ข่าเป็นพืชที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน เหง้าจะมีข้อและปล้องอย่างชัดเจนมีอยู่ด้วยกันหลายพันธุ์ “ข่าตาแดง” ที่มีโคนต้นสีแดงตามชื่อ ออกดอกเป็นช่อสีน้ำตาลแดง “ข่าลิง” จะมีดอกสีเหลืองออกเป็นช่อเช่นกัน เหง้าของข่าลิงจะมีกลิ่นฉุน ไม่นิยมใช้ปรุงแต่งรสอาหาร เพราะจะเผ็ดร้อนมาก แต่จะเด่นในเรื่องของสมุนไพร ใช้ขับเลือดลมได้เป็นอย่างดี แต่ที่เราพบเห็นทั่วๆ ไป ที่มีดอกเป็นสีขาวซึ่งเป็นข่าที่เรานิยมนำมาใช้เป็นเครื่องต้มยำ ซึ่งอันที่จริงข่าตาแดงก็ใช้ได้แต่จะเผ็ดร้อนมากกว่า และโดยมากตามท้องตลาดก็มักจะขายข่าและข่าตาแดงปะปนกัน แต่ข่าจะมีรสชาติและกลิ่นที่กำลังดีไม่เผ็ดและไม่ฉุนมากจนเกินไป นอกจากจะเป็นเครื่องเทศที่ช่วยดับกลิ่นคาว เพิ่มกลิ่นหอม และรสชาติอันชวนให้อยากอาหารแล้ว ข่าก็ยังเป็นสมุนไพรกลิ่นหอมเย็นที่เรามักคุ้นเคยกันในอาหาร ก็จะมีอาหารประเภทต้มยำ ต้มข่าไก่ หรือแม้แต่แกงเผ็ดรสร้อนหลายชนิดก็มักนำข่ามาเป็นส่วนผสมในการทำเครื่องแกงด้วย
ข่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบเครื่องทำต้มยำ อาหารอันเลื่องชื่อเอกลักษณ์ของบ้านเรา ที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักและประทับใจประเทศไทย เวลาที่กินต้มยำจะรู้สึกว่าร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น จากที่เคยแน่นท้องหรือมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อก็จะหายไปได้ นั่นก็เป็นเพราะสรรพคุณของข่าที่จัดเป็นยาขับเลือดลมขนานเอกขนานหนึ่ง ยังมีอีกหลายชนิดด้วยกัน อาทิ กระวาน สะระแหน่ กุ่มน้ำ ผักชีก ระเทียม ยี่หร่า กระเทียม พริกหวาน เป็นต้น ซึ่งสารเคมีที่พบในพืชสมุนไพรเหล่านี้ นอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารสูง แล้วยังอุดมไปด้วยสรรพคุณทางยาที่ช่วยดูแลร่างกายของเราให้เป็นปกติอีกด้วย ดังนั้น จึงควรเลือกพิจารณานำมาใช้ในการรับประทาน ให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายแต่ละคน เพราะจะช่วยทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง และมีภูมิต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บได้ดี
สรรพคุณของข่า
1.ข่ามีสาร “ยูจีนอล” เป็นส่วนประกอบอยู่มาก มีสรรพคุณในเรื่องขับน้ำดี จึงช่วยในการย่อยอาหาร
2.การดื่มน้ำต้มข่า หรือนำข่ามาประกอบอาหารเป็นประจำ จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
3.สารยูจีนอล ยังออกฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้ออ่อนๆ ช่วยลดการอักเสบและต้านการอักเสบ
4.ช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยให้แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้สมานตัวได้ดีมากขึ้น
5.น้ำมันหอมระเหยที่มีมาก ช่วยให้ข่ากลายเป็นสมุนไพรขับลม ลดกรดในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องอืดเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง
6.ช่วยดูแลระบบทางเดินอาหาร และระบบย่อยอาหารให้กลับมามีภาวะปกติ หากรับประทานอาหารจนเกิดอาการแน่นท้อง
7.บรรเทาอาการปวด ภายในเหง้าข่าอาจมีสารบางชนิดที่ช่วยลดการอักเสบ
8.ใช้ข่าบรรเทาปวด โดยไม่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะเกี่ยวกับโรคไต
9.งานวิจัยบางงานพบว่า สารสกัดจากเหง้าข่า มีสารบางชนิดที่เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง
10.สารสกัดเหง้าข่าด้วยเมทานอล มีคุณสมบัติต้านเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้
11.มีประสิทธิภาพในการต่อต้านแบคทีเรีย Bacillus Cereus และแบคทีเรีย Staphylococcus Aureas ต้นเหตุของอาการอาหารเป็นพิษ แบคทีเรีย Escherichia Coli ที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วง และแบคทีเรีย Pseudomonas Auroginosa ซึ่งเป็นเชื้อโรคฉวยโอกาสที่จะทำให้ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเกิดการติดเชื้อ
วิธีเข้าตัวยา
1. ยารักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ใช้เหง้าสดขนาดเท่านิ้วก้อยฝนกับเหล้าขาว 1 ช้อนแกง ทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า
2. แก้ท้องเดินที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ ใช้เหง้าสดขนาดเท่านิ้วก้อยฝนกับน้ำปูนใสครึ่งถ้วยกาแฟดื่ม 3 เวลาหลังอาหาร ช่วยขับลมในกระเพาะและลำไส้ แก้คลื่นไส้ แก้อาเจียน ช่วยให้หยุดถ่าย แก้โรคบิด แก้ท้องเดินที่เกิดจากกินอาหารผิดสําแดง หรือที่เรียกว่าโรคป่วง
3. แก้ท้องอืด แน่นท้อง แก้หนาว ใช้เหง้าสดขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ 2 – 3 ท่อน หั่นเป็นแว่นบางๆ บุบพอแตกต้มกับน้ำครึ่งลิตร เคี่ยวจนเหลือ 300 ซีซี ครองเอาแต่น้ำ ดื่มเป็นยาขับลม ช่วยบรรเทาอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยเพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกาย
4.ใช้เป็นยาเรียกกำลัง นำข่าสดขนาดเท่านิ้วก้อย ฝนให้ละเอียดผสมน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ เพิ่มรสชาติด้วยน้ำผึ้ง 1 ช้อนแกง ดื่มอุ่นๆ เป็นประจำ ช่วยบำรุงร่างกาย ยิ่งช่วงหน้าหนาวใช้ดื่มแก้หนาวได้ดี
5.รับประทานข่าในรูปของชาสมุนไพร วิธีการคือนำเหง้าข่าสด (หรือแห้งก็ได้) ขนาดเท่าหัวแม่มือมาล้างน้ำให้สะอาด นำไปต้มกับน้ำ 3 ถ้วยพอเดือดยกลงจากเตา รอจนอุ่น จากนั้นรินใส่ถ้วยดื่มครั้งละ 1/2 ถ้วย อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง จุกเสียด จากการรับประทานอาหารที่มากเกินไป และเคี้ยวไม่ละเอียดจะค่อยๆ หายไปไหนที่สุด
ที่มาและการอ้างอิง
รู้ทันโรคบริโภคสมุนไพร ผู้แต่ง อารีรัตน์
108 สมุนไพรไทย ใช้เป็น หายป่วย โดย พิมลพรรณ อนันต์กิจไพศาล
https://www.pobpad.com/