วันพฤหัสบดี, 28 พฤศจิกายน 2567

17 สรรพคุณของกุยช่าย ช่วยขับประจำเดือนที่ตกค้าง ขับพยาธิได้ดี Ep.67

 

กุยช่าย อยู่ในวงศ์ Amaryllidaceae วงศ์ย่อย Allioideae เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าเล็กและแตกกอ ใบแบน เรียงสลับ รูปขอบขนาน โคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน ช่อดอกแบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกกลม โดยปรกติจะยาวกว่าใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ออกในระดับเดียวกันที่ปลายก้านช่อดอก ก้านดอกยาวเท่ากัน มีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกเจริญขึ้นจะแตกออกเป็นริ้วสีขาว กลีบดอก 6 กลีบ สีขาว โคนติดกัน ปลายแยก กลางกลีบดอกด้านนอกมีสันหรือเส้นสีเขียวอ่อนจากโคนกลีบไปหาปลาย เกสรเพศผู้ 6 อัน อยู่ตรงข้ามกับกลีบดอก เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลกลม ภายในมี 3 ช่อง มีผนังกั้นตื้นๆ เมื่อแก่แตกตามตะเข็บ มีเมล็ดช่องละ 1-2 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลแบน ขรุขระ

 

กระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกแถบภูเขาหิมาลัย อินเดีย จีน และญี่ปุ่น ในไต้หวันมีปลูก 2 พันธุ์ คือ พันธุ์สีเขียวที่ปลูกทั่วไป และพันธุ์ใบใหญ่สีขาวซึ่งเกิดจากการบังร่ม กุยช่ายสีขาวเป็นพันธุ์เดียวกันกับกุยช่ายสีเขียว แต่มีวิธีปลูกต่างกัน โดยหลังปลูกนาน 6 เดือนจะได้ต้นกุยช่ายสีเขียว ผู้ปลูกจะตัดกอกุยช่ายให้สั้นลง และใช้กระถางหรือภาชนะทึบแสงครอบกอไว้ หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ เมื่อไม่ได้รับแสงแดด ต้นกุยช่ายที่งอกขึ้นใหม่จะไม่มีการสังเคราะห์แสง จึงไม่เกิดการสร้างสารสีเขียวที่เรียกว่าคลอโรฟิลล์ ลำต้นและใบจึงกลายเป็นสีขาว มีกลิ่นฉุนและสารอาหารน้อยกว่า

 

กุยช่ายผักสีเขียวกลิ่นหอมฉุน รสอร่อยที่เรารู้จักกันดี โดยเฉพาะการนำมาประกอบในไส้ขนมที่เรียกว่า “ขนมกุยช่าย” ให้รสอร่อยน่ารับประทานยิ่งขึ้น กุยช่าย จะมีอยู่ด้วยกัน 3 สายพันธุ์ คือ กุยช่ายเขียว กุยช่ายขาว และดอกกุยช่าย แต่ละชนิดจะต่างกันบ้างก็ตรงกระบวนการปลูก และการตัดส่วนต่างๆของลำต้นมาขายหรือรับประทาน ต้นกุยช่ายนอกจากจะเป็นส่วนผสมสอดไส้อยู่ในขนมกุยช่ายแสนอร่อยแล้ว กุยช่ายเป็นผักที่มีคุณค่าทางด้านสมุนไพรสูง กุยช่ายเป็นสมุนไพรที่กินแล้วเป็นผักได้โดยตรง โดยกุยช่ายเขียวใช้รับประทานเป็นอาหารได้ ดอก ผักกับตับหมู ใบรับประทานสดกับลาบหรือผัดไทยก็ได้ และนอกจากนั้นยังใช้ใบทำเป็นไส้ของขนมกุยช่ายอีกด้วย

 

กุยช่ายเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการและคุณค่าทางด้านสมุนไพรไม่แพ้กับผักชนิดอื่น ๆ เรียกว่ากินเป็นผักก็ได้ในเรื่องสมุนไพร กินเป็นสมุนไพรก็ได้ในเรื่องโภชนาการ กุยช่ายจึงเป็นผักที่ควรมีไว้ติดบ้านเรือน ไม่ใช่เพื่อไว้เป็นสมุนไพรรักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่กินเพื่อเป็นผักบำรุงร่างกาย ด้วยสรรพคุณที่เพียบพร้อมขนาดนี้ ในตู้เย็นจึงควรมีกุยช่ายติดเอาไว้เสมอ

 

สรรพคุณของกุยช่าย

1.ผักกุยช่ายจะอุดมไปด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินซี และเบต้าแคโรทีน ในปริมาณที่สูง จึงช่วยบำรุงให้กระดูกและฟันให้แข็งแรง

2.มีธาตุเหล็กที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง

3.ในกุยช่ายมีกากใยอาหารสูง จึงช่วยในการระบายท้องทำให้ถ่ายคล่อง ท้องไม่ผูกลดโอกาสการเป็นโรคริดสีดวงทวารและมะเร็งลำไส้ใหญ่

