1.ว่านกระแจะจันทน์
“ว่านกระแจะจันทน์” อยู่ในสกุลเปราะ หัวเหมือนเปราะแต่กลมโตกว่า สีของผิวหัว มีเขียวปนน้ำตาล ใบดังเปราะที่ใช้กินกับปลาร้า แต่สีของหน้าใบเขียวจัดเป็นมัน ใบกลมและโตกว่าเปราะ สีของหลังใบขาว มีสีแดงปนม่วงตามขอบใบและปลายใบ หยิก ดมมีกลิ่นหอมเย็นทั้งใบทั้งหัว ดอกสีขาวตรงกลางปะแต้มสีแดงปนม่วง ลักษณะเดียวกับ “ว่านเสน่ห์จันทน์หอม” จะผิดกันตรงหน้าใบเขียวอ่อน “ว่านกระแจะจันทน์” จะเขียวจัดและมัน
“ว่านกระแจะจันทน์” เป็นที่นิยมกระบวนการหุงน้ำมันว่านหอม ใช้เป็นเสน่ห์มหานิยมดีนัก ถ้าปลูกไว้ในบ้านหรือร้านค้าทําให้มหานิยม ผู้คนเข้าร้านมิได้ขาด ช่วยให้เกิดลาภเนืองๆ หัวของ “ว่านกระแจะจันทน์” เดิมทีมาจากหงสาวดี จึงมีชื่ออีกว่า “ว่านกระแจะจันทน์หงสา”
ก่อนจะใช้หัวแช่น้ำมันจันทน์ หรือหุงน้ำมัน ให้เสกด้วยคาถา “มะอะอุ พุทธสังมิ จิเจรุนิ นะชาลีติ ปิยังมะมะ มหาลาโภ โหตุ ภะวันตุเม” 3 จบเสมอ แม้แต่ใช้หัวพกพาติดตัวก็ได้ วิเศษยิ่งนักได้ผลมามากแล้ว
การปลูก “ว่านกระแจะจันทน์” ใช้ดินสะอาดปนทรายหยาบที่สะอาด กระถางปลูกควรเป็นปากบาน ใส่ดินที่เตรียมไว้ให้เต็ม เอาหัวว่านวางตรงกลาง กลบดินพอให้หัวโผล่นิดหน่อย ก่อนรดน้ำเสก ด้วยคาถา “นะชาลีติ” 3 จบ เสมอ รดแต่พอเปียกทั่วตอนแรก เมื่อใบโตคลุมกระถาง ต้องใช้ขันรดตรงกลาง น้ำที่รดจะได้ถึงดินได้ ควรปลูกในวันจันทร์หรือวันศุกร์ ข้างขึ้นดี
2.ว่านกล่อมนางนอน
“ว่านกล่อมนางนอน” เป็นว่านที่มากด้วยเมตตามหานิยม ซึ่งยังไม่แพร่หลายในวงการว่านเท่าใดนัก มีอานุภาพสามารถทําให้ผู้คนเคลิบเคลิ้มหลับสนิทได้
“ว่านกล่อมนางนอน” หัวคล้ายว่านเพชรกลับ ลําต้นสีเขียว ก้านใบเขียว ใบใหม่เหมือนว่าน “ไก่ขัน” ดอกแทงก้านขึ้นมาตรงยอด มีดอกสีเขียวเป็นฉัตรและมีสีขาวแซมตรงกลีบทุกกลีบ ข้างในดอกสีขาว เกษรสีม่วงอ่อน ๆ “ว่านกล่อมนางนอน” เป็นว่านเมตตามหานิยมชั้นยอดชนิดหนึ่ง ซึ่งหายากมาก จะได้พบหรือเจอะเจอในฤดูฝนเท่านั้นทางภาคอีสาน
“ว่านกล่อมนางนอน” ถ้าจะทําให้หลับเคลิบเคลิ้ม ให้เสกดอกว่านนี้ ฝั่งแดดตากให้แห้งในคืนเดือนดับ คือแรม 15 ค่ำ แล้วเอามาแช่น้ำมันจันทน์อย่างดี ขณะใส่น้ำมันให้ว่าถาคาดังนี้ “ภควา สุคโต อรหัง” 7 ครั้ง ตอนที่จะใช้ ก็ให้ภาวนาเช่นกัน ถ้าจะนํามาปลูกเป็นไม้ประดับหน้าบ้าน หรือร้านค้าขายก็จะเป็นเมตตามหานิยมอีกด้วย
การปลูก “ว่านกล่อมนางนอน“ ใช้หัวเพาะชําในทรายก่อน เมื่องอกงามดีแล้ว จึงนําไปลงกระถางที่มีดินปนทราย หรือใบไม้ผผสมถ่าน ก่อนจะรดน้ำให้เสกด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ มหาลาโภ โหตุ ภะวันตุเม” 3 จบ และการรดน้ำทุกครั้ง ก็ให้ทําเช่นเดียวกัน และรดแต่พอเปียกเท่านั้น อย่าให้น้ำขังในกระถางจะทําให้หัวว่านเน่าได้
3.ว่านไก่ขันหรือไก่ให้
“ว่านไก่ขันหรือไก่ให้” ต้นคล้ายขมิ้นแต่เล็กกว่า หัวมีลักษณะเหมือนหัวไก่สีเหลืองอ่อน ใบอ่อนม้วนขึ้นมา แล้วค่อยคลี่ออกกลมรี ๆ สีเขียวทั้งก้านและต้น หลังใบเป็นขนสีนวล ดอกออกงอกจากโคนต้น เป็นรูปประทัดโค้งนิดหน่อยสีแดงสีดอกเหลือง ในดอกมีสีแดงเป็นรูปปาก กลีบนอกสีเหลืองจัด ก้านดอกสีขาว ว่านนี้เมื่อแก่จัดมาก ๆ ประหลาดเมื่อเวลากลางคืน จะขันเหมือนไก่
