึงแม้จะไม่มีญาติก็ตาม ถ้าเราเห็นที่ตรงไหนมีเด็กแล้วก็พาลูกไปเล่นแล้วเราก็ปล่อยเขา อย่าไปยุ่งหรือพะเน้าพะนอเขามาก สักครู่เดียวเด็กก็เล่นกันเองได้คนที่เป็นพ่อแม่ได้กำไรมากคือ จะได้พักผ่อน ได้เปลี่ยนสถานที่ต่างๆ แล้วลูกก็ยังเกิดพัฒนาการทางสังคมด้วย

การให้ลูกมีเพื่อนเข้ากลุ่มเพื่อนได้นี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องตระหนักให้มาก เนื่องจากชีวิตมนุษย์นี้เราไม่ได้อยู่ตามลำพังของเราคนเดียวหรือครอบครัวเดียว เราต้องอยู่ในสังคมไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องมีการเชื่อมโยงกับนอกบ้าน เด็กต้องการการเรียนรู้การเข้าสังคม ถ้าสมมุติเด็กคนไหนไม่ค่อยกล้าเข้าสังคม พ่อแม่ก็จะต้องมีการกระตุ้นให้ออกไป เช่น มีเด็กคนนึงไม่ค่อยกล้าเลยเพราะว่าบ้านอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรตั้งแต่เล็กๆ เวลาเดินไปไหนต้องเดินตามหลังคอยเกาะติดชายกระโปรงแม่ หรือเกาะคอพ่อ ยิ่งมีใครมาทักทายก็ยิ่งไปกันใหญ่ ที่นี้พอเข้าอนุบาลเด็กก็ไม่ค่อยกล้าแสดงออก เด็กไปติดครูเพราะหวังว่าครูจะช่วยปกป้องเหมือนกับที่แม่เคยปกป้อง สุดท้ายครูพยายามที่จะให้เด็กออกไปเล่นไปแสดงเป็นกลุ่มกับเพื่อนๆ ซึ่งเด็กก็ทำได้ นี่แสดงว่าเด็กนั้นเราฝึกได้เรื่อยๆในสังคม ไม่ว่าเขาจะไม่ค่อยได้ออกสังคมก็ตาม เพียงแต่ฝึกสักพักเขาก็จะชิน ในกรณีที่พ่อแม่เลี้ยงดูมาไม่ถูกต้อง ถ้าให้เด็กได้เข้าสังคมไปโรงเรียนและเข้ากลุ่ม วิธีนี้จะช่วยขัดเกลานิสัยเด็กได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กวัยเล็กหรือเด็กวัยเรียนตอนต้น

 

 

เด็กขี้กังวล

สำหรับลูกคนเดียวที่ถูกทำให้เป็นคนขี้กังวลตามพ่อแม่นั้น การแก้ปัญหาลูกไม่ต้องแก้อะไร พ่อแม่มีปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยรดทัศนคติที่ห่วงใยและขี้กังวลลง การลดความกังวลลงขึ้นอยู่กับสุขภาพจิตของแม่หรือพ่อ ที่มีสุขภาพจิตดี เพียงแต่ให้คําแนะนําพ่อแม่ไปว่าไม่ต้องวิตกกังวลกับลูกมาก เด็กก็จะหายจากความคิดกังวลไปด้วย แต่ถ้าพ่อแม่มีพื้นฐานของสุขภาพจิตเป็นโรคประสาทขี้กังวลก็แก้ไขลูกให้หายวิตกกังวลได้ยาก ต้องให้พ่อแม่คุยกับจิตแพทย์เพื่อทำจิตบำบัดก่อน ถ้าพ่อแม่ยังไม่หายลูกก็จะวิตกกังวลอยู่เรื่อยไป

เราสังเกตได้ว่าถ้าเด็กนั้นกังวลในระดับเหมือนเด็กทั่วไป ก็ถือว่ายังเป็นปกติธรรมดา แต่ถ้ามีความกังวลมากจนกระทั่งรบกวนพัฒนาการของตนเอง หรือรบกวนกิจวัตรของตนเอง เช่น กังวลจนไม่สามารถออกไปเล่นกับเพื่อนฝูงได้ ก็เป็นการรบกวนพัฒนาการทางด้านสังคม กังวลจนกระทั่งไม่เป็นอันเรียน อันนี้รบกวนพัฒนาการทางสติปัญญาหรือกังวลจนกระทั่งจะกินอะไรยากกลัวสกปรกไปหมด อันนี้ก็รบกวนพัฒนาการทางด้านกาย เพราะอาจได้รับอาหารไม่เพียงพอ เมื่อใดก็ตามที่เด็กเกิดกังวลจนเสียกิจวัตรประจำวันหรือรบกวนต่อพัฒนาการต่างๆของเด็กแบบนี้ เมื่อนั้นก็ถึงเวลาที่จะต้องพามาพบแพทย์เพื่อรักษา แต่เด็กบางคนที่หายได้อย่างรวดเร็วอย่างนี้ พ่อแม่ไม่ต้องสนใจมาก ทำเฉยๆเสีย เดี๋ยวก็จะรู้ว่าความกังวลหรืองอแงไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนอื่นได้ เด็กก็เลิกไปเอง

 

ลูกเข้าสู่วัยรุ่น

ถ้าลูกคนเดียวโตเป็นวัยรุ่นโดยถูกพ่อแม่เลี้ยงมาแบบพ่อแม่ตามใจจนเคยตัว วิธีการแก้ไขแตกต่างจากเด็กเล็ก แต่ไม่แตกต่างไปจากหลักแก้ไขสำหรับวัยรุ่นทั่วไป คือเราจะแก้ลำพังเฉพาะครูพ่อแม่หรือจิตแพทย์เท่านั้นไม่ได้ วิธีแก้มันต้องมีการร่วมมือกันคือ แก้ที่ตัวเด็กด้วย วัยรุ่นนั้นได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มเพื่อน เพราะฉะนั้นเราจึงควรแก้ด้วย