4.รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนเบื่ออาหาร โดยการนำไปปั่นให้ละเอียดกรองเอาแต่น้ำนำมาดื่ม

5.ช่วยขับประจำเดือนที่ตกค้าง และขับเลือดเสียได้ โดยเฉพาะดอกกุยช่ายที่ออกเป็นช่อกระจุกสีขาว

6.ช่วยกระจายเลือดลมได้ดี จากรสชาติเผ็ดร้อนนิดๆ กลิ่นฉุนอ่อนๆ

7.ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ โดยใช้ต้นกุยช่ายส่วนที่เป็นสีขาวประมาณ 1 หยิบมือ คั้นเอาแต่น้ำทาบริเวณท้อง จะช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้

8.เป็นสมุนไพรที่ยาขับพยาธิได้ดีมาก

9.เป็นยาแก้หวัด กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้เป็นหวัดได้ยากขึ้น คั้นน้ำสดจากใบกุยช่ายผสมน้ำอุ่นดื่มเช้า-เย็นก็ช่วยไล่พิษไข้ได้

10.บำรุงกระดูก แก้ลมพิษ บำรุงไต บำรุงกำหนัด จะกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ

11.นำกุยช่ายตำผสมเหล้าเล็กน้อยรับประทานจะช่วยกระจายเลือดไม่ให้คั่ง แก้ช้ำในได้

12.กุยช่ายช่วยในเรื่องระบบหมุนเวียนเลือด ช่วยลดการจับตัวเป็นลิ่มเลือด ช่วยลดการเกิดเส้นอุดตัน

13.ช่วยบำรุงไต ลดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เพราะมีสารที่ออกฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้ออ่อนๆ

14.เหง้า มีสรรพคุณทำให้ร่างกายอบอุ่น ขับสิ่งคั่งค้าง ลดอาการท้องอืด ตกขาว แก้ฟกช้ำ ลดอาการบวม

15.ต้น มีสรรพคุณแก้โรคนิ่ว หนองใน

16.ใบ ลดไขมันในเลือด ขับปัสสาวะ แก้ช้ำใน

17.ส่วนเมล็ด ขับพยาธิเส้นด้าย ขับโลหิตประจำเดือน

 

โดยปกติแล้วกุยช่าย เป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ในอาหารประจำชาติเกาหลีหลายชนิด เช่น กิมจิ ซุปต่างๆ นักวิทยาศาสตร์เกาหลี จึงสนใจศึกษาประโยชน์ของกุยช่าย โดยหนึ่งในนั้นคือคุณสมบัติเกี่ยวกับการลดไขมันในเลือดงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Korean Nutrition Society ให้ข้อมูลการทดลองว่า หลังจากทีมนักวิจัยเลี้ยงอาหารหนูทดลองจนอ้วน จากนั้นจึงป้อนสารสกัดจากใบกุยช่ายต่อเนื่องนาน 4 สัปดาห์ หลังสิ้นสุดการทดลอง ผลปรากฏว่า หนูทดลองมีระดับไขมันในเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 

วิธีการเข้าตัวยา

1. นำมาใช้เป็นยาขับประจำเดือน ขับเลือดเสีย ใช้ใบกุยช่ายสดประมาณ 1 กำมือ คั้นเอาแต่น้ำ ผสมน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มอุ่นๆ เช้า-เย็น ช่วยกระจายเลือด กระจายลม รักษาอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ

2. นำมาใช้เป็นยาทาแก้ลมพิษ แก้ผื่นคัน ใบกุยช่ายประมาณ 5-10 ใบ โขลกพอแหลก นำมายีบริเวณที่เกิดลมพิษหรือบริเวณที่เกิดผื่นคัน สูตรนี้ใช้รักษาโรคกลากเกลื้อนได้ผลมากเช่นกัน

3. นำมาใช้เป็นยาขับนิ่ว แก้หนองใน ใช้ใบกุยช่ายประมาณ 10-15 ใบ โขลกจนละเอียด คั้นเอาแต่น้ำผสมน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มเพื่อขับนิ่ว แก้ปัสสาวะขัด แก้หนองใน

4. นำมาใช้เป็นยาขับประจำเดือน สูตรก่อนหน้านี้ใช้ใบ แต่มาสูตรนี้จะใช้ส่วนที่เป็นเมล็ดแก่และเมล็ดอ่อน โดยการบดเมล็ดกุยช่ายให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนแกง กินเป็นยาละลายลิ่มเลือด ช่วยขับเลือดเสีย ขับประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ

ที่มาและการอ้างอิง

นิตยสารชีวจิต

รู้ทันโรคบริโภคสมุนไพร ผู้แต่ง อารีรัตน์

https://th.wikipedia.org/wiki/กุยช่าย

108 สมุนไพรไทย ใช้เป็น หายป่วย โดย พิมลพรรณ อนันต์กิจไพศาล