“ว่านไก่ขันหรือไก่ให้” ใช้ในทางเสน่ห์เจ้าชู้ดีนัก โดยเอาหัวว่านมากิน ก่อนจะกินต้องเสกด้วยคาถานี้ “คิวะหายัง มะธุรังวาจา คิวะหาวาจันติ พุทธะ สิทตะวา จะสุพะธรัง ปิยะเยวะ ปิยันตถา” 3 จบ ใช้เป็นเสน่ห์เจ้าชู้ชั้นยอด
การปลูก “ว่านไก่ขันหรือไก่ให้” ใช้หัวเพาะชําไว้ก่อนในทราย เมืองอกงามดีแล้ว เอาดินเผาไฟทุบให้ละเอียด แล้วเอาตากน้ำค้างไว้คืนหนึ่ง จึงเอามาปลูก ว่านนี้ก่อนรดน้ำให้เสกด้วย “นะโม พุทธายะ” 3 จบเสมอทุกครั้ง
4.ว่านไก่แดง
“ว่านไก่แดง“ ต้นแดง ใบคล้ายกระชาย มีร่องตามใบเห็นได้ชัดและใบใหญ่กว่า โคนต้นมีสีแดง หัวดังหัวกระชาย ปลายมีตุ่มเก็บน้ำเลี้ยง หัวแต่ละหัวไม่ติดกันเป็นพืด ดอกออกแตกกวยกระบอกขึ้นมาจากโคนต้น แบบว่านกระชายดํา มีก้านช่อขึ้นมาแบบดอกกล้วยไม้ มีช่อดอกเป็นดอกช่อเดียว สีกลีบดอกเหลือง เกษรในดอกมีสีแดงคาด เว้าคล้ายปากหุบ ดอกแบบเดียวกับว่านไก่ขันอย่างไงอย่างงั้น
“ว่านไก่แดง” จัดเป็นไม้ประดับสวยงามได้ เพราะก้านใบดอกมีสีสวยแปลกตา เป็นต้นไม้มงคลเมตตามหานิยม ผู้คนพบเห็นจะไปมาหาสู่มิได้ขาด เหมาะที่จะปลูกไว้ตามหน้าบริษัท ร้านค้าขาย ทุกชนิด จะเห็นฤทธิ์เอง
การปลูก “ว่านไก่แดง” ใช้หัวปลูกในดินปนทรายหรือผงถ่านปนก็ดี จัดที่ระบายน้ำให้สะดวก กระถาง ทรงสูง ก่อนรดน้ำเสกด้วยคาถา “กุกุสันโท มหาลาโภ โหตุ ภวันตุเม” 1 จบเสมอ ว่านจะเจริญงอกงามดี ส่งผลให้เจ้าของว่านมีเมตตามหานิยม
5.ว่านกระแตไต่ไม้
“ว่านกระแตไต่ไม้” หัวดูคล้ายกระแต มีขนสั้นเป็นสีน้ำตาลแก่ห่อหุ้มอยู่ ดูคล้าย ๆ กับเอาผ้ากํามะหยี่ ไปห่อหุ้มไว้ งามแปลกตา มีใบสีเขียวแข็งใหญ่เลี้ยงห่อหุ้มไว้หนึ่งใบ และจะมีใบเล็กแข็งติดก้านพุ่งออกจากหัวของมันเป็นแฉก ๆ แล้วจะเจริญงอกงามอยู่ในใบเลี้ยงของมัน
“ว่านกระแตไต่ไม้“ เป็นไม้ที่ชอบขึ้นเกาะอาศัยตามต้นไม้ใหญ่ ๆ แบบกล้วยไม้ป่า หรือ เช่นเดียวกับกระเช้าผีมด (หัวร้อยรู) มีขึ้นอยู่ทั่วไปตามป่าเขาที่มีต้นไม้ใหญ่ทุกภาค ทางยาแพทย์ตามชนบท ใช้หัวของมันปรุงเป็นยาต้มรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว, แก้ปัสสาวะพิการ และกะปริบกะปรอย, ขับระดูขาว, แก้เบาหวาน, แก้ไตพิการ, ส่วนใบ ใช้ตําพอกแผล แก้แผลเนื้อร้าย และแผลพุพอง แม้แต่ขนก็ ใช้ได้ โดยขูดเอามาม้วนสูบ แก้ริดสีดวงจมูกได้ด้วย
การปลูก “ว่านกระแตไต่ไม้” โดยธรรมชาติแล้วขึ้นเอง แต่จะเอามาปลูกต้องแกะมาทั้งติดใบติดเปลือกไม้เก่าที่เกาะไว้ เอามาทาบกับต้นไม้ใหญ่หรือกิ่งให้พอดี แล้วผูกมัดให้แน่น ๆ รดน้ำแต่น้อยพอเปียกทั่วทั้งกิ่ง หรือต้นตรงที่มัดไว้ ไม่ช้าก็จะแตกรากยึดต้นที่อาศัย ใหม่ไว้ แต่ก็อยู่ที่ธรรมชาติรอบ ๆ บริเวณที่จะปลูกด้วย (เวลานี้ได้กลาย เป็นว่านกระแตไต่ไม้ไปแล้ว)
Source : “ตำราว่าน108 และสมุนไพร” เขียนโดย อ.แสวง เพชรศิริ รวบรวมพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2523