1.แก้ที่ตัววัยรุ่นเอง

2.แก้ที่กลุ่มเพื่อน

3.แก้ที่พ่อแม่ และ

4 แก้ที่ครู

ฉะนั้นถ้าวัยรุ่นมีลักษณะหงุดหงิดไม่ตั้งใจเรียน วิธีแก้คือต้องมีใครสักคนที่คุยกับเขา ซึ่งบุคคลที่เหมาะสมที่สุดคืออาจารย์แนะแนวที่โรงเรียน ซึ่งมีบทบาทสูงมาก ไม่ใช่จิตแพทย์ แต่เด็กคุ้นเคยเห็นกันในโรงเรียน ส่งเหล่านี้เป็นข้อบ่งชี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องเพิ่มครูแนะแนวในโรงเรียนที่มีวัยรุ่นโดยครูแนะแนว นอกจากจะคุยกับเขาหรือชี้แนะให้แก่เขาว่าควรทำอย่างไรแล้ว กลุ่มเพื่อนก็ต้องมีการนำเข้ามา เป็นกลุ่มพูดคุยเพื่อคุยกันถึงปัญหาต่างๆ ว่าจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไรด้วย

พ่อแม่เองก็ต้องเข้าใจจิตวิทยาของวัยรุ่นว่าเราจะไปคุมเขาเหมือนอย่างตอนที่เขายังเล็กไม่ได้ แล้ววิธีที่วัยรุ่นชอบคือพูดจากันด้วยความเข้าใจด้วยเหตุผล แต่ในขณะที่พูดด้วยความเข้าใจนั้นพ่อแม่ต้องหนักแน่นด้วยคำสั่งบางอย่าง ถ้าบอกว่า “ไม่” ก็ต้อง “ไม่” วัยรุ่นถึงเขาจะงอแงแต่ก็ยังอยู่ในวัยเด็กยังไม่ถึงกับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อพ่อแม่เอาจริงโดยที่ยังรักเขาแล้วไม่ได้แสดงความโกรธอะไรเขา เด็กก็มักจะยอม เช่น เขาจะขอไปทัศนาจร ถ้าพ่อพูดคำเดียวว่า “ไปไม่ได้” ก็คือ “ไปไม่ได้” โดยไม่ได้แสดงความโกรธอะไร จนกระทั่งถึงวันที่พัฒนาการนั้นผ่านไปแล้วเด็กก็จะเลิกงอแงเอง เพราะเขารู้ว่ายังไงเขาก็ไม่ได้ไปแล้ว

แต่ถ้าเด็กถูกเลี้ยงมาแบบเอาใจตัวเองและยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางทุกอย่างตลอดเวลา ปัญหาก็แก้ยากแต่การแก้ปัญหาเด็กไม่มีอะไรที่เรียกว่าสายเกินไป เพียงแต่ว่าบางอย่างอาจแก้ยาก เราต้องเข้าใจจิตวิทยาวัยรุ่นก่อนว่า เขาต้องการเป็นตัวของตัวเอง การเข้าค่ายจะช่วยแก้ปัญหาเด็กได้มาก เช่น เด็กที่มีปัญหาซึ่งพ่อแม่แก้ไม่ได้ แต่สังคมอาจช่วยแก้ไขได้ เช่น เด็กเข้าค่ายเยาวชนแล้วมันจะดีขึ้น เพราะเด็กได้เรียนรู้เมื่ออยู่ในค่ายว่า เขาจะต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะเข้ากับคนอื่นได้

สิ่งสำคัญในการปรับตัวของพ่อแม่เพื่อแก้ไขการเลี้ยงดูที่ผิดคือ จะต้องแสดงให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยังรักลูกอยู่ แม้จะจับปรับพฤติกรรมจากที่เคยเป็น เช่น เมื่อเราห้ามหรือไม่ตามใจเขาแล้ว เหตุการณ์นั้นผ่านไป พ่อแม่ต้องมีพฤติกรรมที่เหมือนเดิม เช่น ห้ามไม่ให้ซื้อของเล่นแล้วเด็กงอแง และสุดท้ายเด็กแพ้เรา แต่เราก็ยังแสดงความรักเหมือนเดิม เด็กที่หยุดร้องไห้แล้วเราก็อาจจะชมว่าดีมากพูดกันเข้าใจพ่อแม่ก็รักแล้ว เราก็เอามือขยี้หัวเขาหน่อยเพื่อให้เด็กได้รู้ว่าพ่อแม่ยังเหมือนเดิม เวลาจะไปโรงเรียนพ่อแม่ก็ไปส่งยังคงรักเขาเหมือนเดิมทุกอย่าง เด็กเล็กๆนั้นไม่ต้องอธิบายมากแต่ถ้าเป็นเด็กประถมไปหรือวัยรุ่นต้องเข้าใจและอธิบายให้เขาฟัง แต่ไม่ต้องไปสาธยายหรือบ่นให้เขาฟัง

 

ที่มาและการอ้างอิง :
รศ.นพ.อัมพล สูอำพัน. ลูกคนเดียว เลี้ยงอย่างไรไม่เป็นปัญหา (หน้า 35-41) .กรุงเทพฯ.บริษัท พับลิชชิ่ง จำกัด.2533